xs
xsm
sm
md
lg

“เครดิต = ความน่าเชื่อถือ” คือหัวใจหนึ่งของแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ผมยังคงเชื่อความหมายหนึ่งของ “แผ่นดินไหนเป็นธรรม แผ่นดินนั้นจะเป็นทอง” ระยะนี้ ผมเห็นการพูดถึงการปรับเปลี่ยนกติกาเกี่ยวกับเงินกู้ประชาชน พูดกันถึงเรื่อง “ปลดหนี้” “ลูกหนี้แจ้งล้มละลายเอง” ฯลฯ ผมเองยังสับสนถึงรายละเอียด จึงขอไม่วิพากวิจารณ์ในส่วนนั้น ผมเพียงแต่จะแลกเปลี่ยนได้เฉพาะหลักการหลายประการ ดังนี้

1.ระบบเครดิตจะอยู่ได้ ผู้กู้ “พึง” ชำระหนี้ หากผู้กู้เริ่มรู้สึกว่าชอบธรรมที่บางคน “ชักดาบ” ไม่จ่ายหนี้
แล้ว สามารถมีหน้ามีตา ทำงานได้ตามปกติ ผมเกรงว่า คุณธรรมของคนในสังคม ความสัตย์ซื่อที่มีต่อกัน จะลดถอยลง หากเป็นเช่นนั้น ผู้ปล่อยกู้ ก็จะไม่กล้าปล่อยกู้ และผู้กู้ที่สุจริตใจที่อาจมีความจำเป็นในอนาคต ก็อาจกู้ไม่ได้ และเดือดร้อน

2.“ลูกหนี้ดีควรได้รับผลดีกว่าลูกหนี้ที่ไม่ชำระ” ผมก็เคยเป็นลูกหนี้ในยามที่ลำบาก เศรษฐกิจลูกโป่ง
แตก ก็แตกในวงการหุ้น และที่ดิน ผมก็กู้เงิน ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ ซื้อที่ดิน ซื้อหุ้น และเมื่อพบกับวิกฤต ก็ต้องดูแลเจ้าหนี้ต่อไป

แม้มีผู้ประมูลหนี้ผม รวมกับหนี้ของบริษัทเงินทุนจำนวนมาก ไปในราคาประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเราคืนหนี้เขา ก็ยังต้องคืนเต็มจำนวน ผมแซวเขาว่า “เขาได้กำไรจากหนี้อย่างของผมมากเลยนะ” เขาก็บอกผมว่า “ลูกหนี้อย่างคุณ เราประเมินประมาณ 100% แต่ที่ค่าเฉลี่ยออกมาต่ำ เพราะต้องไปเฉลี่ยกับหนี้อื่นๆ ซึ่งอาจไม่สามารถเก็บได้”

ผมก็เข้าใจ ช่วงนั้นยังสับสน พ.ร.บ.ล้มละลายยังไม่ชัดเจน กระแส “ไม่จ่าย” ยังมีมาก ผมก็เต็มใจชำระเต็ม แม้ต้องมีภาระหนี้ค้างอยู่มาก เพราะผมต้องการรักษาสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้นในชีวิต คือ “เครดิต = ความน่าเชื่อถือ” และ “จิตวิญญาณ” ที่รู้สึกได้ว่า เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

3.“คนที่อดทนต่อการทดลองใจก็เป็นสุข เพราะเมื่อปรากฏว่าเขาทนได้แล้ว เขาจะได้รับมงกุฎแห่ง
ชีวิต” ผมอยากเป็นกำลังใจให้ลูกหนี้ทุกคน ให้มีความเข้มแข็งอดทน “สัจจะ และความน่าเชื่อถือ” มีค่าอย่างมากที่ไม่ควรให้สูญเสียไป

จากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา กลุ่มที่เผชิญปัญหาหนัก ๆ คือธุรกิจอสังหาฯ กับไฟแนนซ์ เราจะเห็นบริษัทที่ไปไม่ไหวหลายบริษัท ไม่ว่าจะเนื่องจากขาดความสามารถ (Ability to Pay) หรือความเต็มใจ (Willingness to Pay) มูลค่าหุ้นก็เป็นศูนย์ หรือใกล้ศูนย์ หลายคนที่ถึงขั้นล้มละลาย ไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้

บางคนที่ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง แต่ก็รักษาศักดิ์ศรีผ่านความลำบากมาได้ อย่างแลนด์แอนด์เฮาส์ เซ็นทรัลพัฒนา ก็ผ่านปัญหาที่ยาก บัดนี้ก็แข็งแรงมาก (กว่าเดิม) ลดหนี้ไปมากมาย ขยายงานอย่างต่อเนื่อง ทิสโก้ ธนชาติ เกียรตินาคิน เป็นบริษัทเงินทุนน้อยแห่ง ที่สามารถอดทนผ่านวิกฤตมา ก็ยกระดับเป็นธนาคารได้สำเร็จ เป็นศักดิ์ศรีที่น่าภาคภูมิใจจริงๆ

4.อย่าเชื่อว่า “ช่วงกู้วิกฤตที่ผ่านมา รัฐบาล หรือธนาคาร ได้ช่วยลดหนี้ให้อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ไปมาก
มาย น่าจะช่วยคนจนบ้าง” ผมว่า “ไม่จริง” ในทุกอุตสาหกรรม เจ้าของกิจการที่ยังไม่จ่ายหนี้ ก็ยังลำบากอยู่มาก แต่กิจการ เช่น กลุ่มปูนซีเมนต์ไทย กลุ่มชินวัตรฯ กลุ่ม ปตท. ที่รักษาเครดิตกับเจ้าหนี้ได้ดี ก็ไปได้ไกล

คนที่ซ่อนสินทรัพย์ ยอมล้มละลาย และทำให้ธนาคารเสียหายมากมีหรือไม่? ก็อาจจะมี แต่ก็เป็นดังคนขโมยของ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ตลอดไป จนบัดนี้ มีสมบัติ ก็จะไม่กล้าใช้ และที่สำคัญที่สุด เราจะมองเขาอย่างอิจฉาหรือ? เราจะวัดคนด้วยสมบัติที่มี ทั้ง ๆ ที่อาจมีอย่างไร้ศักดิ์ศรีหรือ?

ในภาพยนตร์ Catch me if you can ตำรวจได้บอกกับคนร้ายเจ้าเล่ห์เมื่อกลับใจ ว่าสิ่งหนึ่งที่เขาน่าดีใจ คือเมื่อเขากลายเป็นสุจริตชนแล้ว แม้ไม่ร่ำรวยเหมือนตอนเป็นคนโกง คือ “ไม่มีใครเฝ้าตามจับเขา เขามีเสรีภาพ” ทำให้ผมเห็นว่า เสรีภาพมีค่าจริงๆ ทำให้เราไปไหนมาไหนได้เต็มที่ ชื่นชมกับพระพรพระเจ้าได้ทุกสถานที่ ด้วยศักดิ์ศรีที่น่าภาคภูมิใจ การต้องหลบๆ ซ่อนๆ จึงเป็นการสูญเสียพระพรมากมายในชีวิต

ไทยเราได้รอดพ้นวิกฤตมา ผมขอระลึกถึงท่านอดีตรัฐมนตรีคลัง คุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ที่ได้เลือกเดินทาง “วินัยทางการเงิน” เพื่อฟื้นฟูเครดิตของประเทศ จนเราฟื้นเร็วกว่าอินโดฯ และฟิลิปปินส์ ซึ่งในบางธนาคาร NPL วิ่งไปถึงกว่า 90% และบัดนี้ เอกชนก็ยังกู้เงินได้ยากมาก ไทยเราฟื้นตัวเร็วกว่ามากครับ ช่วยกันรักษาศักดิ์แผ่นดินธรรม แล้วแผ่นดินจะเป็นทองครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น