ปิดฉาก “มหกรรมหนังสือฯ” ทะลุเป้า คนทะลักเข้าร่วมงาน เพียงวันเดียว!สูงสุดกว่า 2.3 แสนคน จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่! เงินสะพัดกว่า 438 ล้านบาท โตสวนกระแสเศรษฐกิจ ที่กำลังเริ่มฟื้นตัว คนเข้าร่วมงานประทับใจในกิจกรรมซอฟต์เพาเวอร์
ปิดฉากอย่างงดงาม พร้อมสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ให้งาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29” เผยมีผู้เข้าร่วมงานทะลุกว่า 1.4 ล้านคน เงินสะพัดกว่า 438 ล้านบาท พร้อมทำ ”นิวไฮ“ ยอดนักอ่านทะลุ 236,686 คน ในวันที่ 19 ต.ค.2567 สูงสุด หลังโควิดระบาด ปลุกอุตสาหกรรมหนังสือคึกคัก สวนกระแสเศรษฐกิจ ที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ลั่น! พร้อมขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 25,000 ตร.ม. ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งต่อไป หวังเปิดกว้างให้สำนักพิมพ์เข้าร่วมเพิ่ม สร้างโอกาสให้นักอ่านได้เลือกซื้อหนังสือเพิ่มในราคาสุดพิเศษ
นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยถึงความสำเร็จในการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 พร้อมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยการทำงานของอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ ภายใต้ THACCA และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมจัดงาน ภายใต้ธีม “อ่านกันยันโลกหน้า” ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม งานจัดตั้งแต่วันที่ 10-20 ตุลาคม 2567 พบว่ามีนักอ่านและผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 1.4 ล้านคน สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เติบโตสูงกว่าจีดีพีประเทศ พร้อมกันนี้ยังสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 เพียงวันเดียว มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 236,686 คน จากสถิติเดิมสูงสุด 162,135 คน คาดเงินสะพัด พีกสูงสุดกว่า 100 ล้านบาท มากที่สุดตั้งแต่จัดงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติมาหลังจากโควิดระบาด
กลุ่มคนที่เข้างาน แยกเป็น ผู้หญิง 63.78% ผู้ชาย 26.91% LGBTQ+ 6.90% และอื่นๆ 2.41% โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ 12-35 ปี จำนวน 69% เพิ่มขึ้นจากเดิม 20% ส่วนช่วงอายุ 23-28 ปี จำนวนสูงถึง 23%
หนังสือที่ขายดีในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 เรียงลำดับดังนี้
อันดับ 1 การ์ตูน 40%
อันดับ 2 นิยาย 30%
อันดับ 3 จิตวิทยา/ฮีลใจ 20%
และอื่นๆ หนังสือแบบเรียน หนังสือเด็ก หนังสือการลงทุน หนังสือสุขภาพ รวม 10%
“ความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. การจัดงานภายใต้ธีม “อ่านกันยันโลกหน้า” ที่แปลกใหม่กว่าทุกครั้งที่จัดมา และมีการสื่อสารที่ชัดเจน ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ดึงดูดผู้อ่านและผู้สนใจเข้าร่วมงาน 2. กระแสตอบรับที่ดีโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาเลือกซื้อหนังสือและร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีมากกว่า 100 กิจกรรม พร้อมกับการแชร์ผ่านโลกโซเชียล สร้างกระแสในวงกว้าง 3. การปรับตัวของสำนักพิมพ์และผู้ผลิตหนังสือ ที่นำสนองตอบต่อความต้องการของนักอ่านมากขึ้น เห็นได้จากการพัฒนารูปแบบหนังสือ เนื้อหา ทำให้หนังสือมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และดึงดูดให้นักอ่านกลับมาเลือกซื้อต่อเนื่อง โดยพบว่า สำนักพิมพ์ที่เปิดตัวหนังสือปกใหม่ ต่างได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งจากผู้ที่ซื้ออ่านและผู้ที่ซื้อสะสม รวมถึงนักเขียนต่างชาติก็ได้รับความสนใจจากผู้อ่านสูงเช่นกัน”
นายสุวิช กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งความสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของสำนักพิมพ์ต่างๆ อาทิ การจัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำ, แจกไอเทมพรีเมี่ยม การจัดกิจกรรม “หยิบฟรีไม่อั้น บุฟเฟ่ต์เต็มถุงในราคา 199 บาท, 579 บาท และ 699 บาท หนังสือใหม่ ชั่งกิโลขาย ขีดละ 10 บาท ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เห็นได้จากยอดจองคิวผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการจองคิวเข้าร่วมซื้อที่หน้าบูธต่างๆ เป็นต้น ถือเป็นแรงดึงดูดให้นักอ่านและผู้สนใจเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ซึ่งการจัดงานครั้งนี้พบว่ามียอดการซื้อหนังสือเฉลี่ย 600 บาทต่อคน ขณะเดียวกันพบว่ามีนักอ่านและผู้สนใจจำนวนมากที่มาร่วมงานมากกว่า 1 ครั้ง
“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือว่า สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ขณะที่หลายคนมองว่าหนังสือไม่ใช่ปัจจัย 4 แต่จากสถานการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า นักอ่านจำนวนมากยังชื่นชอบการอ่านหนังสือ และยังต้องการเลือกซื้อหนังสือเล่มโปรด พร้อมกับมาร่วมกิจกรรมเพื่อได้พบกับนักเขียนคนโปรด และได้รับไอเทมพิเศษภายในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 29 นอกจากนี้จากกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมหนังสือเมืองไทยที่มีมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นด้วย และส่งผลให้คนไทยมีสถิติการอ่านที่สูงขึ้น จากงานวิจัยล่าสุด ในปัจจุบันที่พบว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 113 นาทีต่อวัน”
นายก PUBAT กล่าวอีกว่า การที่คนรุ่นใหม่หันกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการอ่านของคนไทยในยุคดิจิทัลที่มีการเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ดีการอ่านหนังสือไม่เพียงแต่เป็นการเสริมสร้างความรู้และทักษะ แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านกับนักเขียนและสำนักพิมพ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการพัฒนาวงการหนังสือในประเทศไทยให้มีความหลากหลายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีจากความสำเร็จในครั้งนี้ สมาคมมีแนวคิดในการขยายพื้นที่จัดงานในครั้งต่อไป โดยจะขยายเพิ่มอีก 1 ฮอลล์ หรือประมาณ 5,000 ตร.ม. ส่งผลให้มีพื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ตร.ม. จากเดิมที่มีอยู่ราว 20,000 ตร.ม. ซึ่งจะทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ สามารถเข้าร่วมออกบูธได้มากขึ้น และมีหนังสือออกวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น สร้างโอกาสให้ผู้อ่านและผู้สนใจสามารถมาเดินเลือกซื้อหนังสือที่ตัวเองชื่นชอบ และร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น
“ผมเชื่อว่าวันนี้ผู้ที่มาร่วมงานมหกรรมหนังสือฯ ไม่ได้มาเพื่อซื้อหนังสือเท่านั้น แต่ต้องการมาเพื่อสรรหาแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์พร้อมกับความสนุกสนาน ทำให้การจัดงานหนังสือในรูปแบบของเฟสติวัลได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งในการจัดงานหนังสือครั้งต่อไป นักอ่านจะได้พบกับธีมใหม่ๆ ที่เชื่อว่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนทุกครั้ง รอติดตามการจัดงานครั้งต่อไปได้ในเร็วๆ นี้ครับ”
สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Thai Book Fair