xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของชาติ โดยมองปัญหาในฐานะผู้ถือหุ้นประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความน่าเชื่อถือของประเทศ ก็คล้ายๆความน่าเชื่อถือของบริษัทมหาชน กล่าวคือ ยิ่งมีความน่าเชื่อถือสูง นักลงทุนก็มั่นใจ กล้าลงทุน ทำให้หุ้นมีมูลค่าสูง เมื่อใดที่บริษัทมีเหตุการณ์ทุจริต ยักยอกประโยชน์เข้ากระเป๋าของตัว ก็ทำให้นักลงทุนกลัว และหนีจากการลงทุนนั้น

ผมอยากชวนให้ท่านผู้อ่านมองประเทศด้วยอีกฐานะหนึ่งซึ่งเราควรภาคภูมิใจ คือ ฐานะ “ผู้ถือหุ้นประเทศไทย” ปัจจุบัน รายได้ของรัฐบาล (รายได้หลักคือภาษีที่เราจ่าย รวมถึง ปันผลจากหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐยังถือเหลืออยู่) เป็นเงินปีละกว่า 1.1 ล้านล้านบาท หากจะนับว่าเป็นของประชาชน 65 ล้านคน เราแต่ละคนจะมีส่วนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาชาติผ่านรัฐบาลเฉลี่ยคนละ 17,000 บาทต่อปี เงินจำนวนนี้ สูงกว่าปันผลจากหุ้นในตลาดรวมถึงกว่า 5 เท่า เราจึงพึงรักษาอำนาจการเมืองภาคประชาชนเพื่อร่วมกันพิทักษ์ประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกันด้วย

จากข้อมูลที่ได้รวบรวมมา อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสูงสุดอยู่ที่ A โดย S&P ในช่วงปี 2537-2538 หลังวิกฤตการณ์ ก็ถือว่ามีรัฐบาลดีๆ 2 รัฐบาลมาช่วยหลังวิกฤต

รัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้กู้วิกฤตชาติได้สำเร็จจากสถานการณ์ที่ลำบากอย่างยิ่ง (ซึ่งแม้ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย ที่ประสบปัญหาอันมีต้นตอมาจากเรา จนเรียกกันว่า “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” ก็ยังไม่ฟื้น NPL ยังเบ่งบาน) จนความน่าเชื่อถือประเทศไทยฟื้นจากระดับ “ขยะ (Junk Grade)” เป็น “น่าลงทุน (Investment Grade) และกลไกต่างๆก็กำลังปรับตัวดีขึ้น

จากนั้น ก็น่าชมเชยรัฐบาลไทยรักไทยด้วย ที่ได้เข้ามาในจังหวะหลังจากที่ปัญหาวิกฤตต่างๆได้คลี่คลายไปแล้วระดับหนึ่ง และก็ได้มีส่วนต่อยอดเพิ่มเติมความคึกคักได้ดีพอสมควร ในช่วงต้น จึงมีส่วนที่ความน่าเชื่อถือของประเทศก็ยังดีขึ้น (ก่อนที่จะมีข่าวคราวการทุจริตต่างๆ จนถึงข่าวความเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน)

เมื่อเห็นว่า ประเทศชาติ มีการพัฒนาต่อๆมาหลายยุคหลายสมัย เมื่อมีรัฐบาลโกงกิน ก็มีกลไกทำให้ต้องสิ้นอำนาจลง และมีโอกาสได้รัฐบาลดีๆเข้ามากแก้ไขเป็นระยะๆตลอดมา เราก็น่าดีใจที่ประเทศไทยย่อมไม่ขาดคนดี และหวังว่า รัฐบาลใดก็ตาม จะได้ช่วยกันเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศให้เป็นหน้าเป็นตา และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติให้อย่างยั่งยืนตลอดไป

ผมอยากมีโอกาสชวนทุกท่านได้วิเคราะห์หลักธรรมาภิบาล สำหรับบริษัทมหาชน ซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับ ประเทศด้วย 2 ประการได้แก่

1. การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส เพื่อให้ทุกคนได้ทราบอย่างเป็นธรรมว่า ผู้บริหารกิจการมหาชน มีกิจการซ่อนเร้นที่อาจรับประโยชน์หรือไม่ จึงไม่แปลกที่ประชาชนหนักใจที่มีข่าวในลักษณะ “ซุกหุ้น” ไม่ว่าจะเป็นกรณี แอมเพิลริช หรือ วินมาร์ค ที่สื่อมวลชนได้ติดตามมาเป็นปี แต่ยังไม่เคยได้รับคำตอบที่กระจ่างจากผู้บริหารประเทศ เราจึงควรช่วยกันรอคอยอย่างมีความหวัง ให้มีการชี้แจงเรื่องเหล่านี้ให้กระจ่าง เพื่อสร้างความโปร่งใสให้เกิดความน่าเชื่อถือกลับมาได้

2. การป้องกันไม่ให้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยหลักการแล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่ผู้มีอำนาจบริหารกิจการมหาชน จะต้องไม่ฉ้อโกงบริษัทมหาชนด้วยวิธิการต่างๆเช่น (ก) การให้พรรคพวกคนเองขายของแพงให้บริษัทมหาชนเพื่อโกงกินส่วนต่าง (ข) การให้พรรคพวกของคนซื้อของถูกจากบริษัทมหาชนเพื่อเอาประโยชน์เข้าตนเอง (ค) การให้พรรคพวกตนเองทำธุรกิจเดียวกับบริษัทมหาชน อันอาจทำให้กิจการเอกชนลดธุรกิจส่วนที่ดีลง เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคพวกส่วนตัวเข้าทำกำไร ฯลฯ

จากปัญหาเหล่านี้ ในฐานะผู้ถือหุ้นประเทศไทย ก็คงนึกเปรียบเทียบได้กับหลายๆกรณีได้แก่ (ก) กรณี CTX กล้ายาง ลำไย ฯลฯ รัฐบาลได้ของตรงไปตรงมา หรือมีการยักยอกผลประโยชน์ (ข) กรณีขายดอลลาร์คงคลังสมัยปี 2537 ให้พวกพ้อง (ที่อาจโยงกับ วินมาร์ค เกาะฟอกเงิน) หรือ การขายหุ้นรัฐวิสาหกิจในบัญชีต่างประเทศ (ค) กรณีกิจการโทรคมนาคมต่างๆ และสายการบิน ฯลฯ

ในฐานะของผู้ถือหุ้นประเทศไทย ก็น่าจะได้ร่วมกันภาวนาให้ผู้บริหารได้ตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้กระจ่าง เพื่อฟื้นฟูความน่าเชื่อถือในการบริหารบ้านเมือง นำไปสู่ความมั่นคง และเศรษฐกิจไทยจะได้ขับเคลื่อนไปอย่างเข้มแข็งได้โดยยั่งยืนไม่สะดุดครับ

montree4life@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น