xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเบี้ยมาแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

หลังจากที่ได้เฝ้าติดตามกันมาครึ่งปีแล้วว่าเมื่อไหร่ดอกเบี้ยจะมีการปรับขึ้น เพราะแต่เดิมได้มีการคาดคะเนกันว่าน่าจะขึ้นตั้งแต่ต้นปีแล้ว ทั้งๆที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (FED) ก็ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยถึง 5 ครั้งในปี 2547 และขึ้นต่อเนื่องอีก 4 ครั้งในปีนี้ โดยขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.25% โดยมีจุดมุ่งหมายที่ตลาดคาดเดาไว้ว่าจะประมาณ 4% ในปีนี้

ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยก็ปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “R/P 14 วัน” ขึ้นมา 2 ครั้ง (มีนาคม 2548 และมิถุนายน 2548) โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% และคาดว่าอาจจะมีการปรับครั้งต่อไปในการประชุมในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยไม่ห่างกับอัตราดอกเบี้ยของ FED มากเกินไปนัก

ถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ปรับอัตราดอกเบี้ย นโยบายทั้งของสหรัฐฯและของไทยเราก็ยังไม่เห็นการขยับตัวของอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในกระเป๋าของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้มองกันว่าตกลงจะขึ้นหรือไม่ในปีนี้ แต่หากเรามองย้อนหลังในระหว่างปี จะพบว่าได้มีการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกันไปบ้างจากหลายๆธนาคารตั้งแต่ต้นปี เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จึงจะเห็นได้ว่าธนาคารต่างๆจะเริ่มหันมาสนใจการระดมเงินฝากมากขึ้นในปีนี้ ทั้งๆที่ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เงินฝากจะไม่ถูกเน้นมากนัก เพราะสภาพคล่องมีล้นเหลือ แต่ในปัจจุบันสภาพคล่องเริ่มลดลงมาก และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินมีการปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังสูงขึ้นอยู่ตลอด และสภาพคล่องในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากระดับประมาณ 5 แสนล้านบาทเมื่อตอนต้นปี

นอกจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังในการออกพันธบัตรจำนวน 2.5 แสนล้านบาท ที่จะทยอยออกมาเพื่อดูดซึมสภาพคล่อง และธปท.เองได้วางกรอบให้อัตราดอกเบี้ย R/P 14 วัน จะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะไม่เป็นการเพิ่มอย่างหวือหวามากนัก โดยน่าจะมีการปรับครั้งละ 0.25%

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะต้องตามมาแน่นอน เพราะหลักการง่ายๆก็คือ การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเป็นการเพิ่มต้นทุน ดังนั้นเพื่อรักษาระดับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม จึงต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นมาในระดับประมาณเดียวกับเงินฝาก

เขียนมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะตกใจและเกิดอาการเกร็ง โดยเฉพาะผู้ที่จะต้องมีการกู้เงินว่า จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ดิฉันก็ขอเรียนว่า อย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาเองที่มีการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงถึง 9 ครั้งแล้วในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา ก็ยังไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนมากนัก โดยเฉพาะผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งอัตราดอกเบี้ย 4% ถึง 5.5% ก็ยังมีนำเสนอในตลาด สำหรับผลกระทบของผู้บริโภคในเมืองไทยนั้น หากจะมองระยะสั้นเฉพาะปีนี้ที่เหลืออีกประมาณ 5 เดือนกว่าๆ สำหรับผู้จะซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยคงที่คงจะยังมีอยู่ในตลาด แต่อาจจะปรับอัตราบ้างเช่น จากเดิมมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ระยะเวลา 1 ปี ก็อาจจะเป็น 3.25% หรือ 3.5% หรืออาจจะถึง 4% และจำนวนปีคงจะสามารถเสนอให้แค่ประมาณ 1 ปี หากจะระยะนานกว่านั้นก็คงแล้วแต่การบริหารต้นทุนของแต่ละธนาคาร

เขียนถึงตรงนี้ก็อยากจะเรียนท่านผู้อ่านว่าเราอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปีแล้ว การอยู่ในสภาวะขาขึ้นครั้งนี้ก็เป็นไปตามสภาพหรือตามสัจธรรมว่า ของมีลงก็ต้องมีขึ้น ทั้งนี้การเป็นไปตามสภาพของเศรษฐกิจและการทำธุรกิจ ไม่ใช่เกิดจากปัญหาดังเช่นเมื่อปี 2541 หรือ 2542 จึงไม่น่าตกใจนัก แต่การเตรียมตัวไว้โดยทราบถึงสถานการณ์และแนวโน้มก็จะช่วยให้สามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพนะคะ

ข้อมูลจากฝ่ายบริหารการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น