xs
xsm
sm
md
lg

ลิสซิ่ง (Leasing)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สัปดาห์ที่แล้ว ได้เขียนถึงความแตกต่างของสินเชื่อแบบเช่าซื้อ (Hire Purchase) กับแบบลิสซิ่ง ซึ่งความแตกต่างหลัก คือเรื่องของกรรมสิทธิ์ภายหลังจากที่มีการชำระคืนหนี้หมดแล้ว ครั้งนี้ จะขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับสินเชื่อแบบลิสซิ่งสักนิด เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้เห็นภาพมากขึ้น ในกรณีนี้ จะพูดถึงการทำลิสซิ่งสำหรับรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งที่รู้จักแพร่หลายจะมี 2 รูปแบบ คือ

Financial Lease ซึ่งเป็นสัญญาเช่าทางการเงิน ที่ผู้ให้บริการมักจะเป็นสถาบันการเงิน เช่น บรรดาบริษัทเงินทุน โดยที่ผู้เช่าจะต้องเป็นนิติบุคคล เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี วิธีคิดค่าเช่า จะเข้าหลักเกณฑ์เดียวกันกับการคำนวณค่างวดของการกู้บ้าน

เช่น เงินต้น 600,000 บาท ดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี (Effective Rate) ค่าเช่าต่อเดือนคือ 14,508 บาท สิทธิประโยชน์ทางภาษีในระบบลิสซิ่งคือ จำนวนเงิน 14,508 บาท บริษัทจะสามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน ทั้งนี้ ค่าเช่าจะต้องไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน ตามที่สรรพากรกำหนด และการบันทึกบัญชีของบริษัท จะลงเป็น “ค่าเช่า” ซึ่งเป็นหมวดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ หรือเป็น operating cost

แต่หากเป็นระบบเช่าซื้อแล้ว จะคำนวณค่างวดโดยนำ

เช่น เงินต้น 600,000 บาท ดอกเบี้ย 3% ต่อปี (Flat Rate) ค่างวดต่อเดือน คือ 14,000 บาท ซึ่งไม่สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน จะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยที่แฝงอยู่ในจำนวน 14,000 บาท เพราะวิธีการบันทึกบัญชีในระบบเช่าซื้อ บริษัทจะลงบัญชีรถยนต์ 600,000 บาท เป็นสินทรัพย์ถาวร มีการตัดค่าเสื่อมราคาตามหลักการบัญชี (สรรพากรอนุญาตให้หักสำหรับรถยนต์ได้ในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท) และดอกเบี้ยส่วนที่ต้องจ่ายถึง จะบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย

วิธีการของลิสซิ่งนั้น จะมีหลากหลาย เนื่องจากเมื่อหมดอายุสัญญาแล้ว จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าซื้อสินทรัพย์นั้นได้ โดยการกำหนดราคา ซึ่งอาจจะระบุอยู่ในสัญญาเลย ว่างวดสุดท้ายจะต้องจ่ายเท่าไร เช่น ผ่อนมา 10,000 บาท 35 งวด ในงวดที่ 36 จ่าย 180,000 บาท เพื่อซื้อทรัพย์สินดังกล่าว หรืออาจจะกำหนด โดยการที่ลูกค้าอาจจะไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์เลย แต่มาจ่ายในงวดสุดท้าย ด้วยวงเงินประมาณ 15% ถึง 20% ของมูลค่ารถยนต์ ซึ่งจริงๆ ก็คือ เงินดาวน์แต่มาจ่ายภายหลัง เป็นต้น

จะเห็นแล้วว่า เหตุที่ลิสซิ่งเหมาะกับนิติบุคคล เพราะหากเป็นบุคคลธรรมดา จะไม่ได้รับอานิสงค์ด้านภาษีอากร รวมถึงกรรมสิทธิ์ ก็ยังไม่ตกเป็นของผู้เช่าโดยอัตโนมัติ เช่น การทำเช่าซื้อ

ลิสซิ่งอีกประการหนึ่งคือ Operating Lease ซึ่งแรกเริ่มเดิมที การลิสซิ่งจะออกมาในรูป operating lease เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือ การคิดค่าเช่า คำนวณมาจากต้นทุนทุกประเภท คือการนำ เงินต้น + ดอกเบี้ย + ค่าประกัน + ประมาณการค่าซ่อมบำรุง

แล้วจึงนำมาหารด้วยจำนวนงวดที่จะคิดกัน และผู้เช่าก็นำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในรูปค่าเช่า ซึ่งต่างกับ Financial Lease คือไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่ามีสิทธิ์ซื้อได้ หรือหากจะซื้อ ก็เป็นการตกลงกัน ณ ขณะที่จะตกลงซื้อขายว่าจะเป็นราคาเท่าใด ไม่ได้มีกำหนดตั้งแต่เมื่อทำสัญญา ดังนั้น หากคิดถึง operating lease ก็คือการเช่านั่นเอง แต่เป็นการเช่าทรัพย์สินที่ลูกค้าเลือกที่จะเช่าเองตั้งแต่ต้น

ก็เป็นอันว่า ได้แนวความคิดเรื่องลิสซิ่งแบบคร่าวๆ กันในฉบับนี้ ครั้งต่อไป คงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ซึ่งจะเน้นไปที่ระบบเช่าซื้อ นะคะ

มีผู้อ่านหลายท่านสอบถามมาว่า จะขออ่านบทความในคอลัมน์ Personal Finance ย้อนหลังได้จากที่ใด เพราะอาจจะพลาดบางฉบับไป ทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้แจ้งว่า กำลังอยู่ระหว่างรวบรวม และจะนำเข้าใน website ในเวลาไม่นานนี้ หากนำขึ้นเมื่อไหร่ จะแจ้งให้ทราบ แต่ถ้าจะไม่พลาดก็คือ อ่านทุกวันศุกร์ค่ะ รับรองแน่นอน!

ขอขอบคุณบริษัทเงินทุนกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือแฟกซ์มาที่หมายเลข 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น