xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารบัตรเครดิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (5)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

Loyalty campaign เป็นโครงการสร้างพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการที่เป็นที่แพร่หลาย คือการเปลี่ยนมูลค่าจากจำนวนเงินที่ใช้จ่ายมาเป็นคะแนนสะสมเพื่อแลกของ เท่าที่สำรวจดูในปัจจุบัน คะแนนสะสมจะมีราคาอยู่ประมาณ 25 บาท คือค่าใช้จ่ายทุก 25 บาท จะได้รับคะแนนสะสม 1 คะแนน

แต่จะมีช่วงโปรโมชั่นพิเศษ ที่บางครั้งอาจจะได้รับคะแนนสะสม x เท่าของโครงการปกติ ซึ่งหากจะบริหารการใช้บัตรเครดิตให้มีประสิทธิภาพ ก็ควรที่จะติดตามอ่านเอกสารที่ส่งมากับใบแจ้งรายการรายเดือน เพราะจะมีการแจ้งรายการพิเศษทุกครั้ง

หากถามว่า การทำโปรแกรมสะสมคะแนนแลกของนั้น ได้ผลหรือไม่ ดิฉันว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความยากหรือง่ายที่จะได้ของ รวมถึงตัวของที่จะให้แลก ดังนั้น บริษัทหรือสถาบันที่ออกบัตรเครดิต จะต้องมีระบบ CRM (Customer Relationship Management) ที่ดีพอที่จะทำการวิเคราะห์วิจัยได้

ว่าลูกค้าในแต่ละกลุ่ม มีความสามารถที่จะสะสมแต้มได้มากแค่ไหน และของประเภทใด ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเหล่านั้น เช่น บริษัทที่เน้นแต่ฐานลูกค้าที่เราเรียกว่า high end คือพวกที่มีรายได้สูง มีความรู้ดี และต้องการให้บัตรของตน เป็นการแสดงความมีระดับ

ดังนั้น วงเงินที่จะให้ต่อบัตร อาจจะสูงไปด้วย หากจะมาให้สะสมแต้มแลกของ เช่น กล่องถนอมอาหาร หรือชุดจานชาม ลูกค้ากลุ่มนี้ อาจจะบอกว่าเสียเวลาเปล่า ไม่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเลย ซึ่งลูกค้าเหล่านี้ อาจจะมีบัตรเครดิตหลายใบ ก็จะใช้บัตรอื่นที่มีของที่ให้แลกที่จูงใจกว่า

ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้ว พวกลูกค้าที่มีวงเงินสูงๆ หรือใช้จ่ายมาก อาจจะมีรางวัล เช่น สามารถแลกตั๋วเครื่องบินไปประเทศต่างๆ (ไปแล้วกลับด้วยค่ะ) หรือนาฬิกาแพงๆ เช่น โรเล็กซ์ ด้วย

ดิฉันเคยมีประสบการณ์ ว่ามีลูกค้าบางราย ที่ล่ารางวัลอย่างเข้มข้น จึงรับอาสารูดบัตรให้คนที่รู้จักกัน เพื่อสะสมแต้มเอานาฬิกาโรเล็กซ์ หรือบางครั้ง มีผู้สมัครบัตรที่มีอาชีพขายสินค้าแบบขายปลีกหน้าร้าน ก็มารูดบัตร ซื้อของตามห้างที่ขายส่งสินค้า เพื่อสะสมแต้มแลกของ ซึ่งความจริง การกระทำดังนี้ ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ เพราะผู้ออกบัตร มีความต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่กลายเป็นนายหน้ารับรูดบัตรแทนคนอื่น หรือนำมาใช้ในการทำธุรกิจไป

หากท่านผู้อ่านได้พบสถิติของแฟนพันธุ์แท้ของ loyalty campaign แล้ว จะพบว่า เป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก ที่โปรแกรมนี้ ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อใดที่มีการเพิ่มคะแนนสะสม เช่น เพิ่มคะแนนเป็น 2 เท่า หรือ 3 เท่า จะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้มาก

สิ่งที่ท่านควรจะต้องปฏิบัติ หากเริ่มเข้า loyalty campaign แล้ว ก็คือ การตรวจสอบใบแจ้งยอดการใช้จ่ายรายเดือน ที่จะมีคะแนนสะสมมาให้ ว่ามีอยู่เท่าไหร่แล้ว จากนั้น ก็ไปดูจาก catalogue ที่รวบรวมของที่มีให้แลก ว่าแต่ละชิ้น จะต้องใช้คะแนนเท่าไหร่ เพื่อที่จะแลกได้

สิ่งที่ควรจะต้องตรวจสอบอีกอย่าง เพื่อกันการอกหัก คือการตรวจสอบรายการที่บริษัทแจ้งมา ว่าของที่จะแลก รายการใดที่หมดแล้ว มิเช่นนั้น อาจจะเกิดกรณีสะสมแต้มแทบตาย แต่เมื่อจะแลกของแล้ว ของหมด จะเสียความรู้สึกไปเลย

นอกจากเรื่องของยังมี หรือหมด แล้ว ยังจะต้องตรวจสอบด้วย ว่าคะแนนสะสมนั้น มีอายุหรือไม่ เช่น บัตรเครดิตบางบัตร อาจจะกำหนดอายุของคะแนนไว้ เช่น มีอายุ 2 ปี จากวันที่ได้รับคะแนนนั้น หากไม่ใช้ภายในเวลาที่กำหนด คะแนนเหล่านั้น จะถือว่าหมดอายุไป ท่านจะได้ทราบ ว่าควรจะนำคะแนนที่มีอยู่ ไปก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง

เรื่องการสะสมคะแนนนี้ หากจะถาม ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ดิฉันคิดว่า ไม่ต่ำกว่า 15 ปี เพราะเมื่อครั้งที่ดิฉันทำงานอยู่ธนาคารต่างชาติ ที่เริ่มออกโครงการนี้มาแรกๆ นั้น เป็นที่ฮือฮามาก และอีกนานหลายปี กว่าจะมีบัตรของธนาคารอื่น มีโครงการสะสมแต้มตามมา

เพราะการทำโครงการดังกล่าว จะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยังต้องมีการบริหารสินค้าคงเหลือ (สำหรับไว้ให้ลูกค้าแลก) รวมถึงการหาสินค้าที่น่าสนใจ และมาตรการในการแลกของ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะไม่ยาก แต่จริงๆ แล้ว ไม่ง่ายเลย

จากการให้แลกสินค้า ได้มีการพัฒนามาอีกขึ้นหนึ่ง คือการไปร่วม campaign หรือที่เรียกว่า joint promotion กับพันธมิตรอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็นที่นิยม คือการที่คะแนนสะสมของบัตรเครดิต สามารถเปลี่ยนเป็นคะแนนสะสมของสายการบิน ที่มีโครงการสะสมแต้ม เช่น การบินไทย ซึ่งลูกค้าในระดับที่เป็นผู้บริหาร หรือนักธุรกิจ จะชอบ เพราะมีการเดินทางเป็นประจำ และสะสมไมล์อยู่แล้ว จะสามารถนำมารวมสะสมต่อยอดได้

จากนั้น ล่าสุด จะมีการพัฒนาถึงขนาดที่จะเปลี่ยนแต้มสะสมเป็นเงินได้ (ใช้วิธีหักลดในบัญชีบัตรเครดิตเอง) เช่น บัตรกรุงศรี GE ได้มีช่วงโปรโมชั่นพิเศษเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ที่สามารถเปลี่ยนจากแต้มสะสม เป็นการคิดคำนวณเป็นเงินสด แล้วนำไปเป็นเครดิต หรือหักในบัญชีของบัตรเครดิตนั้น เหมือนเป็นการจ่ายเงินเข้าไปในบัญชี หรืออย่างเช่น Citibank มีโครงการ cash back เป็นต้น

ดิฉันคงจะไม่ลงรายละเอียด ถึงการคำนวณ ว่าการแลกของอย่างไร จึงจะคุ้ม หรือจะแลกของดี หรือแลกเป็นการสะสมไมล์ในการเดินทาง ดี หรือเอาเป็นส่วนลดเงินสดดี เพราะจะละเอียดเกินไป แต่นักล่ารางวัลแบบคุณละเอียด ก็มีมาก เช่น เพื่อนของดิฉันหลายคน จะมีการคิดคำนวณแบบเป็นสถิติ จนแทบจะเป็นการถอดสมการแบบเลขคณิต ก่อนจะเลือกสะสมอะไร หรือแลกอะไร เพื่อที่จะได้ประโยชน์สูงสุด

การบริหารบัตรเครดิตในส่วนของ loyalty campaign ก็คงจะมีข้อมูลส่วนใหญ่ เท่าที่ได้กล่าวมา ก็ขอให้ท่านผู้อ่านสนุกสนานกับการเก็บคะแนนสะสมต่อไป เพราะความจริงแล้ว ท่านก็ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดเพิ่มเติม ได้ของมาฟรีๆ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ ไม่ได้ใช้เอง ก็เก็บไว้ให้เป็นของขวัญผู้อื่น ก็สามารถประหยัดเงินไปได้อีกทางหนึ่งค่ะ

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น