xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คลอดเกณฑ์การทำธุรกรรมของแบงก์พาณิชย์เพื่อรายย่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งหนังสือเวียนแจ้งหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจและขอบเขตการทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือเวียนถึงบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ ในการกำหนดขอบเขตการประกอบธุรกิจและขอบเขตการทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) เพื่อกำหนดกรอบที่ชัดเจนให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยที่เน้นการให้บริการแก่ประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทราบถึงขอบเขตการประกอบธุรกิจในการให้บริการแก่ลูกค้า และการทำธุรกรรมในการบริหารสินทรัพย์/หนี้สิน และป้องกันความเสี่ยง

โดยธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย สามารถประกอบธุรกิจให้บริการแก่ลูกค้า และทำธุรกรรมเพื่อการบริหารสินทรัพย์/หนี้สิน และเพื่อการป้องกันความเสี่ยงภายในขอบเขต ดังนี้ คือ 1. ธุรกิจเพื่อการให้บริการแก่ลูกค้า ประกอบด้วย ธุรกิจพื้นฐาน ธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจอันเป็นประเพณีที่ธนาคารพาณิชย์พึงกระทำ 2. ธุรกรรมเพื่อการบริหารสินทรัพย์/หนี้สินและการป้องกันความเสี่ยงของ ธย.เอง ประกอบด้วย ขอบเขตธุรกรรมตามสกุลเงิน ธุรกรรมด้านสินทรัพย์ และธุรกรรมการป้องกันความเสี่ยง

สำหรับธุรกรรมที่ห้ามคือการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีคลัง และห้ามประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตราสารอนุพันธ์ยกเว้นแต่จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงสำหรับตนเอง รวมทั้งมีเงื่อนไขบริการได้เฉพาะแก่ประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยธย.สามารถให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่เป็นประชาชนรายย่อยต่อรายได้ไม่เกินวงเงิน 0.05% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในกรณีที่เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ส่วนในกรณีที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน สามารถให้สินเชื่อได้ 1% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1

ทั้งนี้ เกณฑ์การผ่อนผันในกรณีที่ บง. และ บค. ได้จัดตั้งเป็น ธย.หรือมีการควบรวมกิจการหรือโอนกิจการของ บง. หรือ บค. เพื่อจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงของการยกระดับเป็นธนาคาร ประกอบด้วย สินเชื่อที่ บง. และ บค. ให้สินเชื่อแก่บริษัทขนาดใหญ่ หรือสินเชื่อที่ให้แก่ประชาชนรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี ในลักษณะที่เกินวงเงินสินเชื่อต่อรายที่กำหนดไว้ ดังนั้น ธปท. จึงผ่อนผันให้ในกรณีที่สัญญามีการกำหนดอายุ (Term Loan) จะผ่อนผันให้จนหมดอายุสัญญา ส่วนในกรณีที่ไม่มีการกำหนดอายุ (Call Loan) ผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่เปิดดำเนินการ

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น การปรับโครงสร้างของสินเชื่อใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลัง ธย. เปิดดำเนินการ หรือของสินเชื่อเดิมที่ได้รับการผ่อนผันข้างต้น ธปท. จะพิจารณาผ่อนผันเฉพาะราย สำหรับการปล่อยกู้ลูกหนี้เช่าซื้อ หรือเช่าแบบลีสซิ่ง ในลักษณะ Fleet กับบริษัทตัวกลางที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อส่งผ่านสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่เป็นประชาชนรายย่อย หรือเอสเอ็มอี หากบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายเอสเอ็มอี หากให้สินเชื่อนั้นถือว่าเป็นการให้สินเชื่อแก่บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าอยู่นอกเหนือขอบเขตการประกอบธุรกิจของ ธย. ไม่สามารถทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น