xs
xsm
sm
md
lg

“อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน) (montree4life@yahoo.com)

ในปีนี้ มีคำขวัญวันเด็กของนายกฯทักษิณ คือ “อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด” ผมชอบครับ ผมเห็นด้วยว่ากำลังของชาติจะเข้มแข็งได้ จะต้องประกอบกันทั้งความเก่งควบคู่ไปกับความดี มุ่งสร้างประโยชน์แก่กัน รักกันและกัน รักคนอื่นเหมือนรักตนเอง

ตามข่าว นายกฯทักษิณยังได้กล่าวกับเด็กและเยาวชนดีเด่นอีกว่า “หากมองย้อนคำขวัญวันเด็กสมัยก่อน มักจะเน้นเรื่องของวินัย
ความซื่อสัตย์ ตรงเวลา แต่ขณะนี้ยุคสมัยเปลี่ยน อยากเห็นเด็กไทยเติบโตอย่างฉลาด ถ้าไม่ฉลาดและคิดไม่เป็น จะเป็นเหยื่อของโลกระบบทุนนิยม คนฉลาดได้เปรียบ คนฉลาดน้อยกว่าถูกกิน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก คนฉลาดกว่ากินคนโง่กว่า ซึ่งเป็นโลกที่ชอบไม่ชอบก็ต้องอยู่”

ผมชอบที่คุณ ลม เปลี่ยนทิศได้เอ่ยชม น.ส. พัชรา จากจังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้กล่าวโดยข้อสรุปว่า “คนฉลาด ต้องมีธรรมะในจิตใจและทำให้จิตใจสะอาดและบริสุทธิ์ หลายคนที่ฉลาด แต่ไม่มีธรรมะ จะนำความรู้ไปกดดันหรือใช้กับคนที่มีความรู้อ่อนกว่าเขา” ต้องขอปรบมือเยาวชนหญิงของเราด้วยครับจริงๆแล้ว ผมเห็นด้วยเต็มที่ว่าการรณรงค์ให้เยาวชนขยันอ่าน ขยันคิด เพราะปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย ยังมีรากมาก

จากระดับการศึกษา ผมดีใจที่นายกฯสอนให้เยาวชนเข้าใจระบบเสรีนิยม ซึ่งบางคนอาจใช้ศัพท์ที่หนักหน่อยเป็นทุนนิยม โดยผมยังชอบคำที่ว่า “คนฉลาดได้เปรียบ” ไม่ใช่ “คนฉลาดเอาเปรียบ” คนที่โง่กว่า ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากเมื่อมองถึงจิตใจคนผมเองก็เห็นด้วยกับคำอธิบายว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่ขอแสดงความเข้าใจเพื่อหวังว่าทุกคนเข้าใจตรงกันต่อประโยคที่ว่า “คนฉลาดกว่ากินคนโง่กว่า”

ในระบบการค้าเสรี ผู้บริโภคมีเสรีในการเลือกซื้อสินค้า ผู้ประกอบการมีเสรีในการดำเนินกิจการ จะเห็นว่าทำให้ไม่มีการเอาเปรียบกันได้ เพราะ ถ้าใครขายของจนได้กำไรมากๆ ก็จะมีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันจนกำไรอยู่ในระดับปกติ เมื่อมีการแข่งขันเสรีมากขึ้น ไม่ผูกขาด ผู้บริโภคก็จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ ในรูปของการบริการที่ดีขึ้น และ/หรือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง ผู้บริโภคที่มีต้นทุนต่ำลงในระดับที่เป็นธรรม (แต่บางธุรกิจ แข่งขันเกินไปก็ไม่ดี เช่น การปักเสาพาดสายไฟฟ้าแข่งกันจะสิ้นเปลืองมาก หรือในการแข่งขันขายไฟฟ้าเต็มที่ อาจมีราคาไม่คุ้มการเร่งก่อสร้างจนอาจสร้างไม่ทันถึงขั้นไฟฟ้าดับได้ดังปัญหาที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา)

ในระบบการค้าเสรีนิยมที่นิยมกันทั่วโลก ผู้ที่แข่งจนมีขนาดใหญ่เป็นปลาใหญ่ มักจะ “สร้างคุณค่า” แก่ลูกค้าได้ดีกว่า และ/หรือ มีต้นทุนและสามารถขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า เช่นสินค้าจีนที่คุณภาพ ราคาใช้ได้ ก็จะกินธุรกิจของผู้ผลิตที่ต้นทุนสูงกว่า แต่ผลิตของได้เพียงเหมือนๆ กัน ประเด็นสำคัญคือ ผู้ชนะในระบบเสรีนิยม คือ “ผู้สร้างคุณค่า” ได้มากกว่า ในตัวอย่างนี้คือ ช่วยผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ดีพอๆ กันด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

อีกตัวอย่างเช่นในวงการเทคโนโลยี แต่ก่อนเราเคยใช้โปรแกรมคำนวณ “โลตัส” แต่ปัจจุบันแทบทุกคนก็หันมาใช้ “เอ็กเซล” ของ
บ.ไมโครซอฟท์ของ บิล เกตต์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก เขาใหญ่กว่า ทำได้ดีกว่า จึงได้เปรียบ แต่ด้วยคุณแห่งความดีที่ได้ “สร้างคุณค่า” ในกรณีนี้คือ ให้สินค้าที่ดีว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า ช่วยผู้ใช้โปรแกรมได้ดีมากกว่าจึงเป็นผู้ชนะผมอยากให้เยาวชนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อระบบเสรีนิยมว่า ในระบบนี้ มีการแข่งขันที่ความเป็นธรรมในการแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ มีผู้ชนะ มีผู้แพ้ แต่ไม่ได้แปลว่า “คนฉลาดกว่ากินคนโง่กว่า” จะหมายถึง คนในระบบนี้จะมุ่งพัฒนาตนเองให้ฉลาด จะได้กินคนที่โง่กว่า ซึ่งอาจเข้าใจผิดไปว่า “การกินคนโง่กว่า” หมายถึง “การเอาเปรียบคนโง่กว่า” แต่ผมอยากให้เยาชนไทยเข้าใจให้ถูกว่า ในการแข่งขันเสรี “ผู้สร้างคุณค่า” ได้มากกว่า โดยผลิตดีกว่า หรือ ต้นทุนถูกกว่า คือผู้ชนะ

ผมยืนยันว่าผมชอบประโยคที่ว่า “คนฉลาดได้เปรียบ” ซึ่งแตกต่างมากจาก “คนฉลาดเอาเปรียบ” และเยาวชนไทยอย่าได้เข้าใจว่า “คนฉลาดกว่ากินคนโง่กว่า” จะหมายถึง “คนฉลาดกว่าเอาเปรียบคนที่โง่กว่า” ในระบบการค้าเสรีนิยมซึ่งอาจเรียกกันว่าทุนนิยม ที่เป็นธรรม เป็นระบบที่เป็นที่นิยมทั่วโลก เพราะแม้จะทำให้การทำงานไม่ง่าย แต่ในบทบาทผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์สูงครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น