xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มน้ำมันแพงเรื้อรังถึงสิ้นทศวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ระบุ ราคาน้ำมันดิบที่ทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 43 ดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็น “ปรากฏการณ์ทางโครงสร้าง” จากปัจจัยต่างๆ ผนวกกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจโลก
ฟรองซีส์ แปร์แรง จากนิตยสารเปโทรล เอต์ ก๊าซ อาหรับของฝรั่งเศส กล่าวว่า วิกฤตน้ำมันปัจจุบัน เกิดจากปริมาณน้ำมันมีจำกัด ผนวกกับการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีนและอินเดีย ซึ่งไม่มีแนวโน้มลดความร้อนแรงลง แม้การบริโภคน้ำมันในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ลดลงก็ตาม
แปร์แรงเสริมว่า ราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งถูกกระตุ้นจากความกังวลว่า การผลิตน้ำมันของยูคอส บริษัทยักษ์ใหญ่แดนหมีขาวที่ผลิตได้วันละ 1.7 ล้านบาร์เรล จะหยุดชะงักลงนั้น ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ขณะนี้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันเหมือนอย่างเช่นในปี 1973 และ 1979 เพราะหลังจากนี้ตลาดน่าจะปรับตัวและและราคาขยับลดลง
เขากล่าวต่อว่า ราคาน้ำมันดีดตัวครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางโครงสร้าง ซึ่งจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นทศวรรษ
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันไลท์สวีทครูดที่ตลาดนิวยอร์กสัญญาส่งมอบเดือนกันยายนเมื่อวันศุกร์ (30 ก.ค.) ทะยานขึ้นทำสถิติใหม่อีกครั้ง โดยปิดที่ 43.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยช่วงหนึ่งดีดขึ้นไปถึง 43.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ที่ตลาดลอนดอนเพิ่มขึ้น 77 เซนต์ ปิดที่ 40.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นครั้งแรกที่ราคาทะลุ 40 ดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 1990 หลังจากอิรักเข้ายึดคูเวต
กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว ราคาน้ำมันปัจจุบันยังอยู่ห่างไกลจากระดับราคาที่เกิดวิกฤตน้ำมันทศวรรษ 1970 แต่ก็ถือว่าทะยานแรงมาก เมื่อเทียบกับต้นปี 2002 ซึ่งราคาอยู่ที่ราวๆ บาร์เรลละ 18 ดอลลาร์
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงกว่า 40 ดอลลาร์ ได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ นับตั้งแต่การก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 จนถึงการกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้งของอิรัก ราว 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ ปัญหาในเวเนซุเอลา ซึ่งคาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ 2.99 ล้านบีพีดีนับตั้งแต่เดือนนี้ และปัญหาในไนจีเรีย ตลอดจนความขัดแย้งในตะวันออกกลาง กล่าวได้ว่า ปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้ ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น 5-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไอเออี) ระบุว่า แนวโน้มราคาน้ำมันแพงอันยาวนาน บางส่วนเกิดจากองค์การประเทศผู้ค้าส่งน้ำมัน (โอเปก) ไม่สามารถสนองตอบดีมานด์โลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2% ในปีนี้อยู่ที่ 81.4 ล้านบีพีดี และทะยานเป็น 83.2 ล้านบีพีดีในปี 2005
ขณะที่จีน ซึ่งนำเข้าน้ำมันปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 30% จะต้องการใช้น้ำมันวันละ 11 ล้านบาร์เรลภายในปี 2025 เทียบกับการบริโภคน้ำมันปัจจุบันที่ 5.5 ล้านบาร์เรล
แม้โอเปก ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันราว 35% ของปริมาณซัปพลายทั่วโลก และเดินเครื่องเพิ่มเพดานการผลิตเป็น 26 ล้านบีพีดีตั้งแต่วานนี้ (1) ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตส่วนเกิน 1 ล้านบีพีดี “ในช่วงเวลาสั้นๆ” ทว่า นักวิเคราะห์สงสัยว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการโน้มน้าวให้ตลาดเชื่อว่า โอเปกยังมีศักยภาพสำรองเหลืออยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว องค์กรแห่งนี้มีกำลังผลิตส่วนเกินเหลือเพียง 300,000-400,000 บีพีดี ไม่เพียงพอรับมือหากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดวินาศกรรม โดยเฉพาะหากเป้าหมายการโจมตีอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย
กำลังโหลดความคิดเห็น