ศูนย์รับฝากสรุปผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ชี้มีผู้ถือหุ้นใช้บริการ e-Dividend รับเงินปันผลผ่านบัญชีธนาคาร 53% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดและเป็นนายทะเบียนให้ตราสารหนี้ภาครัฐมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท 53 นำ web based application มาให้บริการด้าน e-IPO แก่บริษัทหลักทรัพย์และประชาชนทั่วไป เพื่อความสะดวกในการจองซื้อหุ้นไอพีโอผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมเปิดให้บริการธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSDเปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2549 ว่า ศูนย์รับฝากฯ ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง เปิดให้บริการโอนเงินปันผลเข้าบัญชีธนาคาร หรือ e-Dividend โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 มีหลักทรัพย์เข้าร่วมโครงการจำนวน 429 บริษัท หรือคิดเป็น 85% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ในขณะที่จำนวนผู้ถือหุ้นรับเงินปันผลผ่านบัญชีธนาคารมากกว่า 6 แสนรายหรือคิดเป็น 53% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
“จากความสำเร็จของการรณรงค์ให้ผู้ลงทุนสมัครใช้บริการ e-Dividend อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันปริมาณเช็คเงินปันผลที่ส่งคืนกลับมาที่ศูนย์รับฝากฯ ลดน้อยลงกว่าร้อยละ 30” นางสาวโสภาวดีกล่าว
ด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพในการขยายฐานผู้ลงทุนรายบุคคล ศูนย์รับฝากฯ ได้พัฒนาระบบอิเลคทรอนิกส์ เพื่อการจองซื้อและจัดสรรหลักทรัพย์ (e-IPO) โดยใช้ web based application เพื่อให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์ และประชาชนทั่วไปที่ต้องการจองซื้อหุ้นของบริษัทที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ให้สามารถจองและติดตามผลการจองซื้อหลักทรัพย์ได้ ทันทีทางอินเทอร์เน็ตได้รับความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น
ส่วนการขยายธุรกิจใหม่ โดยให้บริการธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL- Securities Borrowing and Lending) ซึ่งเป็นบริการที่ศูนย์รับฝากเริ่มเป็นปีแรก ในระยะเริ่มต้นจะให้บริการเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐ โดยศูนย์รับฝากฯ จะทำหน้าที่ในการจับคู่สัญญาและส่งคำยืนยัน บริหารหลักประกัน ส่งมอบตราสารและหลักประกัน และติดตามดูแลการส่งมอบสิทธิประโยชน์ ที่เกิดจากตราสารและหลักประกัน (Corporate Actions) รวมทั้งออกรายงานสถานะตลอดอายุสัญญาด้วย
ภายในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2549 ศูนย์รับฝากฯ เป็นนายทะเบียนให้ตราสารหนี้ภาครัฐที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.รวมมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 71% ของมูลค่าตราสารหนี้ภาครัฐทั้งหมดที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์บริหารหลักประกัน (Collateral Management) และจัดตั้งหน่วยงานให้กู้ยืมพันธบัตร (Bond Lending) โดยเริ่มให้บริการในเดือนสิงหาคม นี้
"การเข้าไปดำเนินการในลักษณะนี้จะช่วยลดต้นทุนแก่อุตสาหกรรมโดยรวม อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก และนักลงทุน ทำให้มีเครื่องมือในการบริหารการลงทุนที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการทำธุรกรรมในตลาดทุนไทยให้มีสภาพคล่องและเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต"นางสาวโสภาวดีกล่าว
ด้านงานรับฝากหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากฯ ได้ขยายช่องทางการรับฝากหลักทรัพย์แก่ผู้ถือหุ้นในระบบไร้ใบหุ้น(Scripless) ผู้ถือหุ้นสามารถฝากหลักทรัพย์ไว้ในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ได้ นอกเหนือจากการฝากหลักทรัพย์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ โดยศูนย์รับฝากฯ จะจัดส่งรายงานยอดคงเหลือให้กับผู้ถือหุ้นเป็นประจำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาใบหุ้นสูญหาย ชำรุด และใบหุ้นปลอมอีกด้วย
ด้านการเพิ่มช่องทางให้กับผู้ลงทุน ศูนย์รับฝากฯ ได้เพิ่มช่องทางเพื่อให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์ และผู้ถือหุ้นด้วยการจัดตั้ง TSD Counter Service ที่บริเวณชั้น 1 อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเปิดให้บริการระหว่างวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00 -.19.00 น. วันเสาร์ เวลา 9.00-17.00 น. ส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับบริการที่สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 1,300 ราย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2548 ร้อยละ 18