xs
xsm
sm
md
lg

การฝากขายบ้านมือสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ก่อนอื่น ดิฉันต้องขอโทษท่านผู้อ่านที่คอลัมน์อาจจะขาดไปเป็นครั้งคราว เช่นสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งโดยมากอาจจะเกิดจากเหตุหลักๆก็คือ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือบางครั้งจะมีงานยุ่งมากระหว่างสัปดาห์ ทำให้ไม่มีเวลาเขียนบทความ เพราะโดยมากบทความของดิฉันจะ “สด” มาก คือจะส่งต้นฉบับให้ทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการประมาณ 5 โมงเย็นวันพฤหัส เรียกว่าพอส่งเสร็จก็เข้าแท่นพิมพ์เลย ก็คงต้องขอออกตัวว่าดิฉันไม่ใช่นักเขียนอาชีพ ดังนั้นเวลาจะเขียนแต่ละครั้งก็ต้องตั้งสติและต้องการเวลาพอสมควร อย่างไรก็ตามดิฉันพยายามที่จะเขียนให้ได้ทุกสัปดาห์ เนื่องจากมีความคิดถึงท่านผู้อ่าน และบางครั้งเห็นอะไรหรือทราบอะไรมาก็อยากจะเล่าสู่กันฟัง

ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2548 ดิฉันได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง “มหกรรมบ้านมือสองแห่งชาติ” และเขียนไว้ว่าสำหรับงานดังกล่าวแล้ว ไม่ใช่เป็นงานสำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อบ้านอย่างเดียว แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะขายบ้านก็สามารถจะไปพบกับบริษัทที่ทำธุรกิจนายหน้า (broker) เพื่อตกลงเจรจาฝากขายบ้านได้ ซึ่งเมื่อบทความได้ออกไปแล้วก็จะมี e-mail จากผู้อ่านเข้ามาเป็นระยะๆ ซึ่งโดยมากก็จะสนใจถามถึงการที่ต้องการจะขายบ้านของตนเองว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้นดิฉันจึงขอสรุปคร่าวๆ ดังนี้นะคะ

งานดังกล่าวคือ งาน”มหกรรมบ้านมือสองแห่งชาติ” จะจัดขึ้นวันที่ 9-11 กันยายน 2548 ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะมีบริษัทตัวแทนนายหน้าชั้นนำ 33 บริษัท นำบ้านมือสองกว่า 20,000 หลังมาเสนอขาย หากท่านใดต้องการข้อมูลเพื่อซื้อบ้านมือสองสามารถเข้าไปสืบค้นได้ที่ www.reic.or.th ตั้งแต่บัดนี้

หรือถ้าต้องการฝากขายบ้านของท่านเองก็ฝากขายได้ในเว็บไซต์เดียวกัน และถ้าต้องการฝากขายผ่านตัวแทนนายหน้าก็ติดต่อบริษัทที่มาร่วมแสดงในงานมหกรรมได้ ถ้าติดต่อตกลงได้ก่อนหน้าวันงาน ทางบริษัทนายหน้าก็จะสามารถนำบ้านท่านเสนอขายในงานได้ทัน เพราะบริษัทต่างๆต้องการเตรียมตัวในการนำเสนอสินค้าเหมือนกัน

แต่ถ้าหากท่านไม่ได้หวังผลจากการขายบ้านในงาน ท่านก็สามารถเข้าไปที่งานและเลือกบริษัทที่ท่านดูแล้วพอใจ ซึ่งเมื่อเจรจาตกลงกันได้ บริษัทที่ท่านเลือกก็อาจจะเริ่มขายให้หลังวันงาน

การฝากขายบ้านกับบริษัท broker นั้น โดยมากก็จะมีหลักเกณฑ์ที่ท่านควรจะทราบก็คือ บริษัทโดยมากจะขอ exclusive คือ ขอเป็นผู้ดำเนินการขายเพียงผู้เดียว ในระยะหนึ่งเช่น 3 เดือน 6 เดือน ไม่ใช่บริษัทก็ขาย เจ้าของก็ขาย เพราะจะตัดปัญหาคือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่บริษัทจะต้องลงทุนไป เช่นการทำป้ายโฆษณา การดูแลทรัพย์สิน การอบรมพนักงานขายเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นๆ นับเป็นทุนที่ broker ได้ลงไป แต่วันดีคืนดีเกิดมีคนเดินมาเห็นป้ายขายบ้านแล้วไปติดต่อเจ้าของบ้านโดยตรง จุดนี้มักจะเป็นปัญหาคือ เจ้าของบ้านจะบอกว่าฉันขายได้ ไม่ใช่ broker ก็จะเป็นเรื่องราวกัน นอกจากนั้นเรื่อง commission ระหว่างเจ้าของบ้านกับ broker ควรจะตกลงกันในรายละเอียดว่า มีการคิดจากอะไร จะมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกหรือไม่ ทั้งหมดแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และประการสุดท้ายคือเงื่อนไขระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้จะซื้อ เรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าโอน ค่าภาษี ใครจะเป็นผู้จ่าย

ดังนั้น ก่อนจะตกลงมอบหมายให้ขาย ควรจะคุยในหลักการต่างๆให้เสร็จสิ้นก่อน และที่ดิฉันอยากจะเรียนให้ทราบคือ ทั้งสองฝ่ายควรต้องเคารพกฎกติกา เพราะปัญหาเดิมๆในระบบ broker หรือนายหน้าของเราก็คือ เกิดการ “เบี้ยว” กัน ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง ทำให้ระบบนายหน้าของเรายังไม่ไปถึงไหน กระทรวงการคลังจึงได้ลงมาช่วยสร้างความเชื่อถือ และพัฒนาระบบการซื้อขายบ้านมือสองขึ้น

ดิฉันเห็นว่างานนี้น่าสนใจ เพราะไม่ใช่เป็นการนำทรัพย์สินออกมาขายอย่างเดียวเหมือนงานอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป แต่น่าจะไปดูว่าระบบ broker ของเราพัฒนาไปได้มากแค่ไหน ซึ่งในช่วงดังกล่าวดิฉันจะไม่อยู่ แต่ก็มอบหมายให้ทีมงานรายการเศรษฐกิจทางโทรทัศน์ของดิฉันติดตามแล้วมาเล่าสู่กันฟัง แต่ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” หากว่างๆ ก็อยากจะให้ท่านผู้อ่านลองไปสัมผัสดู ดิฉันคงยังบอกไม่ได้ว่าจะออกมาดีแค่ไหน เพราะเป็นครั้งแรก แต่เท่าที่ทราบ broker ต่างๆก็เตรียมสินค้ามากระหน่ำกันแบบไม่ยอมแพ้ใครเลย

หมายเหตุ:- สำหรับรายชื่อและหมายเลขที่จะติดต่อกับบริษัท broker ต่างๆที่จะเข้ามาร่วมงานนั้น ดิฉันกำลังขอข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้อยู่นะคะ

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น