xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนแห่งการสร้างสันติ (2) : ไฟย่อมไม่สามารถดับได้ด้วยไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ด้วยหลักการว่า “ความรักและความสัมพันธ์มีค่าพอให้คืนดีเสมอ” ผมจะเสนอเทคนิค 7 ประการในการสร้างสันติ จากหนังสือ Purpose Driven Life ซึ่งเขียนโดย Rick Warren ได้แนะนำว่าในการฟื้นฟูความรักและสันติสุขในครอบครัว ในการทำงาน หรือกับใครก็ตามที่เรามีปัญหากันอยู่ นั้น มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

1.อธิษฐานกับพระเจ้าก่อนจะพูดคุยกับคนนั้น: เพราะพระเจ้าผู้ทรงเป็นความรักอาจจะเปลี่ยนแปลงใจท่าน หรือเปลี่ยนแปลงใจของเขาโดยที่ท่านไม่ต้องทำอะไร

ผมเคยมีประสบการณ์จริง ซึ่งเมื่อเราพึ่งตนเองไปคุยกับผู้ที่เรามีความขัดแย้ง ความคิดเอาตนเองเป็นหลัก (Self-Centeredness) และทิฐิมักจะยังสูง แม้เราพยายามข่มความโกรธด้วยตนเอง เมื่อเห็นความคิดแตกต่างอีก เราก็อาจมีอารมณ์โกรธ จนไม่สามารถนำไปสู่การพูดคุยอย่างสันติได้

แต่เมื่อผมได้มีโอกาสอธิษฐานพระเจ้า ได้นึกถึง
๑) ความถ่อมที่พระองค์ทรงมาประสูติในรางหญ้า

๒) ความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราทุกคน จนถึงขั้นทรงสละชีวิตเพื่อไถ่เราทุกคนจากความบาป และ
๓) พระทัยสูงส่งที่ได้ทรงอดทนแน่วแน่ที่จะรับผลของความบาปความโกรธของมวลมนุษย์บนไม้กางเขนและยังทรงได้อธิษฐานช่วงสุดท้ายว่า "โอพระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดอภัยโทษเขา เพราะว่า เขาไม่รู้ว่า เขาทำอะไร" และผมก็พึ่งพาความรักของพระองค์ในการพูดคุย ซึ่งมักจะช่วยให้เกิดสันติอยู่เสมอ

2.เป็นฝ่ายเริ่มคืนดีก่อนเสมอ: ไม่ว่าเราจะเป็นผู้กระทำ (Offender) หรือ ผู้ถูกกระทำ (Offended) พระเจ้าประสงค์ให้เราเป็นผู้ริเริ่มสร้างการคืนดี

คนไม่น้อยที่เมื่อมีคนที่เราไม่รู้สึกรัก ก็มักจะแก้ไขปัญหาโดยคิดว่า “ฉันไม่ยุ่งกับเธอก็ได้ อย่ามายุ่งกับฉันก็แล้วกัน” ราวกับกลัวว่าจะมีความสัมพันธ์กันอีก หากเป็นเช่นนั้นในครอบครัวก็เป็นทุกข์ และใจเราก็ไม่เป็นสุข หากเป็นเช่นนั้นในการทำงาน ก็ทำให้ไม่เกิดพลัง แต่การคืนดีจะนำไปสู่สันติสุข ความสามัคคี และพลังแห่งความรักในที่สุด

3.รับ “ฟัง” เขาด้วยความเข้าใจ: พยายามใช้ “หู” มากกว่าใช้ปาก ในความคิดที่แตกต่าง เรามักจะเตรียมปากไปพูด แต่วิธีที่ดีกว่าคือการรับฟัง ด้วยหูและด้วยใจ เพื่อเข้าใจ “เขา” ให้มากกว่าเพียงคิดแต่ตัวเราเองเป็นหลัก

4.สารภาพเรื่องที่เราอาจมีส่วนเป็นฝ่ายผิดในความขัดแย้งนั้น: หลังจากที่มีการฟังเพียงพอ เมื่อเราจะเริ่มพูด น่าจะมีโอกาสทบทวนส่วนของเราเองว่ามีอะไรที่ทำให้เขาไม่พอใจได้ มีข้อพระคัมภีร์ว่า “เหตุไฉนท่านจะกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ให้เราเขี่ยผงออกจากตาของเธอ’ แต่ที่จริงไม้ทั้งท่อนมีอยู่ในตาของท่านเองให้เอาออกเสียก่อน”

คำถามที่มักจะใช้ได้บ่อยๆได้แก่ “เราเป็นปัญหาหรือไม่” “เรารู้สึกมากเกินไป (too sensitive) หรือไม่” หรือ “เราไม่รู้สึกเกินไป (too insensitive) หรือไม่”

5.โจมตีปัญหา (ถ้ามี) ไม่ใช่โจมตีคนนั้น: เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หากมัวแต่ต้องแก้ข้อกล่าวหากันและกัน หากเห็นส่วนของปัญหา มุ่งตำหนิ “การกระทำ” ที่เราเห็นว่าไม่ถูก อย่าให้เป็นการตำหนิตัวบุคคล จะได้ไม่เกิดอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจกัน ใช้คำพูดที่ประกอบด้วยปัญญา ดังข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ผู้ชาญฉลาด เป็นผู้มีความเข้าใจดี และวาจาที่แช่มชื่นก็เพิ่มอำนาจการสั่งสอน”

6.ร่วมมือให้มากที่สุด: อาจารย์เปาโลสอนว่า “จงทำทุกวิถีทางในส่วนของท่าน เพื่อจะอยู่ร่วมกันกับทุกคนอย่างสันติ” การสร้างสันติมีราคา อาจเป็นความรู้สึกทะนง และแทบทุกครั้งจะกระทบความเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง (Self-Centeredness) การให้ความร่วมมือเป็นหัวใจของการทำงานเป็นทีมอย่างสันติ

7.มุ่งการคืนดี ไม่ใช่การบังคับให้เห็นตรงกัน: เป็นไปไม่ได้ที่จะคาดหวังว่าทุกคนจะเห็นตรงกันในทุกเรื่อง การมุ่งคืนดีทำให้ใจจดจ่อที่ความสัมพันธ์ แต่การบังคับให้เห็นตรงกันทำให้ใจจดจ่อที่ปัญหา เมื่อเรามุ่งความสัมพันธ์ ปัญหาจะลดความสำคัญลงจนมักกลายเป็นไม่สำคัญ ผมชอบคำสอนที่ว่า “เรายอมรับความแตกต่างกันได้ โดยไม่ต้องแตกแยก”

ในสถานการณ์ขณะนี้ ผมเชื่อว่า “ไฟย่อมไม่สามารถดับได้ด้วยไฟ” และ “ไม่มีความไม่ชอบธรรมใด ที่ทำให้การตอบโต้โดยไม่ชอบธรรม ชอบธรรมได้” ขณะที่คนร้ายต้องถูกจับกุม คนไทยทุกคนพึงรักกัน ไม่แบ่งฝ่าย ให้รู้สึกอบอุ่นใจเสมอ ถ้าเราไม่รักกัน มารซาตานจะเป็นผู้ชนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น