xs
xsm
sm
md
lg

หยวน จะหยวนเมื่อไร (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (montree4life@yahoo.com)

สืบเนื่องจากบทความครั้งที่แล้ว ที่ติดตามเรื่องค่าเงินหยวน โดยผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า จีนทำสินค้าได้มีราคาถูกและคุณภาพใช้ได้ จนเป็นเหตุให้เกินดุลการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง เดือนที่แล้ว คุณแม่ซื้อกรรไกรตัดเล็บอันใหญ่ ใช้งานดีให้ผมหนึ่งอัน ราคาปลีกที่ตลาด 10 บาท Made in China ผมสังเกตว่า ค่าเหล็กก็เท่าไรแล้ว ค่าแรงอีกเท่าไร ขายได้ถูกจริงๆ

โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อผลิตเก่ง ขายเก่ง ชาวโลกจะอยากซื้อเงินหยวนมาก จะทำให้เงินหยวนแข็ง จนไปสู่จุดที่สมดุล เพราะคนอื่น (เช่น ไทย) จะได้ไม่ต้องลดค่าเงินให้อ่อนต่อไปก็ยังพอจะขายของได้

โดยการที่ค่าเงินหยวนแข็ง จะทำให้คนจีนมีรายได้เป็นสกุลเงินกลางดีขึ้น ฐานะดีขึ้น ยินดีจับจ่ายสินค้าต่างประเทศมากขึ้น ท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น การส่งออกก็ไม่ถึงกับได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มากเกินไป

แต่หากจีนไม่ยอม ก็เหมือนกับว่า เขายินดีทำงานหนัก คิดค่าแรงถูกๆ ใช้จ่ายอย่างประหยัด เพียงเพื่อขอให้ได้งานทำ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คนไทยเราที่ค่าแรงแพงกว่า ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ ที่จะทำงานหนักขึ้น ค่าแรงถูกลง เพื่อรักษางานทำเอาไว้ ดีกว่าตกงาน เพราะค่าแรงแพงโดยไม่รู้ตัว แล้วจะมาโทษคนใดคนหนึ่ง ว่าทำให้กิจการไทยแข่งขันไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ ค่าเงินต้องอ่อน บางกิจการต้องปิด บางกิจการต้องปลดคนงาน

สิ่งเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นได้อีกครับ ถ้าเราไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง เราอาจรู้สึกอึดอัดใจว่า ทำไมคนจีนถึงต้องทำงานเหมือนกับเราได้ ด้วยค่าแรงน้อยกว่าเรา จนแข่งขันส่งออกได้ดีกว่าเรา ทำให้เราลำบาก แต่ถ้าเราเองไม่ประมาท เข้าใจชาวจีนด้วยว่า เขาก้าวมาถึงจุดนี้ ด้วยความลำบาก และความสามารถที่จะอดทนต่อความลำบากได้ขนาดไหน เพื่อร่วมกันคิดต่อไป

ผมได้ดูสถิติรายได้ต่อประชากรครั้งล่าสุด ปี 2004 คนไทยอยู่ที่ 8,100 ดอลลาร์ สรอ. / คน / ปี และคนจีนอยู่ที่ 5,600 ดอลลาร์ สรอ. / คน / ปี คิดเป็น 1.45 เท่าของจีน ผมจำได้ว่า ช่วงที่ผมได้เขียนหนังสือ “ร่วมกันคิด กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ราวๆ ปี 1998 ตอนนั้น ผมได้ดูสถิติรายได้ต่อประชากรครั้ง คนไทยอยู่ที่ 3.3 เท่าของคนจีน !! โดยเปรียบเทียบแล้ว ถือว่าผิดกันเป็นเท่าตัว

ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะคนจีนโชคดีครับ สถานการณ์หลายเรื่องของเขาลำบากมากกว่าเรามาก เขามีคนกว่า 1.3 พันล้านคน ยากจนกันมาก ดูแลกันไม่ง่าย เคยอยู่กันอย่างคอมมิวนิสต์ ด้วยเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ซึ่งขาดประสิทธิภาพ เพราะกำลังขับเคลื่อนมาจากส่วนกลางเป็นหลัก คนทำงานส่งส่วนกลาง และรอรับส่วนแบ่ง

ทำให้เราได้ยินกันบ่อยๆ ในอดีตว่า “แรงงานจีน ถูกก็จริง แต่แรงงานไทยคุณภาพดีกว่า ขยันกว่า ฝีมือดีกว่า” แต่จีนก็ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลง มีทัศนคติที่ดีต่อเงินลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ยินดีใช้แรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน จนแข่งกับเราได้ มีแรงจูงใจที่จะขยัน และขยันมาก

เพราะในอดีต ไม่เคยมีรางวัลสำหรับความขยันอย่างเสรีแบบปัจจุบัน สัตย์ซื่อกับทุนที่เข้ามาลงในประเทศ จนผู้คนเข้าไปลงทุนมากมาย ช่วยกันทำงาน ช่วยกันจับจ่าย จนเป็นเศรษฐกิจที่น่ากลัวมาก เพราะด้วยขนาดของตลาด ทำให้อุตสาหกรรมที่ลงทุน จะเป็นขนาดใหญ่ ทั้งสำหรับตลาดในประเทศ และส่งออก และทำให้โตเร็วมาก

เขาประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าได้ เราอย่าเพียงแต่มองว่า เพราะเขามีจุดเด่น ผมเชื่อว่า ทุกฝ่าย รวมถึงจีน เขาก็มีจุดเด่น และจุดอ่อน ผสมกันไป ผู้ที่ชนะ คือผู้ก้าวหน้าได้ ก็พึงดูจุดที่ทำให้เด่น เสริมจุดเด่น แก้จุดด้อย หรือแปลงจุดด้อยให้เห็นเป็นโอกาส ก็ทำให้เกิดการพัฒนา

เบื้องต้น ผมเกิดแรงบันดาลใจได้บทเรียนว่า ประเทศจะก้าวหน้าได้ ไม่ใช่รวมศูนย์ เราทุกคน ไม่ควรแต่รอคอยรัฐบาล ปัญหาเป็นของเราทุกคน รัฐทำหน้าที่ของรัฐ เปิดโอกาส และสนับสนุนให้เอกชนทำหน้าที่ของเอกชนอย่างเต็มที่ แข่งขันได้ ทุกฝ่ายรักสามัคคีกัน เป็นใจหนึ่งเดียวกัน ทำหน้าที่ของตนเองให้ดี อยู่ในความดี ความขยัน ความสัตย์ซื่อ มุ่งแก้ไขปัญหา ทุกปัญหาจะมีโอกาสซ่อนอยู่

หยวน ยอมหยวนให้แข็งขึ้นได้ ดูลการค้าของโลกก็จะดีขึ้น เราก็มีแรงกดดันจากการแข่งขันน้อยลง แต่เราก็ไม่ควรแต่จะรอความหวังนโยบายของคนอื่น ผมเชื่อว่า เราก็เพียงแต่ฮึดสู้ ร่วมกัน คิดแก้ปัญหาต่อไป ก็เชื่อว่า เราก็ไม่แพ้ใครเช่นกันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น