กกท. โชว์ผลงานยกระดับวงการกีฬาไทยปี 2567 เผยแผนปี 2568 เดินหน้าส่งเสริมกีฬา เพื่อความเป็นเลิศอย่างเป็นระบบครบวงจร หนุนวิทยาศาสตร์การกีฬาเพิ่มศักยภาพนักกีฬา พัฒนาระบบบริหารจัดการกีฬาอาชีพและกีฬามวย จัดกิจกรรมแข่งกีฬาสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ประกาศความพร้อมไทยเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า กกท. เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมกิจการกีฬาของประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งโดยภาพรวมปี 2567 วงการกีฬาไทยขยับอันดับขึ้นสู่การแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ สามารถคว้าชัยชนะและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนานักกีฬาทีมชาติหน้าใหม่และประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับโลก นอกจากนี้ ยังผลักดันโครงการยกระดับการให้บริการของ กกท. (Smart National Sport Park) ให้เป็นสนามกีฬาที่มีเทคโนโลยีทันสมัย การส่งเสริมและยกระดับกีฬามวยไทยตามนโยบาย Soft Power การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาชนเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
“การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีนักกีฬาจากกว่า 200 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ในส่วนของประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน 51 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งด้านชนิดกีฬาและนักกีฬา โดยจำนวน 37 คนเป็นนักกีฬาหน้าใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง รวม 6 เหรียญรางวัล เป็นอันดับที่ 12 ของเอเชีย เช่นเดียวกับพาราลิมปิกเกมส์ 2024 มีนักกีฬาจาก 184 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน 79 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน ซึ่งประเทศไทย ได้ 6 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน 13 เหรียญทองแดง รวม 30 เหรียญรางวัล เป็นอันดันดับที่ 6 ของเอเชีย โดย ‘สายสุนี จ๊ะนะ’ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ สร้างประวัติศาสตร์นักกีฬาคนแรกของโลกที่คว้า 3 เหรียญทองวีลแชร์ฟันดาบ ทั้งในประเภทเซเบอร์หญิง, ฟอยล์หญิง และเอเป้หญิง นอกจากนี้ ยังได้ 1 เหรียญทองแดง ในประเภทเอเป้ทีมหญิงอีกด้วย” ผู้ว่าการ กกท. กล่าว
ดร.ก้องศักด กล่าวว่า สำหรับในปี 2568 กกท. จะดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนวิสาหกิจการกีฬาแห่งประเทศไทย 2568-2572 ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “พัฒนาการกีฬาให้ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติและบริหารจัดการองค์กรอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติ ได้แก่ การจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาคนพิการแห่งชาติ และกีฬาอาวุโสแห่งชาติ การเตรียมและส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น เอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เวิลด์เกมส์ ครั้งที่ 12 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เอเชียนยูธเกมส์ ครั้งที่ 4 ณ สาธาณรัฐอุซเบกิสถาน และเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาตส์เกมส์ 2025 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
นอกจากนี้ กกท. จะเดินหน้าสนับสนุนการจัดกิจกรรมและการแข่งขันกีฬาทุกระดับเพื่อสร้างมูลค่า ทางเศรษฐกิจ ทั้งการจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาอาชีพและกีฬามวย กีฬาเพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการ (Sports Tourism) ส่งเสริมการนำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) มาใช้ในการจัดกิจกรรมกีฬา โดยรายการสำคัญระดับโลก เช่น การแข่งขันรถจักรยานยนต์ MOTO GP การแข่งขันวิ่งเทรล Amazean Jungle Thailand by UTMB พัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพและกีฬามวย รวมทั้ง พัฒนาการบริการทางการกีฬา สนับสนุนกิจกรรมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และอีกหนึ่งแผนงานสำคัญคือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ได้แก่ ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก (FIVB Woman’s World Championship 2025) ซึ่งจะสร้างชื่อเสียง เผยแพร่เอกลักษณ์ และสร้างรายได้ให้ประเทศไทย
“ในปี 2568 กกท. ยังคงให้ความสำคัญในการส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศอย่างเป็นระบบครบวงจร มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ในการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาให้มีศักยภาพในระดับนานาชาติและต่อยอดสู่กีฬาอาชีพ การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบสมาร์ทออฟฟิศ และที่สำคัญคือ การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงศักยภาพความพร้อมด้านการจัดแข่งขัน และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้จักประเทศไทยมากขึ้นอีกด้วย” ผู้ว่าการ กกท. กล่าว