xs
xsm
sm
md
lg

หนี้เก่า…หนี้ใหม่ ทำอย่างไรถ้าดอกเบี้ยขึ้น (3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในสัปดาห์ที่แล้ว ได้จบลงตรงที่ว่า ท่านที่มีภาระหนี้สินเชื่อเคหะอยู่แล้ว จะเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งได้ให้คำแนะนำว่า สิ่งที่ควรทำประการแรก คือการดูเงื่อนไขในสัญญาที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยและค่างวด โดยยกตัวอย่างแรก คือเมื่อดอกเบี้ยเปลี่ยน ค่างวดก็จะเปลี่ยน

โดยปกติแล้ว ในสัญญาเงินกู้เคหะ สถาบันการเงินจะไม่ระบุในรายละเอียด ว่าเมื่อใดจะปรับค่างวดผ่อนชำระ แต่จะระบุไว้ ว่าธนาคารสงวนสิทธิ์ที่จะปรับค่างวดได้ตามที่กฎมายกำหนด

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีประกาศที่ ธปท.สนส.(22) ว. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้มีภาระหนี้อยู่ ได้รับผลกระทบมากเกินไป จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเบื้องหลังของประกาศฉบับนี้ คือการที่ประชาชนได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 และ ปี 2542 ที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเคหะได้ขยับขึ้นถึง 6%-8% (จากประมาณ 10% เป็น 16%-18%

โดยเนื้อความในประกาศฉบับนี้ จะระบุไว้เลย ว่าหากเงินงวดที่ชำระยังพอชำระจำนวนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ ให้ปรับค่างวดได้ปีละครั้ง และครั้งละไม่เกิน 10% ของค่างวดที่ลูกค้าผ่อนอยู่เดิม

หากเงินงวดที่ต้องชำระไม่เพียงพอกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ให้ปรับเงินงวดได้เท่ากับจำนวนดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในแต่ละครั้งที่มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ยกเว้นแต่ว่าผู้กู้ต้องการที่จะจ่ายมากกว่าที่กำหนด
ซึ่งหากท่านผู้อ่านอ่านมา ก็คงเข้าใจได้ระดับหนึ่ง ว่ามีหลักเกณฑ์ในการปรับค่างวดที่ค่อนข้างชัดเจน ก็น่าที่จะสบายใจได้ ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงิน จะไม่ขึ้นค่างวดตามอำเภอใจ

ทางออกทางหนึ่งของผู้กู้ในกรณีที่หากมีการขึ้นค่างวดแล้ว จะค่อนข้างมีปัญหา คือการขอสถาบันการเงินให้ยืนการจ่ายค่างวดเท่าเดิม และขอให้ไปยืดอายุของระยะเวลากู้ที่เหลือ ซึ่งโดยปกติจะสามารถทำได้ จนกว่าจะเกิดปัญหาที่เรียกว่าเป็น negative amortization คือเกิดการขยายไปจนระยะเวลาที่เหลือ ไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งนี้ เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว (โดยมากจะเกิดจากค่างวดไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ย) สถาบันการเงินอาจจะพิจารณาดูว่า โดยธรรมชาติของสินเชื่อเคหะที่มีอายุสินเชื่อ 10 ปี-15 ปีแล้ว จะมีระยะเวลาที่ดอกเบี้ยขึ้นและลง จึงอาจจะยอมอนุโลมให้ ซึ่งมักจะให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาจริงๆ

ข้อแนะนำสุดท้ายก็คือ หากเริ่มมองเห็น ว่าจะมีปัญหาในด้านค่างวดผ่อนชำระที่จะสูงขึ้นจนน่าจะเป็นปัญหาแล้ว ก็รีบเข้าไปหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อหาทางป้องกัน ดีกว่าจะเป็น NPL ในอนาคต

สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อนั้น ผู้ที่มีภาระหนี้อยู่แล้ว ก็คงไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะหนี้ที่ตั้งอยู่บนฐานอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพราะเป็นระบบแบบ flat rate ตามที่ได้เคยเขียนถึงไว้ ดังนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะเป็นหนี้ใหม่ที่จะได้รับผลกระทบในส่วนตัวแล้ว ดิฉันเห็นว่า การวางแผนที่จะเป็นหนี้สำหรับเช่าซื้อแล้ว จะค่อนข้างง่ายกว่าสินเชื่อเคหะ

เพราะยอดผ่อนต่อเดือนจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยจะเท่ากันทุกงวด ต่างกับสินเชื่อเคหะ ที่ค่างวดผ่อนชำระอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นอัตราลอยตัวในระยะเวลาส่วนใหญ่ของการเป็นหนี้ ดังนั้น การวางแผนก็คือ การดูค่างวดเป็นหลัก ว่าหากจะซื้อรถยนต์หรือสินค้าที่ต้องเช่าซื้อแล้ว คำนวณค่างวดแล้วเป็นเท่าไหร่ โดยลองพิจารณาค่างวดจากจำนวนงวดดูว่า 12/24/36/48 งวด ค่างวดจะต่างกันเท่าไหร่ หากมีกำลังเพียงพอ ก็ควรจะเรียกน้อยงวดหน่อย เพราะจะได้ไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยสูง

ที่เขียนมานี้ ไม่ได้หมายความว่าแนวโน้มดอกเบี้ยจะขึ้นสูงจนน่ากลัว แต่แนวคิดด้านการบริหารสมัยนี้ คือ proactive คือการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ก่อนที่เหตุการณ์จะมาถึง เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง จะได้สามารถเผชิญได้อย่างสง่างาม

ถึงครั้งนี้ก็จบไป 2 ประเภทหนี้แล้ว คือสินเชื่อเคหะ และสินเชื่อเช่าซื้อ จากนั้นก็จะต่อที่บัตรเครดิต หากไม่มีเรื่องฮอตฮิตใดมาแทรกก่อน ก็คงจะเขียนในสัปดาห์หน้า


สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น