xs
xsm
sm
md
lg

เทศกาลวันแม่ กับบทเรียนความรักความสามัคคี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ในโอกาสที่เดือนสิงหาคม เป็นเดือนที่เราจะได้ระลึกถึงวันสำคัญคือ “วันแม่แห่งชาติ” ผมขอระลึกถึงความห่วงใย และคำสอนขององค์สมเด็จพระราชินี ต่อเรื่องความรักความสามัคคี และความสงบสุขทั่วกันของพสกนิกรไทย รวมถึงพี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนถือโอกาสระลึกถึงคำสอนของคุณแม่ วรรณภา ศรไพศาล ดังนี้

1.“พ่อแม่จะสบายใจที่สุด ที่รู้ว่าพี่น้องรักกัน” เราพี่น้อง 5 คน ได้รับการสั่งสอนมาอยู่เสมอ ให้รักกัน ห่วงใยกัน พ่อแม่จะพร่ำสอนไม่ให้โกรธกัน หรือมีปัญหาต่อกัน เรารู้ว่า เมื่อใดที่เราเริ่มไม่รักกัน แข็งกระด้างต่อกัน พ่อแม่ก็ไม่เป็นสุข เราพี่น้องชาวไทย จึงพึงรักสามัคคี เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญดังพ่อแม่ของปวงชนชาวไทย ได้ทรงมีความสุข และความสบายพระทัย

2.“สิ่งที่เราต้องระวัง คืออย่าให้คนอื่นมาทำให้พี่น้องแตกแยก” เราจะสังเกตเด็กๆ ได้ทุกครอบครัว บางครั้งเด็กภายนอกอยากได้ของเล่นของพี่น้องเรา ก็จะเข้ามาเอาใจคนหนึ่ง และเข้าข้าง ให้โกรธกับอีกคนหนึ่ง แล้วเขาก็ได้เล่นของเล่นนั้น เพราะพี่น้องเราบางคน ไปหลงเชื่อเขาในช่วงนั้น

กับปัญหานี้ พ่อแม่ก็เตือนให้เราทุกคนรักกัน เราจะต้องไม่ทำให้บุคคลภายนอกทำให้พี่น้องกัน ไม่รักกันได้ ถ้ามีพี่น้องคนใดไปหลงเชื่อคนยั่วยุภายนอก เราต้องอดทน ใช้ความรัก ทำความเข้าใจกัน ผมชอบที่ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน กล่าวถึงว่า

พี่น้องชาวไทยแต่ละคน อาจมีเชื้อชาติต่างกัน บางคนมาจากจีน ลาว ขอม มลายู ฝรั่ง ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่เราเป็น “คนไทย” เหมือนกัน จึงพึงรักกัน และมีท่าทีที่แสดงความรัก และรักษาความเป็นธรรมต่อกันเสมอ และผมดีใจ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสมานฉันท์ ควบคู่กับมาตรการรักษาความปลอดภัยในภาคใต้

3.“กับปัญหาเศรษฐกิจ ความสามัคคี ร่วมใจทำงานหนักโดยสุจริต เพื่อสร้างคุณค่า เป็นทางออกเสมอ” นอกจากปัญหาความไม่สงบที่เรามีในช่วงนี้ ผมสัมผัสได้ ถึงความเริ่มรู้สึกกังวลด้านเศรษฐกิจ ในภาวะน้ำมันแพง หรือสินค้าแพงเช่นนี้ มีความหมายโดยปริยาย ว่าเราจนลง ในสภาวะที่น้ำมันดิบในตลาดโลกแพง เพราะมีจำกัด และโลกมีความต้องการสูง ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวใด จะแก้ได้หรอกครับ เราต้องช่วยกัน

ทุกครั้งที่ผมเห็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผมมักจะนึกถึงรุ่นพ่อแม่ของเรา เราทราบมาว่าเด็กๆ แม่ขายก๋วยเตี๋ยว และเรียนหนังสือพิเศษภาคค่ำ เพื่อใช้สอบเทียบ แม่ก็เล่าให้ฟัง ว่าก่อนคุณพ่อเสียชีวิตไป พ่อทำงานหนัก จากการเป็นลูกจ้างร้านค้า ขายของในต่างจังหวัด จนเปิดร้านค้าของตนเอง

พ่อแม่เลี้ยงดูลูกๆ มาอย่างลำบาก ลูก 5 คน อยากเรียนสูงๆ พ่อแม่ก็ไม่ต้องการให้ใครออกมาช่วยงานที่ร้าน พ่อแม่อดทนมาก ตอนที่ค้าขายฝืดเคือง แม่ก็ไปซื้อเสื้อผ้ามาขายเพิ่มเติม พ่อแม่ของเรายากจนกว่าเรา ท่านเผชิญปัญหายากกว่าเรา แต่เราเห็นท่านต่อสู้ปัญหาอย่างสุขใจ เสมือนว่า เมื่อได้ทำเพื่อลูกๆ ท่านจะมีความสุข และความภาคภูมิใจ และท่านก็ทำให้ลูกๆ ทั้ง 5 คน ได้เรียนจนจบคณะแพทยศาสาตร์ หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กันทุกคน

ในสภาวะความหวั่นไหวเช่นนี้ ถ้าเราเลือกจะใช้ชีวิตที่ง่าย ทำงานน้อยต่อไป และประหยัดมากขึ้น ก็คล้ายกับว่าเรา “ยอมแพ้” เพราะอารมณ์หดหู่ของเรานั่นแหละ ที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา ผมประทับใจในรุ่นพ่อแม่ ที่ไม่เลือกใช้ชีวิตที่ง่าย ทำงานให้น้อย

แต่พ่อแม่ได้เลือกที่จะทำงานหนักขึ้นเพื่อเรา และส่งผลให้เรามีการศึกษาที่ดี และสามารถมีฐานะที่ดี เลี้ยงดูตนเอง และครอบครัวมาได้อย่างดี เราเองก็ได้เรียนรู้ที่จะทำงานหนักอย่างมีความสุข สนุกกับงาน และให้ความรัก และพร้อมแบ่งปันกับทุกคนรอบข้าง ทำให้ชีวิตที่ทำงานหนัก มีความหมาย และมีความสุข

ผมไม่ได้ประสงค์จะเสนอเรื่องนี้ ให้เกิดการเปรียบเทียบตัวบุคคล แต่เชื่อว่า การกระทำของพ่อแม่เพื่อลูกด้วยความรัก เป็นสิ่งที่น่าประทับใจ ซึ่งเราเรียนรู้กันได้ทุกคน และเมื่อเรามองชีวิตท่าน ที่ได้ผ่านความลำบากมาได้อย่างสุขใจ เราก็จะมีกำลังใจ สู้ปัญหาอย่างเต็มที่ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น