xs
xsm
sm
md
lg

Hostile Take Over

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงเกือบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีคำศัพท์ทางธุรกิจอยู่คำหนึ่ง ที่เป็นที่พูดถึงกันมาก และพูดถึงกันบ่อย นั่นคือ hostile take over ซึ่งหากเปิดหาความหมายศัพท์ใน dictionary แล้ว คำว่า hostile จะมีความหมายว่า ที่เป็นศัตรูกัน ที่เป็นปรปักษ์ ที่ไม่เป็นมิตร ที่ไม่ต้อนรับขับสู้ ซึ่งฟังแล้วดูน่ากลัว และรู้สึกว่าช่างรุนแรงเหลือเกิน

ส่วนคำว่า take over ก็คือ ยึดอำนาจ รับช่วง เข้าครอบครอง รับมอบตำแหน่ง โดยสรุปแล้ว ทางธุรกิจโดยมาก จะเรียกว่าเป็นการเข้าครอบครองกิจการ หรือหากให้ดูเป็นทางลบหน่อย ก็จะเรียกว่า ครอบงำกิจการ ฟังดูแล้วก็รู้สึกเป็นเงามืดยังไงพิกล

จากรายการล้าน 7 เศรษฐกิจ ที่ดิฉันรับหน้าที่พิธีกร [ทุกคืนวันอาทิตย์ใกล้ๆ เที่ยงคืน (แอบโฆษณา)] และจาก email ที่แฟนของคอลัมน์ Personal Finance ใน “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ” ส่งเข้ามา จะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่อง hostile take over ว่าตกลงคืออะไรกันแน่ และก็มีคำถามเพิ่มเติมไป ว่าเริ่มสับสนว่า ควรจะเอาธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ เพราะฟังข่าวสารทั้งหลายแล้ว เหมือนกับว่า ถ้าเอาธุรกิจเข้าตลาดฯ เจ้าของก็ต้องทำใจว่า พร้อมที่จะถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่นได้

คำถามเหล่านี้ หากดิฉันจะตอบเองก็คงจะตอบแบบแนวกว้าง เพราะไม่ใช่ผู้ที่รู้สึกเกี่ยวกับเรื่องตลาดทุนดีนัก จึงขอนำข้อมูลที่ได้จากการเชิญ ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัทหลักทรัพย์
กรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะขอเรียกว่า “คุณชาย” โดยได้ไปเป็นแขกรับเชิญในรายการล้าน 7 เศรษฐกิจของดิฉันเมื่อวันอาทิตย์ 25 กันยายน ที่ผ่านมา โดยได้พูดเรื่องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และได้มีการพูดเรื่องดังกล่าว จึงขอนำมาถ่ายทอดในวันนี้

คุณชายบอกว่า hostile take over จริงๆ ก็คือ การเข้าไปครอบครองกิจการโดยไม่ทันตั้งตัว หรือไม่เป็นมิตรอย่างที่เราแปลๆ กัน ซึ่งเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นที่มีอยู่ในตลาดฯ เพื่อให้ได้จำนวนมากพอเท่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้สามารถเป็นผู้บริหารกิจการได้

คุณชายบอกว่า กรณีเหล่านี้ เกิดขึ้นมากในต่างประเทศ แต่โดยมากคือ การที่ผู้ถือหุ้นอาจจะมีความไม่พอใจในผลงานของผู้บริหารเดิม และต้องการเปลี่ยนทีมผู้บริหาร ก็อาจจะมีความต้องการล้มทีมเดิม โดยเข้าไปไล่ซื้อหุ้นเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการบริหาร หรือเป็นการปลดผู้บริหารเดิมออกเพื่อบริหารเอง เป็นต้น แต่ประสบการณ์ในเรื่องที่มาเกิดในประเทศเราที่เป็นที่ฮือฮา มีความแตกต่างในกรณีของต่างประเทศ คือ การที่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นเดิมเข้ามาถือหุ้นใหญ่ โดยซื้อหุ้นล็อตใหญ่ในเวลาเดียวกัน โดยผู้ถือหุ้นเดิมไม่ทราบมาก่อน

มาในคำถามต่อไปว่า การที่บริษัทหรือเจ้าของเดิมนำผู้ถือหุ้นเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะต้องเตรียมทำใจที่จะสูญเสียสิทธิ์ในการบริหารจัดการธุรกิจเลยหรือไม่

กรณีนี้คุณชายก็ได้พูดไว้ว่า การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้บริษัทนั้นๆ แข็งแรงขึ้น มีโอกาสขยายธุรกิจได้มากขึ้น ทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจออกไปได้ นอกจากนั้นการดำเนินธุรกิจก็จะเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีความโปร่งใส มีการตรวจสอบ มีการวัดผลงานกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยหากไม่ระดมทุนแล้วก็อาจจะเสียโอกาสในการเติบโตไป

แต่การจะต้องทำใจว่าสักวันจะสูญเสียความเป็นเจ้าของคงไม่ใช่ หรือการที่มองว่าเมื่อเอาบริษัทเข้าตลาดแล้วเหมือนกับตีหัวเข้าบ้าน คือเจ้าของก็จะรวยแล้วปล่อยภาระเป็นของผู้ถือหุ้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะดิฉัน (อันนี้ไม่ใช่คุณชายนะคะ) เห็นว่าเจ้าของกิจการมากมายที่ต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพอใจและคุ้มค่า

คุณชายให้ความเห็นว่า หากจะระดมทุนเข้าตลาด แต่ขณะเดียวกันเจ้าของก็ต้องการมีความมั่นใจในสิทธิ์เสียงของตน ก็ควรจะถือหุ้นอยู่ระดับ 51% และหมั่นดูแลหุ้นของตนว่าอยู่ในมือใครบ้าง ก็คงจะอยู่รอดปลอดภัย

หวังว่าท่านผู้อ่านและผู้ที่ถามคำถามเข้ามาคงจะได้รับข้อมูลเพียงพอที่ต้องการนะคะ และขอขอบคุณ
ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา ที่กรุณาอนุญาตให้นำบทสัมภาษณ์บางส่วนมาลงในครั้งนี้

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น