คอลัมน์ "TKO" โดย "น็อกเอาต์ แมน"
หลังสิ้นสุดระฆังยุติการแข่งขันในยกที่ 7 ตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกชาวไทยในสถาบันหลักของมวยสากลอาชีพก็กลายเป็น 0 คน ในทันที เมื่อ น็อคเอาท์ ซีพีเอฟ เจ้าของเข็มขัดสมาคมมวยโลก WBA รุ่นมินิมั่มเวต 105 ปอนด์ ที่ถือครองมาอย่างยาวนาน 8 ปี ถูกซัดร่วงลงไปกองกับพื้น และพ่ายทีเคโอ ออสการ์ คอลลาโซ่ ชาวเปอร์โตริโก ในที่สุด
การเสียเข็มขัดแชมป์ของ น็อคเอาท์ ในหนนี้ ทำให้ปราศจากกำปั้นจากไทยบนตารางแชมป์โลกของสถาบันหลัก เรียกได้ว่า "สูญพันธุ์" ก็คงไม่ผิดนัก ทั้ง สมาคมโลก WBA, สภามวยโลก WBC, องค์กรมวยโลก WBO และสหพันธ์มวยนานาชาติ IBF ไม่มีแชมเปี้ยนโลกชาวไทยหลงเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อย
จะมีก็เพียง ศิริมงคล สิงห์มนัสศักดิ์ (สิงห์วังชา) ที่ปัจจุบันเพิ่งจะคว้าเข็มขัดแชมป์ของมูลนิธิมวยโลก WBF ในวัย 47 ปี แต่องค์กรนี้ไม่ได้ถูกนับรวมในสถาบันหลักเหมือนองค์กรอื่นๆ
วงการมวยสากลอาชีพบ้านเราเงียบเหงามาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน หลังสิ้นสุดยุคทองของเหล่าอดีตแชมเปี้ยนโลกชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น เขาทราย แกเล็กซี อดีตแชมป์ซูเปอร์ฟลายเวต สมาคมมวยโลก หรือ สามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตแชมป์โลกซูเปอร์แบนตัมเวต สภามวยโลก และอีกหลายๆคน
หรือรุ่นหนุ่มกว่านั้นหน่อยก็พวก รัตนพล ส.วรพิน (มินิฟลายเวท สหพันธ์มวยนานาชาติ), วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น (แบนตั้มเวต สมาคมมวยโลก และสภามวยโลก), ศิริมงคล สิงห์มนัสศักดิ์ (แบนตั้มเวต กับซูเปอร์เฟเธอร์เวท สภามวยโลก)
มาจนถึงยุคใหม่ก็มีอย่าง พงษ์ศักดิ์เล็ก กระทิงแดงยิม (ฟลายเวท สภามวยโลก และเดอะริง), เด่นเก้าแสน เก้าวิชิต (ฟลายเวต สมาคมมวยโลก), ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย (ซูเปอร์ฟลายเวต สภามวยโลก และเดอะริง), อำนาจ รื่นเริง (ฟลายเวต สหพันธ์มวยนานาชาติ) หรือ วันเฮง มีนะโยธิน (สตรอว์เวต สภามวยโลก) และเพิ่งเสียแชมป์ไปสดๆ ร้อนๆ น็อคเอาท์ ซีพีเฟรชมาร์ท (มินิมัมเวท สมาคมมวยโลก)
ปัจจุบันทำเนียบแชมเปี้ยนโลกชาวไทย หยุดอยู่ที่ 49 คน มาตั้งแต่ปี 2563 คนสุดท้ายที่ได้เข็มขัดมาครอบครอง คือ เพชรมณี ก่อเกียรติยิม ที่ชิงมาจากคนไทยด้วยกันเอง อย่าง วันเฮง มีนะโยธิน แต่เขาก็เสียเข็มขัดเส้นนี้ไปเมื่อปี 2566
ทำไมมวยสากลอาชีพไทยถึงได้ซบเซาถึงเพียงนี้ ถ้ามองกันแบบเจาะลึกจริงๆ มันก็จับไปขยายความกันได้หลายประเด็น แต่หนึ่งในประเด็นที่อยากยิบยกมาพูดถึง คือการที่ปัจจุบัน มวยไทย ทำเงินได้ดี และดูมีอนาคตมากกว่า มวยสากลอาชีพ
หลายคนมุ่งมั่นตั้งใจฝึกซ้อมมวยไทยอย่างเต็มที่ เพราะมีรายการชกรองรับอยู่ตลอด ไม่ต้องถึงขั้นรายการระดับโลก อย่าง ONE Championship เอาแค่ระดับภูธรก็มีการประกบคู่มวยไทยกันเยอะแยะเต็มไปหมด เรียกได้ว่าเสียแรงเสียเหงื่อซ้อมไป ก็ได้ขึ้นชก หาเงินมาเลี้ยงชีพได้อยู่บ้าง
ตัดไปที่นักกีฬามวยสากลอาชีพ ต้องยอมรับว่าบ้านเราแทบไม่เห็นรายการที่จัดขึ้นเพื่อประชันฝีมือของเหล่านักชกมวยสากลอาชีพแบบจริงๆ จังๆ จะมีได้เห็นผ่านตาอยู่บ้างก็เป็นรายการของนครหลวงโปรโมชั่นที่จัดโดย "เสี่ยฮุย" แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ เพราะเหมือนจัดเพื่อให้นักมวยในค่ายเขาได้มีรายการอุ่นเครื่องเท่านั้น
ต้องยอมรับกันตามตรงว่าปัจจุบันนักกีฬามวยสากลอาชีพของไทยนั้น หาเงินได้ยากกว่าการขึ้นชกมวยไทย จะโกยเงินได้ก็ต่อเมื่อคุณสร้างชื่อได้เลย จนมีโปรโมเตอร์ระดับโลกมาติดต่อไปชกต่างประเทศ หรือสหรัฐอเมริกา คนล่าสุดที่ทำได้แบบนั้นจะเห็นก็มีเพียงแค่ "แหลม" ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น เท่านั้น
เรื่องเงินคือเรื่องใหญ่ ตราบใดที่เส้นทางนั้นๆ มองไม่เห็นช่องทาง หรือแสงสว่าง ก็ย่อมไม่มีคนเลือกที่จะเดิน ปัจจุบันถ้าคุณเติบโตมาในเส้นทางสายนักสู้ มวยไทย คือสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด เพราะคุณอาจพิชิตเงินค่าตัวหลักแสน ไม่รวมโบนัส ถ้าได้ต่อยใน ONE ลุมพินี หรืออย่างน้อยๆ ก็หลักหลายหมื่น ถ้าเก่งพอ และได้ต่อยในรายการที่รองลงมา
เช่นเดียวกับเหล่า โปรโมเตอร์ หรือผู้จัด เมื่อมองเห็นช่องทางการทำเงินได้มากกว่าเมื่อจัดแข่งมวยไทย ทำไมพวกเขายังจะยอมเสียเวลาไปจัดมวยสากลอยู่ ยกตัวอย่าง สมัยก่อนค่ายมวยเพชรยินดี เคยเป็นหัวเรือหลักในการจัดมวยสากลอาชีพ แต่ปัจจุบันพวกเขาหันมาทุ่มกับมวยไทยเต็มที่ เพราะมันสามารถหาเงินได้มากกว่า
ถ้าอยากให้วงการมวยสากลอาชีพของไทยกลับมารุ่งเรืองเฟื่องฟูอีกครั้ง อาจจะต้องไปดูกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น หรือองค์ประกอบของมันตั้งแต่ตั้งไข่เลย ว่าทำไมรากฐานของมันถึงส่งผลทำให้ปัจจุบันมวยสากลอาชีพของไทยไม่สามารถเดินไปต่อได้อย่างเต็มภาคภูมิ จนสุดท้ายทำเนียบแชมเปี้ยนโลกชาวไทย ณ ปัจจุบัน กลายเป็น 0 อย่างน่าใจหาย