xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ยันกระจายหุ้นอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.ยืนยันกระจายหุ้นถูกต้องตามกฏหมาย คาดจะไม่ซ้ำรอย กฟผ. แม้เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนเตรียมเดินหน้าฟ้องร้องให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิมก็ตาม ด้านสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคย้ำรื้อใหญ่บริษัทแปรรูปแน่ๆ เริ่มจาก ปตท. เพื่อหวังให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ตรึงราคาน้ำมัน ลดภาระผู้บริโภค

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการกระจายหุ้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจทุกประการ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ได้เคลื่อนไหวจากหลายองค์กรรวมทั้งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เตรียมเรื่องยื่นฟ้องร้องให้รัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเป็นบริษัทไปแล้ว เช่น ปตท. อสมท ทีโอที การบินไทย กสท.โทรคมนาคม กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอน 2 พระราชกฤษฎีกาแปรรูป กฟผ. จนทำให้ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กลับไปเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธาน บลจ.กสิกรไทย อดีตกรรมการที่ร่วมอยู่ในการดำเนินการกระจายหุ้น ปตท. เมื่อปลายปี 2544 ยืนยันว่าการแปลงสภาพและการกระจายหุ้น ปตท. ถูกต้องตามกฏหมาย โดยคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ได้คัดสรรดูเรื่องประวัติไม่ให้มีผลประโยชน์ได้เสียกับธุรกิจ ปตท. ส่วนกรณีท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ซึ่งมีการรอนสิทธิ์ก่อสร้าง เรื่องนี้ในช่วงดังกล่าวทุกฝ่ายก็เป็นกังวล และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย ซึ่งมีผลรองรับแล้วว่าโอนสิทธิไปให้ ปตท.ได้ จึงไม่มีปัญหาเหมือน กฟผ.

“ปัญหาของ กฟผ.ที่เกิดขึ้นเนื่องจากยังไม่พร้อม การดำเนินการด้านต่างๆ ไม่ชัดเจน จึงเกิดปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งว่าหาก กฟผ.จะแปรรูปในอนาคต แนวทางที่ถูกต้องก็คงจะต้องแยกนำธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นบริษัทเพื่อกระจายหุ้น ในขณะที่ธุรกิจสายส่งไฟฟ้าก็ควรจะอยู่กับ กฟผ. ต่อไป” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นางรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้สหพันธ์และเครือข่ายกำลังให้กฏหมายพิจารณาการฟ้องร้องในเรื่องการทวงคืนให้บริษัทที่แปรรูปกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยอาจจะจัดกลุ่มเป็นบริษัทที่กระจายหุ้นและยังไม่ได้กระจายหุ้น แต่บางแห่งที่พิจารณาแล้วว่ากิจกรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของประชาชน ไม่ผิดกฏหมายก็อาจจะไม่ทวงคืน โดยจะเร่งสรุปในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานแรกที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ คือ ปตท. เพราะเกี่ยวข้องกับ กฟผ. มีผลต่อค่าไฟฟ้า และการดำเนินธุรกิจก็ไม่ถูกต้องหลายประการ เช่น ปตท.ขายก๊าซธรรมชาติ แก่ กฟผ. ในราคาที่แพงกว่าการจำหน่ายให้บริษัทในเครือประมาณ 30-40 บาทต่อล้านบีทียู การที่ ปตท.ได้สิทธิในการขายน้ำมันเตาแก่ กฟผ. ในสัดส่วนร้อยละ 80 การที่ ปตท.ไม่แยกบริษัทท่อก๊าซออกมา และไม่ตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมาดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกรณีนี้เป็นการกระทำผิดชัดเจน เพราะในหนังสือชี้ชวนช่วงกระจายหุ้นระบุชัดว่า ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซออกมาเป็นบริษัทภายใน 1 ปี หลังกระจายหุ้น แต่ขณะนี้ผ่านมา 4-5 ปี ยังไม่จัดตั้งแต่อย่างใด

“การเข้ามารื้อเรื่องหุ้น ปตท. เพราะเป็นธุรกิจความมั่นคงด้านพลังงานและหากกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะทำให้ ปตท. เป็นเครื่องมือที่รัฐสามารถใช้งานได้เต็มที่ในการตรึงราคาน้ำมันในช่วงราคาสูง และช่วยดูแลเรื่องยุทธปัจจัยหากประเทศเกิดวิกฤติ และขอโต้กลับนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่แสดงความเป็นห่วงปัญหากระทบตลาดหุ้นว่าการรื้อ ปตท. แม้จะกระทบต่อตลาดหุ้นก็คงเป็นระยะสั้น แต่จะเป็นผลดีระยะยาว เพราะทุกอย่างสะอาดโปร่งใส น่าลงทุน แต่การที่ปกป้องก็ไม่รู้ว่าใครจะได้ผลประโยชน์จากการถือหุ้น ปตท.หรือไม่” นางรสนา กล่าว

ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้เคยชี้แจงประเด็นเรื่องขายก๊าซให้แก่บริษัทในเครือราคาถูกกว่าขายให้ กฟผ. เนื่องจากไม่ต้องมีภาระลงทุนก่อสร้างท่อก๊าซระยะไกลๆ เพื่อส่งมอบก๊าซเหมือนกับการสร้างท่อก๊าซไปส่งแก่โรงไฟฟ้า กฟผ. เนื่องจากโรงงานปิโตรเคมีส่วนใหญ่ของ ปตท. อยู่ใกล้เคียงโรงแยกก๊าซที่จังหวัดระยอง ในขณะที่ปัญหาที่ไม่มีแยกท่อก๊าซ เพราะมีปัญหาด้านการคำนวณภาษีในการแยกบริษัท
กำลังโหลดความคิดเห็น