xs
xsm
sm
md
lg

“พลังความสมานฉันท์” ควบคู่ “พลังความชอบธรรม” สร้างได้ด้วยการ “ตอบ” ข้อสงสัยผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนตรี ศรไพศาล
ผมเห็นกรณีคนไทยทำร้ายคนไทยด้วยกันที่สยามพารากอนเมื่อวันก่อน เริ่มสะท้อนรอยแตกแยกของสังคมไทยที่น่าเป็นห่วง ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความรัก ความสามัคคี และความสมานฉันท์ ในครอบครัว ในองค์กร และในประเทศชาติ

ผมมักสนับสนุนให้ทุกคน มองกันในแง่ดี เชื่อในส่วนดีของกันเสมอ ไม่ช่างจดจำความผิดของกัน เพื่อให้ครอบครัวและคนในองค์กร มองกันในแง่ดี รักกัน จนเกิดเป็นพลังแห่งความสามัคคีสมานฉันท์ ผมก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ในแผ่นดินของเรา

เราอาจเริ่มถูกทำให้เกิดความรู้สึกว่า “เลิกทะเลาะกันเสียที” “ได้เวลาแต่ละคนหันหน้าเข้าหากัน จะได้มุ่งทำงานกันเต็มที่” จนบางครั้งทำให้รู้สึกว่า ถ้าอยากทวงถาม “ความชอบธรรม” แล้ว “ความสมานฉันท์” ก็คงไม่เกิด น่าจะละเว้นการทวงถามเรื่อง “ความชอบธรรม” จะได้เกิด “ความสมานฉันท์” ขึ้นได้

ผมกลับเชื่อว่า “ความชอบธรรม” ในสังคมเท่านั้น ที่จะนำไปสู่ “ความสมานฉันท์” ที่ถาวรยั่งยืนได้

ผมมักแนะนำให้ครอบครัวที่แตกแยกกัน ให้มองกันในแง่ดี พูดคุยปรับความเข้าใจกัน เพื่อแก้ปัญหาที่มีต่อกันซึ่งมักจะเกิดจากความเข้าใจผิด เมื่อพูดคุยกันจนเข้าใจ ก็คืนดีกันได้ แต่ ...

หากภรรยาสงสัยสามี ว่าไม่รักไม่จริงใจ ดูมีใจให้บ้านอื่น เมื่อลูกไม่เข้าใจกันกลับยุให้แตกแยกกัน และทะเลาะกัน แทนที่จะให้คุยกันให้เข้าใจ เมื่อถาม กลับหาว่า “ฉันไม่ตอบ กติกาคือฉันยังเป็นสามี” ก็ยากจะคืนดีได้

ระดับชาติ หากผู้บริหารมีพฤติกรรมที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย สงสัยว่า รักชาติไทย หรือรักตัวเอง หรือคบค้าประเทศอื่นเพื่อหาประโยชน์ส่วนตน ปกครองโดยการแบ่งแยกประชาชน ไม่สนใจให้เข้าใจกัน เน้นการปิดบังข้อมูล บิดเบือนสื่อมวลชน ทำให้คนไทยไม่เข้าใจกัน และทะเลาะกัน เมื่อประชาชนถามข้อสงสัย ผู้นำก็ไม่ตอบ ยืนยันว่า โดยกติกาเขายังเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำ ประชาชนก็ทำใจลำบาก

หากภรรยาสงสัยสามี ปอกลอกเอาสมบัติในครอบครัวซึ่งสำคัญต่ออนาคตลูกหลานไปขาย และสร้างภาระหนี้ซ่อนเร้นไว้ให้ลูกหลาน เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่สามีไม่ยอมตอบ กลับหาว่า “หวังประโยชน์ ขอส่วนบุญ” ให้ลูกน้องส่งสัญญาณว่า “ใครมาเป็นสามีก็ทำอย่างนี้ ก็ปล่อยให้ปอกลอกต่อไปเถอะ” ก็ยากจะยอมรับ

ระดับชาติ หากประชาชนจำนวนไม่น้อย มีคำถามต่อความซื่อสัตย์สุจริตของผู้นำ สงสัยว่าปอกลอกเอาสมบัติชาติไปขาย ทำให้ลูกหลานขาดรายได้ สะสมหนี้ซ่อนเร้นไว้สำหรับอนาคตมากมาย แล้วผู้นำไม่ตอบ กล่าวหาว่า “เป็นพวกเปรต โกหก ใส่ร้าย” ไม่ยอมให้มีการถกกันต่อหน้าสาธารณะ ให้ประชาชนเห็นกระจ่าง ก็ยากที่จะยอมรับได้

ผมเห็นว่าในต่างประเทศที่เขาเคารพระบอบประชาธิปไตย เขาก็จะให้ความสำคัญกับการตอบคำถามต่อรัฐสภา เพื่อตอบให้กับผู้แทนราษฎรได้เข้าใจ และถือโอกาสถ่ายทอดให้ประชาชนเข้าใจด้วย อย่างกรณีทหารสหรัฐอเมริกันบางนายปฏิบัติไม่ดีต่อนักโทษชาวอิรัค หรือกรณีที่อังกฤษร่วมมือสนับสนุนการปฏิบัติการในอิรัค ก็มีการตอบคำถามในสภาและถ่ายทอดแก่ประชาชนอย่างโปร่งใส แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเสียคะแนนนิยม แต่ก็เห็นเขาทำกัน เพราะเขารัก ศรัทธา และต้องการปกป้องเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย

เขา “เห็นแก่ระบอบประชาธิปไตย” มากกว่า “เห็นแก่ตัว” ครับ !!

ในบ้านเรา เสียดายที่ท่านนายกฯ ได้ทำลายสิทธิของท่านในการชี้แจงต่อสภาอย่างโปร่งใส ด้วยการยุบสภาหนีการตั้งกระทู้ถาม และการอภิปรายทั่วไป ท่านไม่เคยยอมชี้แจงพร้อมกับ “คนรู้ทัน” ผ่านสื่อมวลชน ท่านพูดได้ในเงื่อนไขเดียว คือ “พูดคนเดียว” อย่าให้คนอื่นทักท้วงอย่างรู้ทันได้ ก็ยากที่จะเกิดความชัดเจนพอที่จะยอมรับกันได้โดยทั่วไป

ผมเห็นใจท่านนายกฯเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นตำแหน่งที่ควรได้รับเกียรติอย่างสูง แต่ผมขอน้อมเรียนแนะนำท่านผู้นำให้ตอบคำถามตรงไปตรงมา แม้จะมีความเสี่ยงที่จะเสียคะแนนไปบ้าง ขอให้ท่านยอมเพื่อ “เห็นแก่ส่วนรวม” มากกว่า “เห็นแก่ส่วนตัว” สิ่งใดที่ผิด ถูกจับได้ว่าโกงชาติมา ก็คืนไป ถ้าตอบได้หมดจด ท่านก็จะมีอำนาจพร้อมบารมีต่อไปอย่างสง่างาม

ผมเชื่อว่า “พลังความสมานฉันท์” และ “พลังความชอบธรรม” เป็นสิ่งควบคู่กันที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวไกลไปได้อย่างยั่งยืนครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com) ฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น