xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของชาติ 2 : เมื่อถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความน่าเชื่อถือของประเทศ ย่อมขึ้นกับวิถีทางการดำเนินชีวิตของประเทศนั้นๆ หลักการความชอบธรรมในชีวิต “ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด” ย่อมน่าศรัทธาเชื่อถือดีกว่า “ถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก”

ในเรื่องของความชอบธรรมเรื่องสำคัญคือ “หลักการความสัตย์ซื่อเที่ยงธรรม” ผมมีมาตรวัดหนึ่งคือทัศนคติในชีวิตเทียบระหว่างแนวทาง “เปาบุ้นจิ้น” ผู้เที่ยงธรรม ในหลายๆ ครั้ง คนชั่วมักใส่ร้ายคนดี แต่เปาบุ้นจิ้นมักจะให้ความเป็นธรรมได้ ด้วยใจเที่ยงธรรม ความยึดมั่นในความดี และปัญญาโดยดู “แรงจูงใจ” เป็นเหตุผลประกอบการพิสูจน์เจตนาการทำผิด

ต่างกับ แนวทาง “ศรีธนญชัย” ผู้เจ้าเล่ห์ ชอบเลี่ยงความชอบธรรม ด้วยใจชั่ว เพราะอิจฉาน้อง เมื่อพ่อแม่ให้ “อาบน้ำล้างน้องให้สะอาดทั้งข้างในและข้างนอก” เขาถึงกับล้างถึงตับไตไส้พุงจนน้องตายไป แต่บอกว่าไม่ผิด เพราะเป็นไปตามกติกาที่พ่อแม่บอกไว้ให้ทำในสภาวะที่มีความสับสน ยากจะตัดสินว่าใครถูกใครผิด ผมว่าเราเพียงแต่พยายามถามตัวเองว่า แนวทางที่เดิน เป็นแนว “เปาบุ้นจิ้น” หรือ แนว “ศรีธนญชัย” เราก็จะวัดระดับความชอบธรรมได้พอสมควร

ในการตัดสินในใจของเราเองแต่ละคน ในเรื่องการยุบพรรคในบรรดา 5 พรรคนั้น

เรื่องพรรคเล็ก “ผู้ถูกว่าจ้าง” คงตัดสินไม่ยาก เพราะไม่น่าจะมีแรงจูงใจในการลงสมัครเอง ด้วยจะเป็นสภาในเวลาสั้นๆเพื่อการปฏิรูปการเมือง การมีเสียงคัดค้านเพียงเล็กน้อย ภายใต้การนำของรัฐบาลทักษิณที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทฝ่ายค้านเลย และต้องได้การช่วงโกงข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ กกต. ก็มีแนวโน้มชัดเจนว่าถูกยุบแน่นอน

เรื่องพรรคใหญ่ “ผู้ว่าจ้าง” หากหลักฐานชัดเจนว่ามีการจ้างให้ลงเลือกตั้งจนถึงขั้นยุบพรรคเล็กผู้ถูกจ้าง ก็คงตัดสินไม่ยาก เพราะมีแรงจูงใจเต็มเปี่ยมให้มีพรรคเล็กร่วมแข่งขัน ให้ “ดูเหมือน” เป็นประชาธิปไตย ส่วนจะถือว่าเป็นผู้บริหารพรรค 2 คนเท่านั้นที่ทำ ไม่ใช่พรรคซึ่งเป็นนิติบุคคลจะทำนั้น หลัก “เปาบุ้นจิ้น” เรื่องแรงจูงใจจะช่วยตัดสินได้ ผู้บริหารพรรคมีแรงจูงใจที่จะทำเพื่อส่วนตัว หรือเพื่อพรรค ก็จะพิสูจน์ว่า เป็นความผิดส่วนตัวบุคคล หรือของพรรค มีอีกวิธีที่หาหลักฐาน คือให้ ปปง. ตรวจเส้นทางเดินของเงินที่ทั้ง 2 ท่านใช้จ่ายจ้างนั้น ก็อาจพิสูจน์ได้ว่า เป็นเงินที่ได้จากส่วนตัว หรือใช้หมุนเวียนในการบริหารงานของพรรค ผมเคยชมภาพยนตร์ บริษัทค้ากาแฟ ซึ่งช่วยฟอกเงินผู้ค้ายาเสพติด แม้ไม่เคยมีมติกรรมการบริษัทให้ทำผิดกฎหมายโดยฟอกเงินค้ายาเสพติด แต่ด้วยพฤติกรรมที่มีหลักฐานชัดเจน ก็ถือว่าบริษัทมีความผิดถึงขั้นต้องยุบบริษัท และยึดทรัพย์เป็นของรัฐ “แม้บริษัทไม่เคยมีมติ” ก็ตาม

เรื่องพรรคเก่า “ผู้ล่อซื้อ” ย่อมมีแรงจูงใจในการเปิดโปงความผิดที่มี แต่การ “เปิดโปง” ความผิด หรือการ “ล่อซื้อ” ยาเสพติด เพื่อเอาผิดผู้ค้าเป็นความผิดหรือไม่ ผมก็ว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น

อีกเรื่องที่ประกอบการประเมินมาตรฐานความชอบธรรมของผู้นำได้ คือ การสร้างความเชื่อให้ประชาชน โดยการสื่อลักษณะว่า “ทุกคนมุ่งหาประโยชน์และอำนาจเหมือนกันหมด” แต่ไม่ตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมให้กระจ่าง แทนที่สังคมมีมาตรฐานจริยธรรมสูงขึ้น ด้วยการตอบข้อสงสัยให้กระจ่างในคำถามเรื่องทุจริตต่างๆ เช่น ทำไมพ่อจึงเข้ามาคุมอำนาจรัฐ ในขณะที่ลูกทำธุรกิจแข่งกับรัฐ มีการได้ประโยชน์จากการลดประโยชน์ของรัฐ ทำไมจึงมีเงินจากกองทุนวินมาร์คบนเกาะฟอกเงิน อีกเป็นพันๆล้านบาทเข้ามาก่อนปี 2543 ก่อนเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจครั้งแรก โดยผู้นำต้องปกปิดบิดเบือน จนสื่อมวลชนสรุปได้ว่า หนีตอบคำถามเรื่องวินมาร์คสุดชีวิต

แต่ท่านกลับกล่าวหาว่าผู้นำพันธมิตรทุกคนเป็นกลุ่มผู้ต้องการประโยชน์และผิดหวังบ้าง ผู้ร่วมชุมนุมเป็นพวกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือหวยใต้ดินบ้าง จนล่าสุดถึงกับบอกว่า “บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป” “มีคนอยากเป็นนายกฯ มาตรา 7”

ผมคิดว่า ทุกฝ่ายควรจะเชื่อว่า “แผ่นดินสวรรค์เป็นอย่างไร ให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก” ได้ มุ่งยกระดับคุณธรรม “ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด” ไม่ใช่เชื่อว่า “ทุกคนก็โกงเหมือนกัน” มาตรฐานจริยธรรมจะดีขึ้น ความน่าเชื่อถือจะดีขึ้น และบรรยากาศการลงทุนก็จะดีขึ้นในที่สุดครับ

montree4life@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น