xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทย...ใกล้ความฝัน (17) เมื่อนักการเมืองใช้เงิน “ของประชาชน” อย่างรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผมเห็นข่าวเรื่องรัฐบาลประสบภาวะต้องเลื่อนการชำระเงินผู้รับเหมางานภาครัฐบางราย ราวกับมีสภาวะถังแตก แล้วผมก็เป็นห่วง หากถึงจุดที่มีโอกาส “ผิดนัด” อย่างกว้างขวาง ก็อาจเสียเครดิตได้ ซึ่งเครดิตของประเทศนั้น เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่ง เป็นศักดิ์ศรี หน้าตาของประเทศ และเครดิตที่ดี ทำให้กู้เงินได้ด้วยต้นทุนการเงินที่ต่ำ และผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ และ/หรือ ผู้ลงทุนทางตรงมีความเชื่อมั่น และพร้อมลงทุนมากขึ้น

ผมจึงได้ศึกษาข้อมูลมากขึ้นถึงระดับ “ตั๋วเงินคลัง” ซึ่งเป็นเครื่องมือการกู้ยืมเงินระยะสั้นของรัฐบาลเพื่อบริหารเงินสดในกรณีที่กระแสเงินเข้าไม่ทันกับกระแสเงินออก ซึ่งหลายคนก็เทียบกับวงเงิน O/D ซึ่งภาคเอกชนมีวงเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคาร จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น พบว่ามีการสะสมยอดหนี้ตั๋วเงินคลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 6 หมื่นล้านเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นประมาณ 2.5 แสนล้านบาทในปัจจุบัน !!
ข้อมูล “ตั๋วเงินคลัง” จากธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ 2543-2549

ปี/เดือน2543254425452546254725482549
มกราคม20,00064,000119,000130,000123,000152,040235,000
กุมภาพันนธ์15,00046,000137,000102,00099,000152,040243,000
มีนาคม13,00042,000128,00069,34076,000170,000248,000
เมษายน20,00066,000143,00087,340108,000170,000-
พฤษภาคม22,00057,000162,00066,340120,000170,000-
มิถุนายน20,00047,000148,00056,00098,000145,000-
กรกฏาคม30,00045,500123,00079,000109,430165,000-
สิงหาคม35,00054,500130,00095,000133,960166,000-
กันยายน62,92589,000149,000110,000170,000170,000-
ตุลาคม33,00083,000134,00095,000126,570160,000-
พฤศจิกายน59,00092,000136,00085,000144,040162,000-
ธันวาคม62,000107,000134,000107,000152,040199,000-


ผมยังเชื่อในแง่ดีว่า รัฐบาลคงมีเหตุผลอันสมควรที่บริหารการเงินการคลังด้วยวิธีนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้น่าจะส่งสัญญาณให้รัฐบาลควรใช้นโยบายการเงินการคลังด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังมากขึ้นในหลายเรื่อง ดังนี้

1.รัฐบาลควรส่งสัญญาณการรักษาวินัยทางการเงินมากขึ้น โดยระดับตั๋วเงินคลังที่เพิ่มขึ้นสูงจนชนเพดานซึ่งได้ขยายมาอย่างต่อเนื่องนั้น เปรียบเสมือน “การขยายวงเงิน O/D” อย่างต่อเนื่องและ “ใช้เต็มวงเงิน” รัฐบาลจึงควรกันงบประมาณเพื่อลดหนี้ระยะสั้นจำนวนนี้ลง ปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆได้ชี้ให้เห็นว่า อาจมีเหตุที่รัฐบาลต้องใช้เงินแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายได้เสมอ รัฐบาลจึงควรรักษาระดับการกู้ระยะสั้นนี้ไม่ให้เต็มวงเงิน มิฉะนั้น เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ก็จะต้องขยายวงเงินอีก อันจะส่งสัญญาณการขาดวินัยทางการเงินมากยิ่งขึ้น

2.นักการเมืองทุกพรรคควรระมัดระวังการใช้เงิน เพื่อนโยบายหาเสียงแบบประชานิยม การแข่งกันหยิบยื่นเงินในคลังให้ประชาชนอย่างง่ายๆ เพื่อคะแนนเสียง ทั้งเป็นการขาดวินัยทางการเงิน และอาจส่งผลเสียให้ประชาชนรอคอยความช่วยเหลือของภาครัฐ โดยมิได้เร่งพัฒนาผลผลิตต่อประชากร และอาจถือได้ว่าเป็นนโยบายหาเสียงที่ขาดความรับผิดชอบต่อการยกระดับคุณภาพประชาชน และไม่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมั่นคงในระยะยาว

3.นักการเมืองไม่ควรแข่งกันเพียงแต่แสดงความสามารถในการใช้เงินได้มาก ซึ่งอาจเกิดจากการสร้างหนี้มากมาย ทั้งที่เป็นหนี้ทางการ หนี้ที่ซ่อนเร้น เช่น หนี้กองทุนน้ำมัน หนี้การเช่าศูนย์ข้าราชการ หนี้ไถ่หุ้นคืนกองทุนวายุภักย์ ฯลฯ และหนี้ตั๋วเงินคลังนี้ตามที่รายงานนี้ ทำให้เป็นห่วงว่าเป็นการสร้างภาระแก่คนรุ่นหลัง เพียงเพื่อประโยชน์ระยะสั้นของเรายุคนี้และนักการเมืองยุคนี้เพียงไร

4.ประชาชนไม่ควรเชื่อว่า นโยบายประชานิยม คือความเก่งและความใจกว้างของนักการเมือง เงินที่ใช้ก็เงินประชาชนทั้งสิ้น หนี้ที่เกิด ก็หนี้ของประชาชนและลูกหลานทั้งสิ้น นักการเมืองควรใช้เพียงจำกัด และควรจะเสนอนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตระยะยาว และด้วยความรับผิดชอบอย่างแท้จริงมากขึ้น

ผมจึงเชื่อว่า การใช้หลักการ “เศรษฐกิจพอเพียง” มีความสำคัญยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเศรษฐกิจไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปครับ

มนตรี ศรไพศาล(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น