xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนภาคเอกชนปี 2548 …ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่แวดล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ ภาพรวม มีแนวโน้มที่การลงทุนจะเป็นกลจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Investment-driven growth) คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวนำหน้ากิจกรรมเศรษฐกิจด้านอื่นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า จะช่วยชดเชยการบริโภค และรายได้สุทธิจากการส่งออกสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ที่ชะลอ

กิจกรรมการลงทุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) คาดจะมีมูลค่าประมาณ 1.98 ล้านล้านบาทปีนี้ คิดเป็นอัตราขยายตัว ณ ราคาปีฐาน 14.3% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากปี 2547 ที่คาดว่าขยาย 13.6%

สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี คาดจะสูงขึ้นอยู่ที่ 28% ปีนี้ จากที่เคยลดเหลือ 20% หลังไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ระดับปัจจุบัน ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เคยมีการลงทุนสูงกว่า 40% ของจีดีพีอยู่มาก

แรงผลักดันสำคัญ กระตุ้นภาคการลงทุนช่วงปีนี้ จะมาจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จากการดำเนินการโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ การลงทุนภาคเอกชน แม้จะมีแนวโน้มขยายตัวอัตราชะลอ แต่ยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตสูงได้ต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ ปัจจัยและอุตสาหกรรมที่ผลักดันให้เกิดการลงทุน ปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนผลทางเศรษฐกิจ ที่มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อน ดังนี้

การลงทุนภาคเอกชนปีนี้ …คาดจะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 12.5%
การลงทุนภาคเอกชน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากกิจกรรมการลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศ มาจากภาคเอกชนมากกว่า 70% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนชะลอ

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ที่ทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยาย 5.1% มกราคม ดีขึ้นเล็กน้อยจากธันวาคม 2547 ที่หดตัว 7.4% แต่เมื่อพิจารณารายไตรมาส จะเห็นว่า ชะลอตัวต่อเนื่อง จากอัตราเติบโตประมาณ 18% ใน 2 ไตรมาสแรก ปี 2547 ลงเหลือ 13% ไตรมาส 3 และ 4% ไตรมาส 4

สาเหตุการชะลอตัวค่อนข้างรุนแรงไตรมาส 4 อาจไม่ใช่เพราะภาคเอกชนชะลอแผนลงทุนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการชะลอตัวช่วงดังกล่าว ส่วนสำคัญ เกิดจากการนำเข้าสินค้าทุนหดตัว คาดเป็นผลจากภาคธุรกิจรอดูสถานการณ์ค่าเงินบาท เพื่ออาศัยจังหวะที่จะได้ประโยชน์จากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนในการนำเข้า

ค่าบาทดีดตัวกลับขึ้นอย่างรวดเร็ว นับจากช่วงต้นกันยายน 2547 ที่บาทแตะระดับอ่อนสุด 41.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กลับแข็งค่าขึ้นมที่ 38.8 บาท สิ้นธันวาคม 2547 แข็งค่าขึ้นประมาณ 7%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การลงทุนภาคเอกชนช่วงปีนี้ ยังต่อเนื่อง แม้จะเติบโตในอัตราชะลอ แต่ยังมีอัตราขยายตัวเกณฑ์ดี ภาคอุตสาหกรรม แนวโน้มขยายต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ระดับการใช้กำลังผลิตสูงขึ้น การเข้ามาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งผลกระตุ้นโครงการลงทุนภาครัฐต่อภาคอุตสาหกรรม

แต่การลงทุนก่อสร้าง คาดจะชะลออัตราเร่งกว่าภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการชะลอตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรม อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูความเสียหายจากธรณีพิบัติภาคใต้ เช่น สร้างบ้านพักชั่วคราวและถาวร ให้ผู้ประสบภัย ซ่อมแซมหรือก่อสร้างใหม่ส่วนโรงแรม รีสอร์ท และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ สนับสนุนการลงทุนได้ระดับหนึ่ง

ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน
ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 72.7% ปี 2547 ซึ่งเท่าช่วง
ก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ จะส่งผลผู้ประกอบการบางอุตสาหกรรม ต้องขยายการลงทุน เพื่อรองรับการผลิตที่ใกล้เต็มกำลัง

อย่างไรก็ตาม ช่วงปีนี้ การลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตลักษณะนี้ อาจยังไม่กระจายตัวทั่วทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีอัตราใช้กำลังผลิตสูง ยังเป็นเพียงประมาณ 48% ของอุตสาหกรรมโดยรวม กระจุกตัวเฉพาะอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี กระดาษ เหล็กแผ่น

สังเกตว่า อุตสาหกรรมมุ่งเน้นตลาดในประเทศส่วนใหญ่ ยังใช้กำลังผลิตค่อนข้างต่ำ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์ เหล็กรูปพรรณ

แรงผลักดันที่สำคัญต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ยังคงมาจากการลงทุนโดยตรงจาก
ต่างประเทศ (FDI) แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศ ยังดี เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับต้นๆ ในโลก นอกจากจีน สหรัฐ และอินเดีย

ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก รวมทั้งแนวทางการเปิดตลาดการค้าการลงทุนภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ของรัฐบาล ซึ่งจากการวิเคราะห์ความต้องการลงทุนของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2548 น่าจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ตามผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม

การลงทุนของภาครัฐในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน จากผลของความเชื่อมโยงภายในห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำและปลายน้ำในระบบเศรษฐกิจ (Forward & backward linkages in production value chain) ทั้งนี้ ตามแผนการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในระหว่างปีงบประมาณ 2548-2551 มีโครงการลงทุนมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท โดยเป็นโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 377,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านคมนาคม พลังงานและที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก วัสดุก่อสร้างอื่นๆ รวมทั้งด้านพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า จะต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอรองรับความต้องการใช้ในโครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐด้วย

ปัจจัยสนับสนุนข้างต้น น่าจะเป็นส่วนสำคัญทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้ การลงทุนภาคเอกชน จะมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านล้านบาทปี 2547

อัตราขยายตัว ณ ราคาปีฐาน 12.5% ชะลอเทียบปี 2547 ที่คาดว่าขยายตัวประมาณ 15.5% คาดว่าการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าขยายตัวประมาณ 15% ส่วนการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชน คาดจะขยายตัวประมาณ 11% จากที่คาดว่าขยายตัวประมาณ 16% ปี 2547

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง และความไม่แน่นอนหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มชะลอตัวเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ ในโลก แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลก ที่อาจทรงตัวสูงต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นอีก

ส่วนปัจจัยในประเทศ ภาคธุรกิจยังเผชิญต้นทุนผลิตสูงขึ้น แนวโน้มชะลอตัวการบริโภคและส่งออก ผลกระทบเศรษฐกิจที่ตามมา จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติ 6 จังหวัดภาคใต้ สถานการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยแล้ง และการแพร่ระบาดไข้หวัดนก

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงเชิงลบต่ออุปสงค์ และต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน ระยะข้างหน้า

ธุรกิจแนวโน้มลงทุนสูง …ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน เหล็ก ปิโตรเคมี

การรวบรวมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มลงทุนสูงช่วงปีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก และปิโตรเคมี

ธุรกิจบริการ แนวโน้มการลงทุนดีต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตการเกษตร เป็นสาขาที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โครงการลงทุนภาคเอกชนที่แนวโน้มการลงทุนมูลค่าสูง

อุตสาหกรรมธุรกิจที่มีโครงการลงทุนมูลค่าสูง
อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลการเกษตรไก่แปรรูป เครื่องปรุงรส อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่มพร้อมดื่ม น้ำผลไม้และผักผลไม้แปรรูป เอธานอล
อิเล็กทรอนิกส์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ ไดโอด ทรานซิสเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า มอเตอร์ บอลล์แบริ่ง
เครื่องใช้ไฟฟ้าตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์
ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ต่างๆ งานโลหะขึ้นรูป
ปิโตรเลียมและพลังงานการผลิต สำรวจ และขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซ ผลิตไฟฟ้า
ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อื่นๆปิโตรเคมีขั้นต้น เช่น แนฟทา คอนเดนเสท เอทธิลีน โพรไพ ลีน พาราไซลีน เบนซีน) เม็ดพลาสติก (HDPE, LDPE) แอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาด ดูแลผิวพรรณ
วัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์เหล็กถลุงเหล็กและอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ เหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็น เหล็กโครงสร้าง คอนกรีตบล็อค อิฐมวลเบา วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป แผ่นยิปซั่ม ผลิตภัณฑ์แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์เซรามิค
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเส้นใยสิ่งทอ
ผลิตภัณฑ์พลาสติกและกระดาษชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ บรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากยางสังเคราะห์ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ
อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการอื่นๆคอนโดมิเนียม นิคมอุตสาหกรรม เมืองภาพยนตร์ อควาเรียม โรงพยาบาล ธุรกิจบริการที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม สำนักงานภูมิภาค การจัดซื้อและกระจายสินค้า โลจิส ติกส์ หน่วยวิจัยและพัฒนา)ธุรกิจขนส่ง (ทางน้ำ ทางอากาศ)
รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

พิจารณาแนวโน้มการลงทุน สถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ช่วงปี 2547 โครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,268 โครงการ มูลค่ารวม 656,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% จาก 304,700 ล้านบาทปี 2546

กิจการแนวโน้มลงทุนค่อนข้างสูง ได้แก่ บริการและสาธารณูปโภค เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ โครงการลงทุนจากต่างประเทศ คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของโครงการลงทุนทั้งหมด มูลค่าโครงการ 307,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จาก 248,692 ล้านบาทปี 2546

เป็นที่สังเกต ว่าโครงการลงทุนโดยคนไทย 100% ก็เพิ่มขึ้นมาก มูลค่าโครงการ 303,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นหลายเท่าจาก 61.1 ล้านบาทปี 2546 ส่วนสำคัญ จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกี่ยวกับพลังงาน ปิโตรเคมี และโครงการสาธารณูปโภค เช่น ระบบท่อก๊าซ

แม้ช่วงท้ายปี 2547 จะมีปัจจัยลบต่างๆ กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่ทิศทางลงทุนภาคเอกชน ยังมีแนวโน้มดี มกราคม 2548 โครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน ยังคงเพิ่มขึ้นสูงมาก มีมูลค่า 118,778 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปี 2547 ที่มีมูลค่า 11,900 ล้านบาท ถึง 10 เท่า

เป็นโครงการลงทุนจากต่างประเทศ ประมาณ 62% มูลค่า 74,224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,500 ล้านบาทปี 2547 การลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทกิจการ ที่สำคัญ คือโครงการลงทุนขนาดใหญ่กิจการ 2 ประเภท คือ หมวดโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง และหมวดบริการและสาธารณูปโภค มูลค่ารวมกัน 101.8 ล้านบาท หรือประมาณ 85% ของมูลค่าโครงการลงทุนมกราคมทั้งหมด

แต่แม้ไม่รวมกิจการ 2 ประเภทดังกล่าว โครงการลงทุนก็ยังเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนถึง 83% การขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นเครื่องชี้ล่วงหน้า ถึงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นระยะต่อไปได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากธุรกิจเอกชนที่มีแผนลงทุน มักจะเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์การลงทุนผ่านการขอรับส่งเสริมจากบีโอไอ

ผลประโยชน์เศรษฐกิจที่มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อน
การลงทุนภาคเอกชน เป็นกลไกหลักขยายศักยภาพการผลิต และการแข่งขันของประเทศ การลงทุนด้านพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เช่น นำเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพเข้ามาใช้ จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนผลิต และเพิ่มผลิตภาพผลิต (Productivity) ให้สินค้ามีต้นทุนแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้

การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพแรงงาน และการลงทุนภาคธุรกิจไทยช่วงที่ผ่านมา หลังจากการลงทุนเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น ภาคธุรกิจเริ่มลงทุนขยายการผลิต มีการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต

ทำให้ผลิตภาพแรงงาน หรือผลผลิตที่ผลิตได้เมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานของแรงงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วงปี 2546-2547 ผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เพิ่มขึ้น 3.7% ปี 2546 และ 1.4% ปี 2547

จากก่อนหน้านั้น ทิศทางที่ถดถอย เป็นช่วงที่ภาคธุรกิจโดยทั่วไป ยังไม่ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสถานะผลประกอบการ ยังไม่ดีนัก ทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุน

นอกจากผลระดับจุลภาค วัฏจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุน สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ โดยส่วนการลงทุนของรัฐบาล ด้านพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะเป็นรากฐานพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว

เป็นการสนับสนุน (Complement) การลงทุนภาคเอกชน และดึงดูดจูงใจให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowd in private investment) เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดี จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพ และผลิตภาพ (Efficiency and productivity) ภาคธุรกิจ และช่วยหนุนธุรกิจ สร้างผลตอบแทนการลงทุน (ROI) สูงขึ้น

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเศรษฐกิจหนึ่ง ยังจะสร้างอุปสงค์ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา จากความเชื่อมโยงธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ระดับต้นน้ำสู่ปลายน้ำในระบบเศรษฐกิจ (Forward & backward linkages) ด้วย

สรุปและข้อคิดเห็น
ทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ การลงทุนจะเป็นกลจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Investment-driven growth) คาดจะมีอัตราขยายตัวนำหน้ากิจกรรมเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ซึ่งจะช่วยชดเชยการบริโภค และรายได้สุทธิจากการส่งออกสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ที่มีทิศทางชะลอ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมดของประเทศ

ปีนี้ คาดการลงทุนภาคเอกชนจะมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว ณ ราคาปีฐาน 12.5% ซึ่งเป็นอัตราชะลอ เทียบกับที่คาดขยายตัวประมาณ 15.5% ปี 2547 แต่ยังคงเป็นอัตราค่อนข้างสูง ปัจจัยสำคัญสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่

•อัตราใช้กำลังผลิตสูงขึ้นของภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีอัตราใช้กำลังผลิตสูง เช่น ยาน
ยนต์และชิ้นส่วน แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี กระดาษ เหล็กแผ่น

•การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

•การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ ที่จะมีผลกระตุ้นเกิดการลงทุนภาคเอกชน จากผล
ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตระดับต้นน้ำและปลายน้ำ (Forward & backward linkages) โครงการส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน และที่อยู่อาศัย ซึ่งจะสนับสนุนอุตสาหกรรม เช่น ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก วัสดุก่อสร้างอื่นๆ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า

โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อุตสาหกรรมที่แนวโน้มลงทุนสูงช่วงปีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก และปิโตรเคมี สำหรับธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ก็เป็นสาขาที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

วัฏจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุน ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ โดยการลงทุนของรัฐบาล ด้านพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะเป็นรากฐานสำหรับพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว สนับสนุน และจูงใจเกิดการลงทุนภาคเอกชน จากประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ และผลตอบแทนการลงทุน (ROI) สูงขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนภาคเศรษฐกิจหนึ่ง ยังจะสร้างอุปสงค์ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม วัฏจักรเศรษฐกิจที่นำโดยการลงทุน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเศรษฐกิจได้ หากการลงทุนนั้น ขาดความสมดุลระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ

ผลต่อการนำเข้า : ความต้องการนำเข้าสินค้าจะสูงขึ้น การวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กิจกรรมการลงทุนพึ่งการนำเข้าสูงถึง 48% ของมูลค่าการลงทุนโดยรวม หมายความว่า ถ้าช่วงปีนี้ 2 การลงทุนในประเทศมูลค่าประมาณ 1.98 ล้านล้านบาท ต้องนำเข้าสูงถึง 9.5 แสนล้านบาท ที่เกิดจากกิจกรรมการลงทุน

การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่วนนี้ ไม่รวมการเพิ่มขึ้นการนำเข้าเพื่อบริโภค และป้อนกระบวนการผลิตเพื่อส่งออกต่อ จะทำให้การนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ประมาณ 4%

การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นด้านหนึ่ง จะเพิ่มแรงกดดันฐานะดุลบัญชีระหว่างประเทศ คาดปีนี้ ไทยจะกลับมาขาดดุลการค้าปีแรกในรอบ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2541 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่เข้มแข็งระยะนี้ น่าจะเป็นปัจจัยเอื้อประโยชน์ภาคธุรกิจที่ต้องการลงทุน เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนนำเข้าเมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาท มูลค่าต่ำลง

ผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ : ช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจที่ประเทศมีความต้องการลงทุนขนาดใหญ่
การลงทุนมีโอกาสนำไปสู่ความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจได้หลายรูปแบบ

ประการแรก ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานสินค้า โดยการลงทุนเกินขนาด อาจนำไปสู่อุปทานล้นเกิน (Oversupply) ทำให้ภาคธุรกิจมีการแข่งขัน และตัดราคา ซึ่งบั่นทอนกำไรของธุรกิจ

ถ้ากรณีรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะขาดทุน และเลิกกิจการภาคธุรกิจ กระทบการจ้างงาน และการชะลอตัวเศรษฐกิจโดยรวมตามมา

ประการที่ 2 ความสมดุลระหว่างความต้องการทรัพยากร และทรัพยากรที่มีอยู่ อาทิ ความต้องการสินค้าวัตถุดิบ หากความต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าอุปทาน อาจผลักดันราคาให้สูงขึ้นรวดเร็ว และกระทบต้นทุนธุรกิจได้

ต้นทุนธุรกิจที่สูงเกินไป อาจส่งผลมุมกลับ เป็นการลดแรงจูงใจที่ภาคเอกชนจะลงทุน สำหรับความต้องการทรัพยากรการเงิน หากความต้องการเงินทุนสูงขึ้นรวดเร็ว อาจส่งผลต่อต้นทุนการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย ได้

กรณีความต้องการเงินทุนสูงเกินระดับเงินออมในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินทุนต่างประเทศ หากระดับหนี้ต่างประเทศสูงเกินไป อาจส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศ

ปีนี้ การลงทุนของประเทศ น่าจะยังเป็นระดับที่ไม่ส่งผลกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี ประมาณ 28.3% ดุลบัญชีเดินสะพัด ยังคงเกินดุล แม้จะเริ่มประสบภาวะขาดดุลการค้า สัดส่วนการออมต่อการลงทุนของประเทศประมาณ 111.5% อีกนัยหนึ่ง การออมในประเทศ ยังสามารถรองรับความต้องการลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม ความต้องการลงทุนที่แนวโน้มขยายต่อเนื่อง ภายใต้แผนลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐปี 2548-2551 จะส่งผลความต้องการเงินทุนสูงขึ้น อาจเป็นตัวแปรกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะข้างหน้าได้

คาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเริ่มหดแคบลง แนวโน้มไทยกลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดช่วงประมาณปี 2550 หรือ 2551 ซึ่งจะทำให้ไทยอาจต้องพึ่งเงินทุนต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการลงทุนระยะข้างหน้า เป็นสถานการณ์ที่เคยเกิดช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ

จึงเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง แม้แนวโน้มระดับความรุนแรงความไม่สมดุลระหว่างการออมและการลงทุนของไทยระยะปานกลาง ยังไม่มีสัญญาณอันตรายเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม

ช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ไทยเคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 7.9% ของจีดีพี ช่วงปี 2538-2539 หรือมูลค่า 14.3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 360,000 ล้านบาท) ปี 2539 เวลาเดียวกัน การลงทุนสูงเกินขนาด ส่งผลไทยหนี้ต่างประเทศสูงถึง 108.7 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 3 เท่า สูงเกือบ 70% ของจีดีพี

การบริหารจัดการเศรษฐกิจ ภายใต้วัฏจักรการลงทุน จึงควรต้องดูแลให้การลงทุนเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง พัฒนาความสามารถการแข่งขันของประเทศ และไม่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพระยะยาว

โครงการการลงทุน ไม่ว่าภาคเอกชนหรือรัฐ จึงควรต้องจัดลำดับความสำคัญ และช่วงเวลาโครงการลงทุน ไม่ให้กระทบสถานะการเงิน มีการบริหารช่องทางระดมทุน และบริหารประสิทธิภาพการลงทุน และผลตอบแทนโครงการลงทุน คุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น