xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของชาติ 4 : ด้วยเศรษฐกิจและการเมืองที่มั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนตรี ศรไพศาล
สืบเนื่องจากบทความครั้งที่แล้ว ซึ่งผมได้เรียนน้อมเตือนท่านผู้นำว่า ในบรรยากาศที่นักธุรกิจได้พูดคุยกัน ความนิยมในตัวท่านได้เปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ แม้กับหลายคนที่เคยเชื่อว่าท่านเป็นนายกฯ ที่เก่งกว่าคนอื่น แต่ “ต้นทุน” ของสังคมที่ต้องได้ท่านมาเป็นนายกฯนั้น “สูงเกินไป” แล้ว

เพราะ ในขณะที่ “คนมีบารมี” มักจะสอนเน้นให้ทุกฝ่ายรักษาจริยธรรม ทำงานเพื่อแผ่นดิน ทำสิ่งที่ถูกเพื่อความถูกต้องมากกว่าทำสิ่งที่ผิดเพื่อตอบสนองอำนาจ ท่านกลับกล่าวหาว่า “คนมีบารมีวุ่นวายกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญเกินไป” จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า การได้ท่านเป็นนายกฯนั้น เกิดต้นทุนสังคมหลายด้าน ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว คือ (1) ประเทศต้องยอมลดมาตรฐานจริยธรรมลง (2) ประชาชนรู้สึกถูกกดดันภายใต้อำนาจรัฐยิ่งกว่ารัฐบาลเผด็จการในอดีต และ (3) สังคมแตกแยก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ขอต่อดังนี้

(4) รัฐบาลได้สร้างภาระมากเป็นแสนๆล้านบาท สำหรับรัฐบาลในอนาคต สวนทางนโยบาย “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยถึงแม้จะดูว่า รัฐบาลได้ใช้เงินเพื่อโครงการต่างๆที่ดูเหมือนมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ แต่ในความจริงนั้น ได้ใช้เงินของคนรุ่นหลังหรือไม่ และนำให้ประชาชนนิยมโดยได้เคยคิดบ้างไหมว่า เราเอาเงินของคนรุ่นหลังมาใช้เพียงเพื่อประโยชน์ของคนยุคนี้หรือไม่ อาทิเช่น

การขายหุ้นรัฐวิสาหกิจของรัฐที่ผ่านๆมา ทั้งต่อสาธารณชน และที่ขายให้กองทุนวายุภักย์ (ซึ่งในอนาคต ก็เป็นภาระต้องเตรียมเงินซื้อกลับ มิเช่นนั้น ก็จะเหมือนขายขาดไป) เช่น หุ้น ปตท. การบินไทย การท่าอากาศยาน อสมท. ธ.กรุงไทย นับเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งในกรณีการขายหุ้น ปตท. 800 ล้านหุ้น หุ้นละ 35 บาท ได้เงิน “ครั้งเดียว” 2.8 หมื่นล้านบาท แต่ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ปตท.ทำกำไรได้ ประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท หุ้นที่ขายไปนั้น ทำให้ส่วนแบ่งกำไร (ที่คนรุ่นหลังควรได้ “ทุกๆปีตลอดไป”) หายไปถึง 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี !! เป็นบทเรียนอย่างสุดขั้วที่คนรุ่นนี้ควรตระหนักจริงๆ

การออกตราสารหนี้กองทุนน้ำมัน ด้วยความพยายามอย่างยิ่งที่จะให้รัฐคุ้มครองนักลงทุนโดยเลี่ยงไม่ให้นับเป็นหนี้รัฐ รวมกับ หนี้กองทุนศูนย์ข้าราชการซึ่งเป็นภาระจ่ายค่าเช่าของรัฐโดยเลี่ยงการนับเป็นหนี้รัฐในอนาคตอีกเป็นมูลค่ารวมนับแสนล้านบาทเช่นกัน

การสะสมตั๋วเงินคลัง ซึ่งปกติจะเป็นเพียงเครื่องมือบริหารเงินสดระหว่างปี กรณีรายได้กับรายจ่ายไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา มิใช่ใช้ระดมเงินกู้ของรัฐ แต่รัฐบาลนี้ได้สะสมหนี้ยอดนี้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 5 หมื่นล้านบาทตอนเข้าบริหารรัฐบาลปี 43 ได้เพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ตามที่ผมได้เสนอข้อมูลในคอลัมน์นี้ในวันที่ 29 พ.ค. 49 (ดู www.manager.co.th คลิก “หุ้น” ในคอลัมน์ซ้าย แล้วคลิก “รอบรู้เรื่องตลาดทุน” ย้อนหลังได้) โดยแทบไม่ได้ลดยอดลงเลย ซึ่งก็เป็นการสร้างภาระในการจัดงบประมาณสำหรับรัฐบาลต่อๆไปอีกถึงประมาณ 2 แสนล้านบาท

เฉพาะ 3 รายการนี้ ได้ “ขายสมบัติชาติ” สำหรับคนรุ่นหลัง รวมกับ”สร้างภาระ” ให้แก่คนรุ่นหลังรวมกว่า 4 แสนล้านบาท และใช้ไปกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นนโยบายประชานิยมซึ่งใช้จ่ายหมดไป นี่คือการสวนกับนโยบาย “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือไม่ ? ผมเองก็เชื่อว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่หมายถึง ทุกคนไม่ใช้จ่าย แต่ให้ใช้จ่ายพอประมาณกับฐานะ ไม่ใช่ใช้จ่ายเกินตัวโดยขาดความรับผิดชอบเช่นนี้

(5) การตกต่ำของมาตรฐานประชาธิปไตยในยุคนี้ ด้วยปัญหาของการตีความกติกาอย่างศรีธนญชัย เช่น การห้ามรัฐมนตรียุ่งกับธุรกิจ มีการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัวหรือไม่ ? ให้รัฐมนตรีเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพื่อไม่ให้ซุกซ่อนความผิด มีการซ่อนสมบัติผ่านวินมาร์คซึ่งเป็นการฟอกเงินหรือไม่ ? กำหนดให้เลือกตั้งต้องแข่งกันอย่างเป็นธรรม มีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ? ประชาธิปไตยเคารพความเห็นแตกต่าง มีการคุมสื่อ กล่าวหาผู้เห็นตรงข้ามอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ? ฯลฯ ซึ่งท่านมาจากการเลือกตั้ง ไม่ควรทำให้มาตรฐานประชาธิปไตยตกต่ำจนเกิดความเสี่ยงถึงความมั่นคงของประชาธิปไตยขนาดนี้ ช่วยกันภาวนาให้ผู้นำกลับใจ ให้บ้านเมืองมีความน่าเชื่อถือดีขึ้น เศรษฐกิจก็จะกลับมาดีได้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น