คอลัมน์ "TKO" โดย "น็อกเอาต์ แมน"
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนแรงสั่นสะเทือนกระเพื่อมมาถึงกรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัดของไทย รุนแรงถึงขั้นที่ทำให้ตึกสํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถล่มลงมาอย่างน่าใจหาย และตึกสูง กับคอนโดมีเนียมหลายแห่งได้รับความเสียหาย
เรื่องนี้ส่งผลต่อวงการกีฬาพอสมควร เพราะหลายอีเวนต์ที่มีแผนจะจัดกันในวันศุกร์ และเสาร์ ต้องยกเลิก หรือประกาศเลื่อนออกไป เช่น ONE ลุมพินี 102 หรือ แฟร์เท็กซ์ ไฟต์ แต่ก็มีอีกหลายอีเวนต์ที่เดินหน้าจัดการแข่งขันตามเดิม เช่น คอนเสิร์ตของวงค็อกเทล ที่ใช้สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในวันอาทิตย์ รวมไปถึง ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ ที่ชกกันคืนวันเสาร์ ณ เวทีมวยราชดำเนิน
ก่อนหน้านี้เหล่าแฟนมวยส่งคำถามไปถึง RWS ตั้งแต่เย็นศุกร์ ต่อเนื่องเช้าเสาร์ ว่าพวกเขาจะจัดแข่งขันตอนกลางคืนดั่งโปรแกรมเดิมหรือไม่ สุดท้ายได้รับคำตอบอย่าชัดเจนว่าทุกอย่างเหมือนเดิม เพราะฝ่ายจัดได้มีการคุยกับวิศวกรโครงสร้าง ดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างของเวทีมวยราชดำเนินอย่างละเอียด เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสนามมวยแห่งนี้
สำหรับสนามมวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 ในปี 2568 ปัจจุบันบริหารงานโดย บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ GSV โดยมี "แบงค์" เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ลูกชายของเสี่ยฮุย แห่งค่ายนครหวงโปรโมชั่น เป็นผู้กุมบังเหียน
สนามมวยเวทีราชดำเนินผ่านการรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ให้มีความเป็นสากล เพื่อให้เป็นสปอร์ต เอนเทอร์เมนต์สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งใช้เป็นสังเวียนของมวยสากลอาชีพระดับโลก เดินหน้าสร้างระบบอีโคซิสเตมให้กับวงการมวยไทยมาโดยตลอด
ย้อนกลับไปกว่า 80 ปีก่อน สถาปนิกชาวอิตาลี ซึ่งได้ชื่อว่าสร้างผลงานระดับโลกไว้มากมาย เป็นผู้สร้างสรรค์สนามมวยราชดำเนินแห่งนี้ขึ้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2484 ดูแลการก่อสร้างโดยบริษัทสัญชาติอิตาเลียน ชื่ออิมเพรส อิตาเลียน ออลเอสเตโร-โอเรียนเต ซึ่งชนะประมูลการก่อสร้างพร้อมการออกแบบ ไปด้วยราคา 258,900 บาท แต่ต้องหยุดไประหว่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง
ต่อมาจึงได้ว่าจ้าง บริษัท Christiani & Nielsen บริษัทก่อสร้างชั้นนำจากเดนมาร์กเข้ามารับช่วงต่อ รวมถึงจัดสร้างหลังคาคลุมสนามมวยซึ่งเป็นจุดเด่นอีกประการของเวทีราชดำเนิน นั่นคือเป็นหลังคาคอนกรีต เป็นความทันสมัยที่สุดแห่งยุค 2490 เฉพาะส่วนหลังคาคอนกรีต ใช้เวลาก่อสร้างไม่นานนักคือเพียงประมาณ 4 เดือนก็แล้วเสร็จ ปัจจุบัน โครงสร้างนี้ยังคงแข็งแรง คลุมแดดคลุมฝนให้กับสนามมวย นักมวย นักดนตรี และผู้ชมอย่างอดทน
ขณะเดียวกันล่าสุดสดๆ ร้อนๆ สนามมวยแห่งนี้เพิ่งจะมีการรีโนเวตครั้งใหญ่ ปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งกว่าเดิม มีการตรวจสอบโครงสร้างอาคารอย่างละเอียด ซึ่งก็ไม่แปลกใจว่าทำไมฝ่ายจัดถึงได้มีความมั่นใจในระดับสูงกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสนามมวยแห่งนี้
การรีโนเวตหนล่าสุด เวทีมวยราชดำเนิน มีการเพิ่มเติม "อิมเมอร์ ซีฟ มวยไทย" ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกไปแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน ถือเป็นการลงทุนกว่า 100 ล้านบาทที่ดูเหมือนจะคุ้มค่า เหมือนยกระดับให้สนามมวยเวทีราชดำเนินกลายเป็นสนามมวยระดับเวิลด์คลาสได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ซึ่งถ้าหยิบยกหลายๆ อย่าง มาเปรียบเทียบกัน ถ้าพูดถึงตามความจริงถึงแม้ศึก RWS อาจไม่สนุกเร้าใจเท่า ONE ลุมพินี แต่ถ้าวัดกันที่ความทันสมัยของสถานที่แล้ว ราชดำเนิน ดูดีกว่า ลุมพินี จริงๆ ณ ตอนนี้
หลังจากนี้ต้องมาดูกันว่าเวทีมวยลุมพินี ที่ดูแลโดยกองทัพบกโดยตรง ประกาศแผนการรีโนเวตครั้งใหญ่ออกมาให้เราได้ทราบกันไปแล้ว พวกเขาจะทำออกมาได้ดีแค่ไหน จะสามารถรองรับแฟนหมัดมวยได้มากขึ้นเพียงใด ถือว่าน่าติดตามเป็นอย่างมาก