xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนความมั่วที่ขาดความแม่น (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
(montree4life@yahoo.com)

หลายปีก่อนผมได้ชมรายการวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นผ่านทางโทรทัศน์ เรื่องการศึกษาดวงจันทร์ ผมได้ลองถามพี่น้องและเพื่อนๆหลายคนว่า “ปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม ที่เราเห็นพระจันทร์เต็มดวง พระจันทร์เสี้ยว หรือพระจันทร์มืด เกิดขึ้นจากอะไร ?” ผมได้รับคำตอบคล้ายกันหมดซึ่งผิด ทั้งที่แต่ละคนเรียนมาจากหลายโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง สัปดาห์หน้าเรามาเฉลยกันครับ

หากเราไม่คิดไม่ศึกษาอะไรให้กระจ่าง หลายๆ ครั้งอาจมีการแก้ไขปัญหามั่วๆ มีภาพยนตร์หลายเรื่องของสหรัฐอเมริกา ที่สะท้อนเรื่องเหล่านี้ให้ระมัดระวัง ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ดังนี้

1.ในภาพยนตร์เรื่อง Outbreak ได้เกิดโรคระบาดซึ่งมีเชื้อแพร่จากลิงตัวหนึ่ง ติดมาถึงคน และกลายพันธุ์จนกระทั่งสามารถแพร่จากคนสู่คน ผ่านอากาศ ผ่านระบบแอร์จนระบาดติดกันอย่างรวดเร็ว ประชาชนในเขตนั้นเป็นโรคระบาดติดต่อกันในโรงภาพยนตร์ ในโรงพยาบาล จนคนแน่นโรงพยาบาล รักษาอย่างไรก็ไม่หาย

ภาพยนตร์ได้สะท้อนให้เห็นภาพลบของหน่วยงานวิจัยของทหารหน่วยงานหนึ่งที่เคยค้นพบไวรัสร้ายนี้ และพอมีทางแก้ไข แต่กลับไม่ทำ เพราะหวงแหนไวรัสนี้ ซึ่งสามารถใช้เป็นอาวุธเชื้อโรคได้

ในภายหลัง เพื่อให้ปกปิดเพื่อรักษาความลับของอาวุธเชื้อโรคนี้ ทหารผู้ใหญ่ได้อ้างว่า โรคนี้จะแพร่ไปทั่วประเทศและทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และถึงกับเสนอให้ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ เพื่อทำลายเมืองนี้ทั้งเมือง ถือได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ประณามความคิดเช่นนั้นได้อย่างดี

นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง กลับดิ้นรนทุกวิถีทาง หาความจริงให้ชัดเจน ค้นหาจนพบว่าต้นเหตุมาจากลิงตัวหนึ่ง จนสามารถผลิตเซรุ่มรักษาโรคได้ และมีความจริงใจถึงขั้นขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปขวางเครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อไม่ให้นักบินนั้นไปทิ้งที่เมืองดังกล่าวเพื่อสังหารหมู่ผู้ติดโรค ผมยังชอบที่เขาบอกกับทหารผู้น้อยคนนั้นว่า “ผมหาทางรักษาเขาได้แล้ว เรากำลังผลิตเซรุ่มนั้นอยู่ ถ้าคุณคิดว่าผมโกหก ก็ทิ้งระเบิดได้ ถ้าคุณคิดว่าผมบ้าก็ทิ้งระเบิดได้ ขออย่างเดียว อย่าทิ้งเพราะมันเป็นคำสั่ง” ทหารผู้น้อยนั้นก็พร้อมจะใช้สติ คิดถึงเหตุผล และตัดสินในในทางที่ถูก ไม่ใช่เพียงแต่ทำตามคำสั่งโดยไม่คิดรับผิดชอบอะไร ในที่สุด จึงไม่ได้ทำร้ายคนร่วมชาติเหล่านั้นได้

อุทาหรณ์จากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ผมนึกถึงเมื่อเทียบกับไข้หวัดนกในปัจจุบันคือ
1)ศึกษาโรคนี้อย่างชัดเจน ขณะนี้ไม่น่ากลัวถึงขั้นคนติดคน ปลอดภัยถ้ารับประทานไก่และไข่สุก จะได้ปฏิบัติพอดีๆ

2)หากจะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก ต้องดูแลให้แน่ใจว่า วัคซีนนั้นๆจะไม่เป็นสิ่งที่กลับมาสร้างผลข้างเคียงทำร้ายคนเสียเอง และมีบทเรียนที่อาจไม่เกี่ยวกับเรา คือ

3)การดำเนินการทุกอย่างที่ดี อยู่บนฐานของความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือกันสำคัญกว่าการรักษาอำนาจแห่งการทำร้ายกัน

2.ในภาพยนตร์เรื่อง Twister นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง พยายามศึกษาเรื่องพายุหมุนให้ชัดเจน โดยเอาถัง “โดโรธี” ซึ่งบรรจุอุปกรณ์จับสัญญาณเข้าไปในพายุ บิลกับโจได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ด้วยการทดลองถังแรก เขารู้ว่าพายุหนักถึงขั้นยกรถลอยได้ ถังที่สองเขาพบว่าพายุไม่ยกอุปกรณ์กลมของเขาขึ้นไป เขาจึงสร้างใบพัดเหมือนเฮลิคอปเตอร์ ถังที่สามเขาพบว่าถังยังเบาไป สุดท้ายเขาจึงผูกถังกับรถ ขับเข้าไปในไร่ข้าวโพด จนประสบความสำเร็จได้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มคู่แข่ง ทำเป็นรู้เรื่อง ขับรถเข้าไปใกล้เกินไป จนพายุดูดรถของเขาขึ้นและตกลงมาระเบิดในที่สุด

อุทาหรณ์จากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ผมนึกถึงเมื่อเทียบกับการเตือนภัยธรรมชาติในปัจจุบันคือ ศึกษาเหตุผลความเป็นไปของธรรมชาติด้วยปัญญา เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้ง 2 ด้านคือ ไม่เตือนเมื่อจะมีเหตุจริง และเตือนแม้จะไม่มีเหตุจริง เพราะจะทำให้คำเตือนมีความหมายน้อยลง ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ได้ระบบที่แม่นยำ

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย ได้ใช้ปัญญา ศึกษาให้ชัดเจน คิดทุกอย่างโดยใช้เหตุผล และยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้งด้วยความรักและความหวังดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น