คอลัมน์ "TKO" โดย "น็อกเอาต์ แมน"
มวย ONE สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง ONE ลุมพินี และ ONE Fight Night มีประเด็นดราม่าเล็กน้อย เมื่อผลการตัดสินของ 2 คู่ ที่ระหว่างการขกนั้นดูจะคล้ายๆกัน แต่ตอนจบดันไม่เหมือนกัน
เริ่มจาก ONE ลุมพินี 93 เมื่อศุกร์ที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา คู่เอก ก้องชัย ไฉนดอนเมือง พ่ายคะแนน รามาดาน ออนดาช จากเลบานอน อย่างเป็นเอกฉันท์ โดย รามาดาน ได้นับไป 1 หน แต่รูปเกมไม่ได้เหนือกว่านักชกไทยเท่าไหร่ เพราะโดนเตะจนแขนแทบช้ำ แต่สุดท้ายก็ยังประคองตัวเก็บชัยไปได้
แต่อีกคู่ใน ONE Fight Night ในวันเสาร์ กุหลาบดำ สจ.เปี๊ยกอุทัย เสียนับให้จอห์น ลินิเกอร์ ยกแรก แต่สุดท้ายรูปเกมเหนือกว่าคู่ชกทุกกระบวนท่า ก่อนจะได้รับการชูมือเป็นฝ่ายชนะ ชนิดสะใจแฟนมวยชาวไทย
ซึ่งแฟนหมัดมวยบางรายตั้งข้อสงสัยว่า กุหลาบดำ เสียนับ แต่ทำไมยังกลับมาชนะแต้มได้ กลับกันทาง ก้องชัย เสียนับเหมือนกัน และช่วงยก 3 ก็ดูดีกว่า รามาดาน ชัดเจน แต่ทำไมสุดท้ายถึงพ่ายแพ้แบบเอกฉันท์ จุดนี้จะบอกว่าแฟนหมัดมวยบางรายอาจจะยังไม่เข้าใจการให้คะแนนของ ONE ซึ่งจะแตกต่างกับการให้คะแนนของเวทีมวย 5 ยกทั่วๆไป พอสมควร วันนี้เลยอยากจะขอนำเสนอการให้คะแนนของ ONE ว่ามีกฎเกณฑ์อย่างไร
ONE จะให้คะแนนในรูปแบบ "ระบบคะแนนเต็ม 10" หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า 10-point must system เป็นระบบการให้คะแนนตามมาตรฐานสากล คือ กรรมการ 3 คนนั่งคนละมุมของเวที จะให้คะแนนทุก ๆ ยก ถ้าการแข่งขันมี 5 ยก ก็ให้คะแนนทีละยกทั้ง 5 ยก
เมื่อเริ่มต้นยก นักกีฬาจะได้คะแนนเต็ม 10 เท่ากัน นักกีฬาที่ออกอาวุธได้เข้าเป้ากว่า ทำได้ดีกว่า จะได้คะแนนเต็ม 10 ส่วนอีกคนจะได้ 9 ถ้าสูสีกันมากจนพิจารณาแล้วไม่เห็นความแตกต่าง กรรมการสามารถให้คะแนนเท่ากันในยกนั้น ๆ ได้
ในแต่ละยกหากนักกีฬาถูกนับ 1 ครั้ง คนที่ถูกนับจะถูกตัดคะแนนเหลือ 8 | ถ้าถูกนับ 2 ครั้ง จะถูกตัดคะแนนเหลือ 7 | หากมีการนับครั้งที่ 3 จะถูกจับแพ้ตามกติกา (ถูกนับ 3 ครั้งใน 1 ยก หรือถูกนับ 4 ครั้งใน 1 ไฟต์ จะถูกจับแพ้)
หลังจบแต่ละยก ไม่ว่ายกที่แล้วนักกีฬาจะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อขึ้นยกใหม่คะแนนจะเริ่มเต็ม 10 เท่ากันทั้งสองฝ่าย เช่นนี้ไปทุกยก หลังสิ้นสุดการแข่งขันครบทุกยก กรรมการจะนำคะแนนแต่ละยกมารวมกัน เพื่อหาผู้ชนะตามความเห็นของกรรมการแต่ละคน จากนั้นจะมีการรวบรวมใบคะแนนจากกรรมการทั้ง 3 คน เพื่อสรุปหาผู้ชนะเพียงคนเดียว
หากกรรมการ 3 คน ให้คะแนนผู้ชนะเป็นคนเดียวกัน จะเรียกว่า ชนะคะแนนเอกฉันท์ (Unanimous Decision)
หากกรรมการ 2 คน ให้คะแนนฝ่ายหนึ่งชนะ และ 1 คนให้อีกฝ่ายชนะ จะเรียกว่า ชนะคะแนนไม่เอกฉันท์ (Split Decision)
หากกรรมการ 2 คน ให้คะแนนฝ่ายหนึ่งชนะ และ 1 คนให้เสมอ จะเรียกว่า ชนะคะแนนเสียงข้างมาก (Majority Decision)
หากกรรมการ 2 คน ให้เสมอ และ 1 คนให้ฝ่ายหนึ่งชนะ จะเรียกว่า ชนะคะแนนเสียงข้างมากเสมอ (Majority Draw)
หากกรรมการ 3 คน ให้คะแนนทั้งสองฝ่ายเสมอกัน จะเรียกว่า เสมอ (Draw)
เนื่องด้วย ONE ไม่มีผลเสมอ กรณีมี “ชนะคะแนนเสียงข้างมากเสมอ” หรือ “เสมอ” เกิดขึ้น กรรมการที่ให้ผลเสมอ จะต้องกลับไปทบทวนเลือกผู้ชนะ โดยใช้หลักการพิจารณาตามลำดับความสำคัญที่ลดหลั่นกันไป
ดังนี้ การน็อกดาวน์ หรือการได้นับ (ดังที่เรามักเห็นว่า นักกีฬาที่ได้นับมักจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะด้วยเหตุนี้) การสร้างความเสียหายให้กับคู่แข่ง การออกอาวุธที่ชัดเจน การควบคุมเกม การเป็นฝ่ายเดินเข้าทำ (คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การเดินเข้าทำสำคัญที่สุด เป็นเรื่องเข้าใจผิด) เมื่อกรรมการเลือกผู้ชนะได้แล้ว จะเข้าสู่การสรุปหา “ผู้ชนะคะแนนเอกฉันท์” หรือ “ผู้ชนะคะแนนไม่เอกฉันท์” ตามที่อธิบายมาแล้วข้างต้น
การเห็นพ้องหรือเห็นต่างของกรรมการเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุปัจจัยที่กรรมการนั่งกันละมุมของเวที จึงทำให้มีมุมมองการเห็นอาวุธแตกต่างกันไป
เมื่อกฎกติกาของ ONE ระบุเอาไว้แบบนี้ จะเห็นได้ชัดในคู่ของกุหลาบดำ ว่า แม้เขาจะเสียนับในยกแรก พ่ายคะแนนไป 8-10 แต่ยกที่ 2 และ 3 เขาดูดีกว่าอย่างชัดเจน โดย 2 ยกหลัง กุหลาบดำ ชนะ 10-9 ทำให้ครบ 3 ยก เสมอ 28-28 เลยต้องวัดกันที่คะแนนดิบ ซึ่งกุหลาบดำออกอาวุธหลากหลายกว่า มีทั้งเตะ เข่า ศอก แต่ ลินิเกอร์ นั้นมีแต่หมัดล้วนๆ ทำให้นักชกไทยเอาชนะไปในที่สุด ซึ่งแตกต่างกับคู่ของ ก้องชัย ที่เสียนับให้คู่ชก แต่ตัวเองยังทำได้ไม่ดีพอเท่ากุหลาบดำ จึงต้องปราชัยให้กับ รามาดาน