xs
xsm
sm
md
lg

พระสุรเสียงส่องทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนตรี ศรไพศาล
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ผมระลึกถึง ปฏิทินเทิดพระเกียรติซึ่ง บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำขึ้นสำหรับลูกค้าในปี 2547 ชุด “พระสุรเสียงส่องทาง” ซึ่งได้รวบรวมพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์กษัตริย์ประมุขของชาติ ผู้ทรงเป็นยอดกษัตริย์ของโลก และทรงเป็นที่รักเทิดทูนสุดหัวใจของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน โดยเริ่มต้นจากพระปฐมบรมราชโองการ พระราชทานในพระบรมราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ที่ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

จากนั้น ก็ได้เสนอพระราชดำรัสสำหรับแสดงบนปฏิทินแต่ละเดือนดังนี้

1.ความเพียร : “การทำงานใดๆ ไม่ว่า เล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะทำให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้”

2.เผชิญสถานการณ์ : “เมื่อสถานการณ์ใดจะเกิดขึ้น เราก็จะต้องเผชิญสถานการณ์นั้นด้วยความมีสติและความเข้มแข็งกล้าหาญ”

3.ตั้งใจในงาน : “การตั้งต้นงานนี้สำคัญที่สุด คำว่า “ตั้ง” นั้นก็มีไว้ เพราะว่าสำหรับทำงานใดๆ ก็จะต้องมีความตั้งใจ ตั้งใจนั้นก็คือ เอาใจตั้งในงาน หรืออีกอย่างเอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ เมื่อเอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ หรือเอาใจตั้งไว้ในงานนั้น เชื่อว่า งานก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้โดยดี”

4.อดทน-อดกลั้น : “ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจ ให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ ตามอคติ และตามอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีการยั้งคิด”

5.ความคิดริเริ่ม : “ความคิดริเริ่มนั้น ใช่จะเกิดขึ้นมาได้เองก็หามิได้ จะต้องอาศัยมีความรู้ต่างๆ เป็นรากฐานรองรับอย่างพอเพียงอยู่ก่อนแล้ว จึงจะเป็นแนวทางให้คิดริเริ่มในสิ่งใหม่ขึ้นได้”

6.เหตุผล : “เหตุผลนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราประพฤติปฏิบัติและทำการงานทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยถูกต้อง”

7.เสรีภาพ : “เสรีภาพของแต่ละคนจำกัดอยู่ด้วยเสรีภาพของผู้อื่น การแสวงหาประโยชน์ใดๆ ที่ละเมิดและก้าวก่ายกัน จะกลายเป็นการเบียดเบียน ซึ่งมีอันตรายมากทันที จึงไม่เป็นการถูกต้องเลยที่ผู้ใดจะแสวงหาหรือได้มาโดยทำนองนั้น”

8.ทฤษฎี-ปฏิบัติ : “ผู้ที่สามารถทั้งทางทฤษฎี ทั้งทางปฏิบัติ เป็นผู้ที่จะทำการงานได้ดีที่สุด”

9.ภาระหน้าที่ : “ไม่ว่าท่านจะมีภาระหน้าที่อันใดอยู่จะเป็นงานส่วนใหญ่ส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องพยายามตั้งใจปฏิบัติให้ลุล่วงไปโดยพลัน โดยเต็มความสามารถ ปรารภประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ ด้วยสติที่ตั้งมั่น และด้วยปัญญาที่กระจ่างแจ่มใสปราศจากอคติ”

10.ประหยัด : “วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและของประชาชนทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องมาจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงทำให้ต้องระมัดระวังประคับประคองตัวเรามากเข้า โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่โดยประหยัด เพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี”

11.ปัจจุบัน-อนาคต : “คนเราโดยมากมักนึกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เราทราบไม่ได้ แต่ที่จริง เราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคตก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันทำดี อนาคตก็ไม่ควรจะตกต่ำ ฉะนั้น เมื่อกระทำการใดๆ ควรจะได้นึกว่า การนั้นจะมีผลสืบไปในอนาคต จักได้มีสติ กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้ตัวและระมัดระวัง ทั้งควรจะสำนึกตระหนักด้วยว่า การพิจารณาการกระทำของตนเองในปัจจุบันนั้น นับว่าสำคัญที่สุด จะต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบ และถ่องแท้ทุกครั้งไป มิฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้ต้องผิดหวังอย่างมากที่สุดก็เป็นได้”

12.ความเก่ง ความดี “ให้ความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับการสร้างสรรค์ ให้ความดีเป็นปัจจัยและพลังประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร ที่อำนวยผลประโยชน์อันพึงประสงค์แต่ฝ่ายเดียว”

และบนหน้าปก มีพระราชดำรัสว่า “ความสุขความเจริญ อันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น”

หากชาวไทยทุกคนได้น้อมรับพระราชดำรัสบทเรียนเหล่านี้ประกอบเป็นหลักการดำเนินชีวิต เชื่อว่าจะมีความสุขและความเจริญโดยทั่วกันครับ

มนตรี ศรไพศาล(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น