xs
xsm
sm
md
lg

2 หุ้นใหญ่จะเข้าตลาดฯ : หวังว่าคิดกันรอบคอบแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ผมเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยกำลังจะมีข่าวดี คือมีหุ้นขนาดใหญ่เข้ามาอีก 2 หุ้น คือ กฟผ. กับ ไทยเบฟ ผมทราบว่าทั้ง 2 กรณี มีประเด็นร้อนต้องพิจารณา ผมขอเปิดเผยด้วยว่า บริษัทของผม อาจมีส่วนร่วมบางส่วนในการร่วมเสนอขาย แต่ผมเชื่อว่า ผมจะขอเสนอความเห็นในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ดังนี้

1.การเข้าตลาดฯ เป็นประโยชน์ต่อหลายฝ่าย ตลาดทุนที่ใหญ่ขึ้น จะสามารถยกระดับตลาดหุ้นไทยให้เป็นที่สนใจในตลาดโลกมากขึ้น น้ำหนักของตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้หุ้นไทยมีสัดส่วนในดัชนีสำคัญๆ เช่น MSCI มากขึ้น และเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ จะเข้ามาในประเทศมากขึ้น ผู้ออมเงินต้องการลงทุนที่เสี่ยงน้อย แต่ไม่อยากได้เพียงดอกเบี้ยเงินฝาก 1-2% เท่านั้น ก็มีทางเลือกมากขึ้น ฯลฯ

2.กรณี กฟผ. ผมมีหลักการว่า ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าบางโรง ซึ่งไปแข่งขันกันแบบเอกชนต่อไป คล้ายกรณี บมจ. ผลิตไฟฟ้า หรือ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ก็น่าจะกระจายหุ้น จนภาครัฐถือต่ำกว่า 50% (ซึ่งจะกลายเป็นเอกชน) เพื่อให้หนี้ไม่เป็นหนี้ภาครัฐอีกต่อไป และเป็นกิจการเยี่ยงเอกชนได้ เพราะไม่มีอำนาจผูกขาด อย่างที่ได้ทำไป

แต่ถ้าเป็นทั้ง กฟผ. ภาครัฐยังควรถือไม่ต่ำกว่า 70% (ยังคงสภาพรัฐวิสาหกิจ) เพื่อมีการควบคุมที่ถาวร เพราะยังเป็นศูนย์กลางผูกขาดระบบส่งไฟฟ้าอยู่ด้วย ทั้งนี้ ต้องมีการจัดอำนาจการควบคุม และกำกับ โดยรัฐอย่างอิสระ เพื่อไม่ให้เป็นการโอนอำนาจผูกขาดให้แก่ภาคเอกชน อันอาจให้อำนาจดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคได้ ในครั้งนี้ ผมจึงคิดว่า น่าจะไม่มีปัญหา เพราะได้มีการพิจารณาไม่แปรเป็นภาคเอกชน และมีกลไกกำกับดูแลโดยรัฐเรียบร้อยแล้ว

3.กรณี ไทยเบฟ ผมก็มีหลักการว่า เรายังควรต่อต้านการดื่มสุราเมามาย ต่อต้านการเมาแล้วขับรถ สนับสนุนให้อดเหล้าเพื่อแม่ (รวมถึงเพื่อพ่อ พี่น้อง ตัวเอง เพื่อนๆ และชาวโลกด้วย) สอนลูกหลานไม่ให้ดื่มเหล้า หรือสิ่งเสพติด แต่ผมก็ยังคิดว่า เรื่องนำหุ้นกิจการแอลกอฮอลเข้าตลาดฯ เป็นคนละเรื่องกัน

•แม้เราไม่อยากเห็นการดื่มเหล้ากัน แต่ถ้าเรายอมรับว่า คงห้ามขายห้ามดื่มกันเสียเลยไม่ได้ (ผมได้
ยินว่าเคยลองในอเมริกาช่วงปี 1920 แล้วมีปัญหามากขึ้น ทั้งเหล้าเถื่อน ตลาดมืด และอิทธิพลมากมาย) ก็อาจให้มีกิจการค้าขายสุราได้ แต่รัฐต้องควบคุม

•ไม่ควรให้แข่งขันเสรี เพราะจะทำให้มีการส่งเสริมการดื่มเหล้ามากมาย ก็ควรให้ผูกขาด ไม่แข่ง
กันเกินไป

•เมื่อรัฐไม่น่าจะเป็นผู้ขายสุราเอง ก็ควรให้เอกชนดำเนินการ
•แต่การผูกขาดให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการ ก็น่าจะให้ผู้ประกอบการประมูล เพื่อหาผู้ที่จะให้
ผลประโยชน์แก่รัฐดีที่สุด เป็นผู้ดำเนินการอย่างโปร่งใส

•กิจการนั้นทำกำไรได้ดี มีศักยภาพ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้ออม หรือลงทุน ร่วมลงทุนด้วย เพื่อ
กระจายโอกาสในการเป็นเจ้าของกิจการ (แต่กิจการก็ยังดำเนินการภายใต้การควบคุมโดยรัฐ การรณรงค์โดยทุกฝ่าย ไม่ให้ดื่มเหล้า การจำกัดการโฆษณาเหล้า ฯลฯ มิได้ส่งเสริมให้คนกินเหล้าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด)

แม้จะดูเข้าใจยากเล็กน้อย แต่ผมว่า ถ้าเราแยกแยะให้ดี ส่วนที่จะต่อต้านการดื่มเหล้า ก็ต่อต้านไป (ผมก็ยินดีร่วมด้วย) ส่วนที่จะกระจายการถือหุ้น ซึ่งประกอบกิจการนี้อย่างมีการควบคุม ก็ยังสร้างประโยชน์ได้ โดยไม่เสียอะไรเพิ่มขึ้น ก็น่าจะทำได้

หากไม่เช่นนั้น หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก็อยากได้หุ้นไทยเบฟไปจดทะเบียนที่นั่น กิจการก็ระดมทุนได้เหมือนเดิม ดำเนินธุรกิจเหมือนเดิม แต่ตลาดหุ้นไทยก็เสียโอกาส ที่จะสร้างความน่าสนใจมากขึ้น เสียโอกาส ที่จะระดมเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น อันอาจกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้ (ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ใช่แลกกับการที่คนจะดื่มสุรามากขึ้น เพราะเป็นเช่นนั้น ผมก็ไม่เห็นด้วย)

ในด้านศีลธรรม ผมว่า บริษัททำไก่ ทำอาหารทะเล ผมรับได้ บริษัทค้าอาวุธสงคราม ผมรับไม่ได้ บริษัทโจรขโมยของ ผมรับไม่ได้ บริษัทค้าประเวณี ผมรับไม่ได้ บริษัทรับโกหก ผมรับไม่ได้ บริษัทค้าสุรา พอรับได้ ถ้ามีการควบคุมการบริโภคเป็นปกติอยู่แล้ว

ในครั้งต่อๆไป หากมีประเด็นที่น่าแลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มเติม ผมจะได้ขยายความเพิ่มเติมครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น