xs
xsm
sm
md
lg

โซลเพิ่มงบกว่า9หมื่นล้านเข็นศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – เกาหลีใต้ประกาศเพิ่มงบใช้จ่ายสาธารณะเฉียดแสนล้านดอลลาร์ต้นปีหน้า รองรับขาลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่หยุดนิ่งมายาวนานและยังไม่เห็นแววฟื้นตัวในเร็ววัน
กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเกาหลีใต้แถลงเมื่อวันพุธว่า รัฐบาลจะกันงบการใช้จ่ายไว้ทั้งสิ้น 100 ล้านล้านวอน (95,900 ล้านดอลลาร์) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2005 หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 14.3%
ลีเซ็งวู ผู้อำนวยการแผนกวางแผนนโยบายของกระทรวงเศรษฐกิจ แจงว่า แผนการดังกล่าวอิงกับการคาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคเอกชนอาจชะลอลงในปีหน้า โดยมีเป้าหมายหลักที่การสร้างงานเพิ่ม และส่งเสริมกิจการขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ในปี 2005 รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 5% และอัตราเงินเฟ้อ 3% จากปีนี้ที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 4.7% โดยมีการส่งออกเป็นกำลังหลัก แต่ทว่าแนวโน้มปีหน้าคาดว่าดีมานด์ทั่วโลกน่าจะวูบลง
ลีเสริมว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจหดตัวลงอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2005 จาก 28,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
วันเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยข้อมูลที่ตอกย้ำว่า การชะลอตัวรุนแรงและเรื้อรังของการใช้จ่ายผู้บริโภค ยังคงเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจในภาวะที่การส่งออกค่อนข้างเข้มแข็ง
สำนักงานสถิติรายงานว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 10.1% ในเดือนพฤศจิกายน อันเป็นผลจากการส่งออกยานยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ กระนั้นก็ดี การบริโภคของภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ในอัตรา 1.3% หลังจากลดไปแล้ว 2.5% ในเดือนตุลาคม ขณะที่ยอดค้าปลีกหล่นฮวบ 3% จากที่ตกไปเดือนก่อนหน้า 1.6%
ขณะเดียวกัน ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนหน้า ขยับลง 0.3% จากที่ลงไป 0.1% ในเดือนตุลาคม
ในทางตรงข้าม การลงทุนด้านโรงงานและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 3.1% เนื่องจากได้อานิสงส์จากการส่งออก โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารและเครื่องจักรกลระดับสูง หลังจากปรับลดลง 1.2% เมื่อสองเดือนที่แล้ว
กวักยองฮุน นักเศรษฐศาสตร์ของฮานา ซีเคียวริตี้ส์ ตีความข้อมูลของสำนักงานสถิติว่า อุปสงค์ภายในประเทศจะชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า อีกทั้งไม่มีสัญญาณว่า การลงทุนจะมีการฟื้นตัวแต่อย่างใด พร้อมเสริมว่า ภาวะน้ำมันแพงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริโภคที่ซบเซาลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เขาฟันธงทิ้งท้ายว่า ภาคการผลิตจะยังคงไปได้ดี แต่ภาคบริการจะซบเซารุนแรง บ่อนทำลายการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่ภาคส่งออกไม่สามารถเติบโตแข็งแกร่งเหมือนเดิม และมีแนวโน้มว่า ธนาคารกลางอาจหนีไม่พ้นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น