xs
xsm
sm
md
lg

รับมือเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ข่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ดิฉันจะถูกตั้งคำถามบ่อยในช่วงนี้ ว่ามองเศรษฐกิจอย่างไร และคิดว่าควรจะปรับตัวอย่างไร รับสภาวะการณ์ของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งดิฉันมักจะออกตัวอยู่เสมอๆ ว่าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ และไม่ใช่กูรู หรือผู้รู้ ในด้านนี้ แต่เป็นผู้ที่ทำงานธนาคาร ซึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่า อยู่ในภาคสนาม ซึ่งจะสัมผัสกับบรรยากาศจริง และตัวเลขที่พอจะทำให้ประเมินสถานการณ์ตามที่เห็น ที่ได้ยิน และที่สัมผัส

หากจะตอบคำถามว่า มองสภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ดิฉันคงจะตอบโดยเปรียบเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2541 หรือ 2542 ได้ ว่าไม่เหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่า มีคนอีกมาก ที่ยังเข็ดขยาด และยังถูกหลอกหลอนจากปัญหาเศรษฐกิจ และผลกระทบ

ซึ่งน่าจะเรียกว่าผลกระแทก หรือกระอะไรที่แรงกว่ากระแทก จนเกิดอาการกระอัก ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยลบ เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น ทั้งที่ยังไม่ได้มีการปรับจริงทั้งระบบ ก็เกิดความวิตก และพูดกันไป ว่าจะเกิดวิกฤตเหมือนในปีดังกล่าว ยิ่งพูดกันไปต่างๆ นาๆ ก็กลายเป็นการตอกย้ำ และสร้างความหวาดกลัว หรือฝรั่งเรียกว่า panic

เรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น หากมองย้อนหลังไป จะพบว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ความจริง ยังช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ที่แต่เดิม คิดว่าจะขึ้นตั้งแต่ต้นปี และมองกันว่า การขึ้นทั้งปี ไม่น่าจะเกิน 1% แต่ก็มาเริ่มขึ้นประปรายในไตรมาสที่ 3 และการขึ้น ก็เป็นไปตามสภาวะ ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์พิเศษเช่นในอดีต ที่สภาพคล่องหายไปจากระบบ จนต้องระดมเงินฝากกันขนานใหญ่

ทำให้อัตราดอกเบี้ยถีบตัวขึ้นเกือบ 10% ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน แต่การค่อยๆ ปรับในครั้งนี้ จะเกิดจากสภาวะของกลไกของตลาด คือหากเศรษฐกิจยังไปได้ ก็จะมีความต้องการใช้เงิน ก็จะกู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ต่างๆมาระดมเงิน เงินก็จะลดลงจากตลาด หรือเรียกว่า สภาพคล่องลดลง ก็ต้องหาเงินเข้ามาเพิ่ม โดยให้ราคา หรือดอกเบี้ย ที่สูงขึ้น

ส่วนราคาน้ำมันนั้น อาจจะบอกได้ว่า เป็นตัวเอก ที่เป็นตัวแปรของเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะปัจจุบัน ราคาได้ขึ้นไปเรื่อย โดยไม่มีที่ท่าที่จะหยุด แต่ก็ยังไม่น่าจะสาหัสเกินแก้ เพราะไม่ได้ทำให้ต้นทุนของธุรกิจทุกประเภทเพิ่มขึ้นอย่างเป็นสาระสำคัญ จะมีบางธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่บางธุรกิจ จะยังไม่ส่งผลโดยตรงนัก

ดิฉันได้ถามผู้บริหาร หรือเจ้าของสินค้าหลายๆ ประเภท พบว่า น้ำมันทำให้ต้นทุนเพิ่มอย่างเป็นสาระสำคัญ ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถชดเชยกันได้ เช่น การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อชดเชยกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ยังเป็นไปได้ เพราะเหตุการณ์ทยอยเกิดขึ้น ดังนั้น จึงกลัวค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการกลัวรายได้ที่ลดลง จากการที่คนไทยไม่ใช้จ่าย

หากจะถามว่า ควรเตรียมตัวรับมืออย่างไร ดิฉันคงขอเสนอให้ทำอย่างแรก คือขอให้เราคนไทยช่วยกัน “สร้างขวัญและกำลังใจ” ก่อน เพราะหากช่วยกันพูดว่า แย่ๆๆๆ แล้ว ยังไม่ทันทำอะไร ก็ฝ่อกันทั้งประเทศแล้ว

จากนั้น “ก็ตั้งสติ” ว่าจะต้องตัดทอน หรือควบคุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ก็อยากจะขอให้ช่วยจับจ่ายใช้สอยกันบ้าง หากยังมีกำลัง และไม่ลำบาก เพราะหากลดการใช้จ่ายกันหมด เศรษฐกิจจะยิ่งหดตัวเร็ว

นอกจากนั้น คงต้องขอฝากให้รัฐบาลหาทางสร้างขวัญกำลังใจประชาชน โดยขอให้เป็น “รูปธรรม” และเกิด "มรรคผล” เพื่อรากฐานที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งก็ได้มีการ kick off หรือก๊อกแรก ก็คือ การประกาศมาตรการในเบื้องต้น โดยจะเป็นการเพิ่มรายได้ และกำลังซื้อเป็นส่วนใหญ่ ความคาดหวังสำหรับก๊อกต่อไป คงอยากเห็นมาตรการที่ส่งผลด้านพื้นฐานด้านเศรษฐกิจจริงๆ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ก็คงขอฝากไว้ ณ ตรงนี้ ส่วนจะรับฝากหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไปนะคะ

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น