xs
xsm
sm
md
lg

"นายกบริดจ์" ตัดพ้อ "กองทุน-กกท." ไม่เคยเหลียวแล ขอบคุณภาคเอกชน หนุนจัดศึกเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย-แปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จัดศึกใหญ่บริดจ์เยาวชนชิงแชมป์เอเชียและแปซิฟิก 2025 ที่อยุธยา ระหว่าง 1-6 พ.ค.นี้ "ชยวัฒน์ พิเศษสิทธิ์" นายกกีฬาบริดจ์ไทย ตัดพ้อ ไร้การเหลียวแลจาก "กองทุนกีฬา+กกท." เผย ที่ผ่านมาตั้งใจพัฒนานักกีฬา สร้างผลงานมากมาย แต่ไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐเลย

สมาคมกีฬาบริดจ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี่ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และผู้ให้การสนับสนุน จัดการแข่งขันกีฬาบริดจ์เยาวชนชิงแชมป์เอเชียและแปซิฟิก 2025 "25th Asia Pacific Bridge Federation Youth Championships 2025" ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.68 ที่โรงแรมคาวาลิ คาซา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจัดการแข่งขันทั้งสิ้น 9 ประเภท มีนักกีฬาจาก 8 ประเทศ รวมกว่า 300 คน เข้าร่วม โดยรายการนี้ สหพันธ์กีฬาบริดจ์เอเชียย แปซิฟิก จะคัดเลือกตัวแทนนักกีฬาเยาวชน ไปเข้าร่วมการแข่งขันชิงกีฬาบริดจ์เยาวชน ชิงแชมป์โลกที่จะจัดขึ้นในเดือน ก.ค.นี้ ที่ประเทศอิตาลี

นายชยวัฒน์ พิเศษสิทธิ์ นายกสมาคมกีฬาบริดจ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่สมาคมฯ รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ในระดับเยาวชน เพื่อสร้างโอกาสให้นักกีฬาเยาวชนของไทย ที่กำลังเติบโต และแพร่ขยายจำนวนเยาวชนไทยที่สนใจในกีฬาบริดจ์ ที่มีอย่างมากมายในปัจจุบัน ให้มีโอกาสได้สัมผัสการแข่งขันในระดับนานาชาติ ได้เจอนักกีฬาเยาวชนต่าง ๆ ชาติ เพื่อวัดประเมินฝีมือของเยาวชนไทย พร้อมสร้างเสริมประสบการณ์การแข่งขันให้กับเยาวชนไทย ซึ่งเป็นความมุ่งหวังแรก ๆ ที่รับเป็นเจ้าภาพ เพราะหากจะส่งนักกีฬาเหล่านี้ทั้งหมดของไทยร่วม 100 คน จาก ประเภทต่าง ๆ ก็ต้องใช้งบประมาณที่สูง พอ ๆ กับการเป็นเจ้าภาพเอง

นายชยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้ยังประโยชน์หลายด้าน ตั้งแต่การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยสมาคมฯ เลือกจัดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงทพฯ การเดินทางสะดวกสบาย ค่าใช้จ่ายก็จะถูกกว่าจัดในเมืองหลวง และยังเป็นการเผยแพร่กีฬาไปสู่ท้องถิ่น ยังผลดีหลาย ๆ ด้านด้วยกัน ซึ่ง สมาคมฯ ประเมินว่าจะมีผลกระทบทางเศาฐกิจให้กับท้องถิ่น ประมาณ 10 ล้านบาท

"แต่ก็น่าน้อยใจ ที่ทางสมาคมฯ ไม่ได้รับการพิจารณางบประมาณการสนับสนุนกิจกรรมการจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติจากทางกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มาหลายรายการแล้วตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นมา แม้ สมาคมฯ จะมีการนำเสนอโครงการไปให้ทางกองทุนฯ พิจารณาทุกครั้งก็ตาม"

นายชยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สมาคมฯ ดำเนินการทั้งการจัดการแข่งขัน การสร้างนักกีฬา และสามารถทำผลงานในระดับนานาชาติมากมาย แต่การสนับสนุนจากภาครัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีน้อยมาก ก็คงต้องพยายามกันต่อไป ครั้งนี้หากไม่ได้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนอื่น ๆ ก็คงไม่สามารถดำเนินการจัดการแข่งขันครั้งนี้ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น