xs
xsm
sm
md
lg

“เรื่องจริง” หรือ “จัดฉาก” ในวงการหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนตรี ศรไพศาล
ผมติดตามเรื่อง “การวางระเบิดลอบสังหารผู้นำ” ด้วยความแปลกใจและกังวลใจ แปลกใจที่เป็นกรณีลอบสังหารที่มีคนสงสัยมากกันว่า เป็น “เรื่องจริง” หรือ การ “จัดฉาก” กันแน่ กังวลใจที่ว่า ไม่ว่าเป็นเรื่องจริง หรือจัดฉาก ก็เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งว่า ขั้นต่อไปของการแก้ไขปัญหาของเรื่องผู้นำประเทศ จะต้องถึงความรุนแรงขึ้นนั้นจริง ๆ หรือ ?

ขณะที่ ผู้เชื่อมั่นว่าเป็นเรื่องจริง มีหลักฐานเรื่องรถยนต์ขนระเบิด จับผู้ต้องหาได้ รถขับออกจาก กอ. รมน. จึงสรุปเรื่องได้เร็ว และสามารถสั่งปลดนายทหารชั้นผู้ใหญ่ สังกัดพรรคไทยรักไทยท่านหนึ่ง ไปได้ในวันเดียวกัน

แต่ผู้ที่ตั้งข้อสังเกตก็แปลกใจ เพราะเห็นขนาดกลุ่มที่ถูกกล่าวว่าเป็น “โจรกระจอก” วางระเบิดสถานที่ราชการใน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็ไม่เคยจับได้ กลุ่มคนที่จะทำงานใหญ่ ยาก และท้าทาย จะทำงานที่หละหลวมเช่นนี้จริง ๆ หรือ ? ทำไมเป็นจังหวะที่ทำให้ข่าว กลบกระแสเรื่องคนเสื้อน้ำตาลที่ชกประชาชน แล้วรีบใส่แว่นดำได้พอดี และต่อกับกระแสยกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่เป็นรากหญ้า ไปยื่นจดหมายที่บ้านป๋าเปรมว่า “ขอชีวิตนายกฯคนจน” พอดี เป็นความคิดชาวบ้านที่สรุปได้เองเช่นนั้นจริง ๆ หรือ ? หากจะขอกำลังคุ้มครอง ขอให้สำนักงานตำรวจทำหน้าที่ให้รัดกุมไม่ดีหรือ ? ทำไมชาวบ้านจึงนึกถึงป๋าเปรม ? หรือทำไมต้องประโคมข่าวให้ไปเชื่อมโยงกับป๋าเปรม ?

เรื่องพวกนี้ เราชาวนักธุรกิจคงไม่สามารถเข้าใจทะลุปรุโปร่งได้ กลับมาฉุกคิดถึงเรื่องราวในวงการหลักทรัพย์ได้ว่า “ซุกหุ้น” ภาค 1 คนรถ คนใช้ ยาม ภาค 2 แอมเพิลริช และ ภาค 3 วินมาร์ค เป็น “เรื่องจริง” หรือ “จัดฉาก” กันแน่ ?

ซุกหุ้นภาค 1 : คนรถ คนไช้ ยาม

ในภาคแรก มีหุ้นไปเก็บไว้ที่ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี, น.ส.บุญชู เหรียญประดับ, นายชัยรัตน์ เชียงพฤกษ์, นายวิชัย ช่างเหล็ก เป็นต้น จนมีมูลค่ารวมตามข่าวประชาชาติ วันที่ 25 ก.ย. 2543 เป็นมูลค่าถึงประมาณ 1.13 หมื่นล้านบาท ทำให้น่าสงสัยว่าในช่วงที่แสดงบรรดาคนรถ คนใช้ และยามเป็นผู้ถือหุ้น มูลค่านับหมื่นล้านบาท แทนตัวเองถือเป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่?

ตามข่าวประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 2543 เมื่อนักข่าวไปตรวจสอบ พบว่า ที่อยู่เป็นของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ แต่เมื่อนักข่าวถามหาว่า น.ส. บุญชู เหรียญประดับ อยู่บ้านนี้ด้วยหรือไม่ เด็กรับใช้บอกว่าไม่อยู่ แต่อยู่บ้านใหญ่ ซึ่งเปิดเผยว่า หมายถึงบ้าน พ.ต.ท.ทักษิณ การที่คนใช้อยู่บ้านใหญ่ แต่ใช้ที่อยู่ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นับเป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่?

กรณี สนามกอล์ฟ อัลไฟน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดแถลงข่าวใหญ่ วันที่ 8 ธันวาคม 2543 ว่า “แม้ผมเองจะเคยให้สัมภาษณ์ข่าว ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ไปในทำนองว่า ผมเป็นผู้ซื้อกิจกาจของสนามกอล์ฟอัลไฟน์ฯ ... เพราะในขั้นตอนการเจรจาเป็นการซื้อขายในนาม บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ลงทุนโดยกลุ่มครอบครัวชินวัตร และดามาพงศ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาผม ได้เปลี่ยนเป็นการซื้อโดยบุคคลธรรมดา เพราะผู้บริหารแนะนำว่า บริษัทเจ้าของเดิมของสนามกอล์ฟอัลไฟน์ฯ เป็นหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกทางการปิดกิจการหลายแห่ง และอยู่ภายใต้การกำกับของ ป.ร.ส. ซึ่งจะต้องมีการขายทอดตลาดสินทรัพย์ และประนอมหนี้ จึงอาจกระทบชื่อเสียงของบริษัท หรือบุคคลที่จะซื้อหุ้นในบริษัทเจ้าของสนามกอล์ฟเดิม ภรรยาผมจึงให้บุคคล 3 คนถือหุ้นแทน”

การทำให้สถาบันการเงินไม่ทราบว่า เจ้าของจริง คือ กลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว เพื่อประนอมหนี้ โดยไม่ให้เสียชื่อเรื่องของตัว เป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่? การปลอมตัวเป็นคนจน เพื่อให้ได้การประนอมหนี้ที่ทำให้ ป.ร.ส. ต้องยอมให้ส่วนลด (Hair-Cut) ทำให้ ป.ร.ส. และประเทศชาติต้องเสียหาย แต่ยังบอกได้ว่า “การตั้งพรรคไทยรักไทยในครั้งนี้ ก็เพื่อจะเข้ามาใช้ความรู้ และประสบการณ์ทั้งชีวิต มาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ประเทศต้องการการแก้ไขที่ถูกวิธี” เป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่? เพราะในการแถลงข่าวฉบับเดียวกัน เพิ่งระบุว่าต้องซุกหุ้นในชื่อคนใกล้ชิด เนื่องจากจะได้ประนอมหนี้ เพราะผมเชื่อว่า ถ้าท่านเปิดเผย “ความจริง” คงต้องชำระหนี้เต็ม ป.ร.ส. และประเทศก็ไม่ต้องเสียหาย และจะไม่กระทบชื่อเสียงต่อกลุ่มตนแต่อย่างใด!

ซุกหุ้นภาค 2 : แอมเพิลริช ปัญหาที่ยังตอบไม่กระจ่าง

กรณี แอมเพิลริช แม้มีการชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่บ้างแล้ว ต่อมามีข่าวเรื่องหนังสือหารือสรรพากรวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 และหนังสือตอบจากสรรพากร วันที่ 21 กันยายน 2548 ก็มีการระบุเพียงว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร เป็นกรรมการบริษัท แต่มิได้ระบุว่า เป็นเจ้าของใน บริษัทฯ (ARI) จริง ดังที่ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้อ้างว่าโอนให้ลูกตั้งแต่ปี 2543 แล้ว เป็นการยืนยันการปกปิดหุ้นนี้ครั้งที่ 4 จากการที่ (1) ลูกๆรายงานในปี 2545 ทั้งคู่เหมือนไม่รู้ตัวว่ามีแอมเพิลริชอยู่ จนถึง (2) จดหมายหารือสรรพากร ปี 2548 ก็ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ ทั้งที่อาจเป็นการจงใจปิดบังข้อมูลเพื่ออำพรางในการ “เลี่ยงภาษี” (3) ในหนังสือตอบสรรพากรซึ่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ผู้ตอบหนังสือหารือดังกล่าว ได้ชี้แจงว่า มีการรวบรวมข้อมูลย้อนหลังจำนวนมาก และมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วย เพื่อให้การวินิจฉัยครอบคลุม และชัดเจนตรงประเด็นมากที่สุด ตอบอย่างรอบคอบรัดกุมที่สุด ก็มิได้พูดถึงการที่ลูกๆ เป็นเจ้าของแอมเพิลริช คือเป็นการโอนหุ้นให้กลุ่มเจ้าของเองแต่อย่างใด เป็นความผิดซ้ำซาก จนถึง (4) รายงานวันที่ 20 มกราคม 2549 ก่อนการชี้แจงและแก้ไขในวันที่ 30 มกราคม 2549 ซึ่งดูเหมือนลูกต้องรับผิดแทนพ่อ ถึง 3-4 ครั้งว่าลืมไป นับเป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่ เพราะแปลกมาก เนื่องจากเป็นมูลค่าหุ้นกว่าหมื่นล้านบาท และหากมีการโอนความเป็นเจ้าของอย่างอิสระจริง เป็นไปได้หรือที่จะลืม และลืมทั้งนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา แต่ที่ลูกต้องรับผิดแทน เพราะหากพ่อผิด อาจหมดสภาพนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?

ยังน่าติดตาม กรณีธนาคารยูบีเอส ที่รายงานตามแนบ 246-2 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า ซื้อหุ้น 10 ล้านหุ้นมาในบัญชีของแอมเพิลริช รวมกับหุ้นอีกจำนวน 5,405,913 หุ้น ด้วยการซื้อที่ราคา 179 บาท กลับมีการชี้แจงว่า “รายงานผิด ทั้งนี้ รายการดังกล่าวไม่ใช่ การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อย่างใด” เป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่? ทำไมธนาคารส่วนบุคคลระดับโลก มีระบบปฏิบัติงานอย่างดี จึงเข้าใจผิดได้ขนาดนี้ ? หุ้นอีก 5.4 ล้านหุ้นเป็นของใคร? ทำไมจึงเผลอรายงานรวมกัน? ถ้าไม่ได้ซื้อ ทำไมจึงมีการรายงานราคาที่ซื้อ 179 บาท? ธนาคารมีคู่มือปฏิบัติงานอย่างไร?

ซุกหุ้นภาค 3: วินมาร์ค คำถามที่ยังไม่เคยตอบ เพราะตอบเฉพาะที่ไม่ได้ถาม

กรณีโอนหุ้น บริษัท 5 บริษัทไปให้วินมาร์ค บริษัทบนเกาะฟอกเงิน ซึ่งหนึ่งในนั้น ปัจจุบันเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่ม ครอบครัวชินวัตร ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้บริหารเพียงแต่อธิบายข้อมูลพื้นฐานด้านกายภาพ ว่าตั้งที่ไหน ? ใครเป็นผู้ประสานงาน ? ชำระเงินครบแล้ว ซึ่งไม่ได้ถาม แต่ที่ถามยังไม่ได้ตอบ นับเป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่

เพราะยังไม่ได้ตอบว่า “เหตุใดวินมาร์ค และกองทุนมาเลเซีย จึงได้มีพฤติกรรมในการลงทุนราวกับเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ?” และ “เหตุใดรักษาการนายกฯจึงมีพฤติกรรมปกปิดอำพรางกองทุนเหล่านี้ตลอดมา ?” แต่อย่างใด
คำถามที่รอคำตอบของ “วินมาร์ค” ซึ่งทักษิณหนีตอบ จนผิดสังเกต

มีคำถามกรณีวินมาร์คมากมายที่ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ไม่เคยตอบให้ตรงคำถาม เช่น (1) ในช่วง กันยายน 2543 มีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โอนหุ้นไปบริษัทเกาะฟอกเงินมูลค่า 900 ล้านบาท แต่ท่านบอกว่า “ผมไม่ได้รู้จักบริษัทนี้ มีหน้าที่ขายแล้วรับเงินมาและขอบคุณเท่านั้นจบ ไม่ได้เป็นคนไปติดต่อ” แต่วินมาร์คกลับมีพฤติกรรมลงทุนราวกับเป็นกลุ่มเดียวกัน มีที่อยู่เดียวกับ บริษัท แอมเพิ้ลริช ของนายกฯ จัดตั้งด้วย บริษัททรัสต์เดียวกัน ใช้ที่อยู่เดียวกันคือที่ P.O. Box 3151 Road Town Tortola British Virgin Island (2) ทำไม พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ยอมรับในปี 2543 ว่ามีการโอนหุ้นในมูลค่าอย่างมาก 800-900 ล้านบาท ของ 3 บริษัทตามที่สื่อมวลชนเสนอ แต่กลับพบหลักฐานว่า มีการโอนอย่างน้อย 5 บริษัท มูลค่า 1,500 ล้านบาท ? หากเป็นนักลงทุนอิสระจริง ทำไม พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร จึงต้องปิดบังด้วย ? (3) ในช่วงปี 2543 เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทที่รับซื้อมีกิจการไม่ค่อยดี แต่ทำไม วินมาร์คจึงสนใจซื้อหุ้นในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า “เป็นเพราะบริษัทจะเข้าตลาดในโอกาสต่อไป” แต่วินมาร์ค ถือหุ้น 5 บริษัท มีเพียง บมจ. อซ. (นามสมมุติ) ที่ดีที่สุดที่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ วินมาร์คกลับขายออกไปเพียง 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟล์ลิ่งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ? แต่ วินมาร์คกลับถือหุ้นที่เหลืออีก 4 บริษัทต่อไปอีกกว่าปี โดยแต่ละบริษัทไม่สามารถลงทุนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แข่งกับบริษัทที่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับ อซ. จึงไม่มีบริษัทใดเข้าตลาดฯได้อีกเลย ! (4) ทำไมวินมาร์คจึงโอนหุ้นด้วยพฤติกรรมอำพรางขนาดนั้น ? โดยโอนให้กองทุน แวลูอ์ แอสเสทส์ ฟันด์ แอลทีดี (VAF) มาเลเซีย ในวันที่ 11 สิงหาคม 2546 และเพียง 3 สัปดาห์ ก็เปลี่ยนเป็นกองทุนโอเวอร์ซีส์ โกล์ฟ ฟันด์ อินซ์ (OGF) และ ออฟชอร์ว ไดนามิค ฟันด์ อินซ์ (ODF) ความไม่ปกติก็คือ กองทุนทั้ง 3 ที่เข้ามาถือในเดือนสิงหาคม 2546 มีที่อยู่เดียวกัน คือ L1, Lot7, Blk F, Saguking Commercial Bldg. Lalan Patau-Patau, 87000 Labuan Ft, Malysia แต่ทำไมจึงกลับเปิดเผยในลักษณะที่กองทุน OGF และ ODF เป็นกองทุนอิสระต่อกัน ? (5) ในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟล์ลิ่งนั้น มีการเพิ่มทุนที่ราคาพาร์จำนวน 71ล้านหุ้น แต่ทำไมวินมาร์ค และกองทุนทั้ง 3 จึงยอมเสียเปรียบ ? โดยสละสิทธิให้แก่ น.ส. พิณทองทา และ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หากคำนวณจากราคาเข้าตลาด 15 บาทต่อหุ้น เท่ากับว่า ทำให้ลูกสาวนายกฯทั้งสองได้ประโยชน์รวมถึง 355 ล้านบาท !

ผมทำงานวงการหลักทรัพย์และการลงทุนมาประมาณ 18 ปี ไม่เคยเห็นกองทุนอิสระใดที่จะยอมเสียเปรียบขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่อยู่ภายใต้การควบคุมของครอบครัว” จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่? จึงยังอยากให้โอกาสท่านชี้แจงเพิ่ม หากแน่จริงให้เปิดเผยว่า วินมาร์ค และกองทุนมาเลเซียเป็นเงินของใคร ? เคยลงทุนในกิจการที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มอื่นหรือไม่ ? ถ้ามี อะไรบ้าง ? เงื่อนไขอย่างไร ? การโอนหุ้นระหว่างวินมาร์ค และกองทุนทั้ง 3 มีหลักฐานการโอนชำระเงินอย่างไร ? ที่ราคาเท่าไร ? วินมาร์คโอนหุ้นให้ น.ส. พิณทองทา ชินวัตร มีหลักฐานการชำระเงินหรือไม่ ? ที่ราคาเท่าไร ? หากไม่ตอบ ก็น่าจะพิสูจน์ว่าวินมาร์คและกองทุนเหล่านี้ “ไม่อิสระ” มีลักษณะเก็บซ่อนทรัพย์สินของครอบครัว

การ “จัดฉาก” เพื่อปกปิด บิดเบือนข้อมูล การปิดกั้นสื่อ ทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่ทัดเทียมกัน ไม่โปร่งใส อาจนำไปสู่ความแตกแยก และอาจเกิดความสูญเสียที่ไม่ใครอยากให้เกิดได้

ความกลัว ความกังวล ความเครียด ความแตกแยก ความไม่มั่นใจในความถูกต้องชอบธรรม และความไม่มั่นใจในความเป็นธรรมของบ้านเมือง กำลังเป็นต้นทุนของสังคมที่ทำให้ผู้คนไม่สบายใจ

ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยืนหยัดบน “ความจริง” และ “ความรักกันและกัน” มากกว่าการ “จัดฉาก” จะนำบ้านเมืองไปสู่ความโปร่งใส ความชอบธรรม ความน่าเชื่อถือ และสันติสุขที่ยังยืนต่อไปครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com)
ฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น