xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันปีไก่”48 : นำเข้ากว่า 6 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สถานการณ์การนำเข้าน้ำมันของไทยปีไก่ 2548 ต้องจับตาใกล้ชิด เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงผันผวนต่อเนื่อง แนวโน้มจะยังคงพุ่งขึ้นไม่หยุด ล่าสุด วันที่ 1 มีนาคม ราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้า NYMEX ยังคงเพิ่มขึ้นทะลุ 51 ดอลลาร์/บาร์เรล อยู่ที่ 51.75 ดอลลาร์

ขณะที่มูลค่านำเข้าน้ำมันของไทยมกราคม พุ่งจากเดือนเดียวกันปีก่อนถึง 80% จาก 839 ล้านดอลลาร์มกราคม 2547 เป็น 1,510 ล้านดอลลาร์มกราคมนี้

ตัวเลขทั้งปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันสูงมาก ถึง 13,252 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 48.9% การนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ มีผลต่อการขาดดุลบัญชี เดินสะพัด

มกราคม ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 942 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 7 ปี 9 เดือน ตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 เมษายน 2540 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1,401 ล้านดอลลาร์

แนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ยังคงสูงขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทย ที่พึ่งการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศสูงมาก ถึง 85% ของความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมของประเทศ ต้องแบกรับภาระนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินตั้งแต่ตุลาคม 2547 เริ่มขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปลิตรละ 60 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ แต่รัฐบาลยังคงต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันแทนประชาชนถึง 69,391.62 ล้านบาท ตั้งแต่ 10 มกราคม 2547-25 กุมภาพันธ์ 2548

นโยบายตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาล และภาระนี้ จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก จากการที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประชาชนคงต้องร่วมมือกับรัฐบาล ประหยัดใช้น้ำมันและพลังงาน โดยพิจารณาคุณค่าการใช้น้ำมันอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้น ตัวเลขนำเข้าน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีกมาก

จากปี 2542 มูลค่านำเข้าน้ำมัน 8.6% ของมูลค่านำเข้ารวมของประเทศ ก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 14% ปี 2547 มกราคม 2548 สัดส่วนนี้ขยับขึ้นที่ 16.5% ซึ่งจะเป็นภาระหนักของประเทศระยะยาว เป็นผลจากการใช้น้ำมันไม่ประหยัดนั่นเอง

นำเข้าน้ำมันยังพุ่ง…ปี 48 คาดมูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท
แม้รัฐบาลเริ่มจะค่อยๆ ขยับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ เริ่มขยับราคาขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ จากราคาที่ตรึงไว้นานถึง 13 เดือน ที่ลิตรละ 14.59 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 60 สตางค์ เป็นลิตรละ 15.19 บาท

ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินหลังปล่อยลอยตัวตั้งแต่ตุลาคม 2547 ก็ปรับขึ้นแล้วลิตรละ 3.90 บาท ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เบนซินออกเทน 95 ลิตรละ 21.79 บาท เบนซินออกเทน 91 ลิตรละ 20.99 บาท

ขณะที่พิจารณาภาระรายจ่ายค่าน้ำมันนำเข้าปี 2547 พุ่งขึ้นน่าตกใจ ตามราคาน้ำมันตลาดโลก ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ปี 2547 ไทยมีภาระค่าใช้จ่ายนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 13,252 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่ 48.9%

หากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ และยังทรงตัวสูงจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากยังมีปัจจัยความไม่แน่นอน ที่จะมีผลกดดันทิศทางตลาดน้ำมันโลกระยะจากนี้ไปปี 2548

นั่นคือ ความไม่สงบในอิรักหลังเลือกตั้งเสร็จ แต่ยังมีการลอบโจมตีทหารอเมริกัน และพันธมิตร ไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ทหารอเมริกันและทหารพันธมิตร ล้มตายเพิ่มขึ้น ยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูบ่อน้ำมันในอิรักอย่างมากเวลานี้

ทำให้การส่งออกน้ำมันของอิรัก ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติเร็ววัน ความขัดแย้งระหว่างชนชาติอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่ยังไม่ยุติง่ายๆ นำไปสู่การใช้กำลังโจมตีกันและกันเป็นระยะๆ

รวมทั้งข่าววางระเบิดสถานที่สำคัญๆ เมืองต่างๆ ของประเทศพันธมิตรสหรัฐ ไม่ขาดระยะ และการประชุมสมาชิกโอเปกที่จะมีวันที่ 16 มีนาคม ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลก ให้ผันผวน และกดดันราคาน้ำมันตลาดโลกให้ยืนอยู่สูงต่อไป

การประเมินภาระค่าน้ำมันนำเข้าปีนี้ คาดจะมูลค่าประมาณ 16,000ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 600,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 20.7% ประเมินโดยใช้ฐานปริมาณนำเข้าน้ำมันระดับเดียวกับปี 2547 และใช้ราคาเฉลี่ย ที่เพิ่มขึ้นจากช่วง 12 เดือนปี 2547 และมกราคม 2548

คาดคะเนแนวโน้มช่วงเวลาที่เหลือปีนี้ ภายใต้แรงกดดัน ราคาน้ำมันตลาดโลก ที่ยังคงทรงตัวสูงจนถึงสิ้นปีนี้

การนำเข้าน้ำมันของไทยช่วงปี 2542-2548
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปี มูลค่า สัดส่วน (%) เม็ดเงินเพิ่ม % เพิ่ม ราคาน้ำมันนำเข้าเฉลี่ย % เพิ่ม
(ล้านดอลลาร์) ต่อนำเข้ารวม (ล้านดอลลาร์) (ดอลลาร์/บาร์เรล)
2542 4,272 8.6 1,138 36.3 17.24 42.6
2543 6,834 11.0 2,562 60.0 26.53 53.9
2544 7,130 11.5 296 4.3 22.86 -13.8
2545 7,422 11.6 292 4.1 23.91 4.6
2546 8,898 11.9 1,476 19.9 27.29 14.1
2547 13,252 14.0 4,354 48.9 33.83 24.0
2548* 16,000 16.7 2,748 20.7 37.97 12.2
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ : แหล่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ราคาน้ำมันปี2547เป็นตัวเลขราคานำเข้าเฉลี่ยของน้ำมันดิบโอมาน
ปี 2548 เป็นตัวเลขประมาณการ

แหล่งนำเข้าน้ำมัน : พึ่งนอกกลุ่มตะวันออกกลางเกือบ 30 %
ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากแหล่งต่างๆ ลักษณะกระจายความเสี่ยงนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมากพอควร ไม่พึ่งน้ำมันแหล่งหนึ่งแหล่งใดมากเกินไป ซึ่งส่งผลดี ทำให้มีปริมาณน้ำมันแน่นอน และเพียงพอการใช้ในประเทศ

ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันทั้งสิ้นมูลค่าถึง 13,252 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อนถึง 48.9% นำเข้าจากประเทศแถบตะวันออกกลาง 70.9% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งหมด นำเข้าจากประเทศนอกตะวันออกกลาง 29.1%

เทียบอดีต ครั้งเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2522-2524 ไทยยุคนั้น พึ่งนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางสูงมากถึง 90-95% พี่งน้ำมันประเทศนอกตะวันออกกลางเพียง 5-10%

แหล่งนำเข้าน้ำมันจากประเทศต่างๆ ปี 2547 รายละเอียดดังนี้
•กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลางรวม 9,401.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 52.2% สัดส่วน 70.9% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

•การกระจายแหล่งนำเข้าน้ำมันของไทยกลุ่มนี้ ดังนี้
-สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 3,633.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อน 90.8% นำเข้าน้ำมันมากที่สุดถึง 27.4% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

-ซาอุดีอาระเบีย นำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียปี 2547 มูลค่ารวม 1,947.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 38.3% สัดส่วนนำเข้าน้ำมันอันดับ 2 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ คือ 14.7% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

-เยเมน ไทยนำเข้าน้ำมันจากเยเมนปี 2547 มูลค่า 1,529.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 59.2% สัดส่วนนำเข้าอันดับ 3 คือ 11.5% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

-โอมาน นำเข้าน้ำมันจากโอมานปี 2547 มูลค่า 1,485.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.6% โดยมีสัดส่วน 11.2% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

-กาตาร์ ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากกาตาร์ 612.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อน 54.5% สัดส่วน 4.6% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

-คูเวต มูลค่านำเข้าน้ำมันจากคูเวตปี 2547 มี 194.7ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 101.8% สัดส่วน 1.5% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันรวมของประเทศ

•ประเทศนอกกลุ่มตะวันออกกลาง ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาความไม่แน่นอนการเมืองในตะวันออกกลาง ที่มักเกิดเป็นประจำ

•ช่วงดังกล่าว ไทยนำเข้าน้ำมันจากประเทศนอกตะวันออกกลาง มูลค่า 3,850.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 41.6% สัดส่วนนำเข้า 29.1% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งประเทศ ประเทศนอกกลุ่มตะวันออกกลางที่ไทยนำเข้าน้ำมันปี 2547 รายละเอียด ดังนี้

-พม่า บทบาทเพิ่มขึ้นเด่นชัดต่อการนำเข้าน้ำมันของไทย ตั้งแต่ปี 2542 เรื่อยมา จากที่ไทยนำเข้าน้ำมันจากพม่าเพียง 2.1 ล้านดอลลาร์ปี 2542 ทะยานขึ้นเป็น 115.4 และ 672.2 ล้านดอลลาร์ ปี 2543-2544 ปี2547 นำเข้าเพิ่มเป็น 1,027.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อน 40.2%

เห็นได้ชัด ว่าสัดส่วนนำเข้าน้ำมันจากพม่า พุ่งขึ้นจากแค่ 2% ช่วงปี 2542-2543 เป็น 7.8% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งหมดของไทยปี 2547

-มาเลเซีย ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากมาเลเซีย 641.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 49.7% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งหมด สัดส่วนนำเข้า 4.8% ลำดับ 2 รองจากพม่า

-อินโดนีเซีย 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากอินโดนีเซีย 388.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปีก่อน 10.5% สัดส่วนนำเข้า 2.9% ลำดับ 3 รองจากมาเลเซีย

-บรูไน ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากบรูไนมูลค่า 385.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.1% สัดส่วนนำเข้า 2.9% ของมูลค่านำเข้าน้ำมันทั้งหมดของไทยช่วงเดียวกัน อันดับ 4 รองจากอินโดนีเซีย

-สิงคโปร์ ไทยนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ปี 2547 มูลค่า 285.7ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 78.3% สัดส่วนนำเข้า 2.2% อันดับ 5 รองจากบรูไน

-ออสเตรเลีย ไทยนำเข้าน้ำมันจากออสเตรเลียปี 2547 ทั้งสิ้น 189.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 119.6% สัดส่วนนำเข้า 1.4%

-สาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2547 ไทยนำเข้าน้ำมันจากจีน 70.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5%

-ประเทศอื่นๆ นอกจากประเทศแหล่งนำเข้าน้ำมันสำคัญของไทยดังกล่าว ไทยยังนำเข้าน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ อีกนับสิบประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แอลจีเรีย อียิปต์ ญี่ปุ่น เวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย เป็นต้น

สรุป
สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกช่วงที่เหลือปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ที่จะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกทรงตัวสูงต่อไปถึงสิ้นปี ทั้งประเด็นการเมืองในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความไม่สงบในอิรักหลังเลือกตั้ง ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ ที่ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่อง และนโยบายโอเปก เรื่องผลิตน้ำมันดิบ และการแทรกแซงราคาน้ำมันแต่ละช่วงเวลา ที่จะยังคงสร้างความ ไม่แน่นอนต่อตลาดน้ำมันโลกระยะที่เหลือปีนี้

อย่างไรก็ตาม หากการบริโภคน้ำมันของไทยยังคงไม่ประหยัด คาดการนำเข้าน้ำมันปีนี้ จะมูลค่าสูงต่อเนื่องจากปี 2547 คาดมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2547 ประมาณ 20.7% ซึ่งจะมีผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ประชาชนจึงต้องร่วมมือกับรัฐบาล ประหยัดใช้น้ำมันและพลังงานทุกรูปแบบจริงจัง เพื่อลดภาระรายจ่ายค่าน้ำมันนำเข้าปีนี้

ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การที่รัฐบาลขยับเพดานราคน้ำมันดีเซลขึ้นอีกลิตรละ 60 สตางค์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ-ธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ไม่มากนัก

รัฐบาลควรจะใช้นโยบายขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าจะปล่อยลอยตัวทันที การปรับเพดานราคาดีเซลครั้งละ 40-60 สตางค์/ลิตรค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชน สามารถปรับตัวรับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการด้านต่างๆ ได้ดีกว่าการที่รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาดีเซลทันที

ซึ่งจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจ ธุรกิจ-การค้า การลงทุน และค่าครองชีพประชาชนรุนแรง เพราะการลอยตัวราคาดีเซลให้สอดคล้องราคาแท้จริงปัจจุบัน ต้องปรับขึ้นถึงลิตรละ 3.60-4 บาททีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น