สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่กรุงเทพ-ชลบุรี-สงขลา ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2568 ว่า อันดับแรกเลยเราจะเตรียมแผนการคิกออฟการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เพื่อให้พี่น้องชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการให้กำลังใจนักกีฬาไทย ซึ่งในช่วง 1 ปีที่นักกีฬาเก็บตัวไปจนถึงการแข่งขัน จะมีการส่งสื่อมวลชนลงไปเกาะติดนักกีฬา ทำสกู๊ปนักกีฬา เพื่อสร้างความนิยมให้กับนักกีฬาก่อนจะเข้าสู่การแข่งขันจริง และจะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับนักกีฬาตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มคิกออฟกัน
นอกจากนี้เราจะมีการประกาศให้ซีเกมส์ครั้งนี้ เป็นกรีนซีเกมส์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) โดยที่เราจะต้องคำนึงถึงวิธีการทำ ทำอย่างไรให้มันเป็นกรีนซีเกมส์อย่างแท้จริง สามารถวัดผลสำเร็จ (KPI) ออกมาได้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียน เราจะต้องเน้นเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) เช่นเสื้อผ้านักกีฬาก็ต้องทำจากวัสดุรีไซเคิล หรือรถรับส่งก็จะต้องเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
นายสรวงศ์ กล่าวอีกว่า จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีเคาะจังหวัดเจ้าภาพเอาไว้ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ-ชลบุรี-สงขลา ตอนนี้ก็ได้มีนโยบายจะเพิ่มจังหวัดที่เป็นเจ้าภาพ อย่างเช่นภาคเหนือหรืออีสาน ที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าภาพร่วม เพื่อจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่จะต้องไม่ลืมเรื่องของการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
"อาจจะไม่ใช่เป็นเจ้าภาพหลักแต่เป็นการแยกชนิดกีฬาไปแข่งที่จังหวัดนั้นๆ โดยตอนนี้มีการวางแผนงานจะให้แต่ละสมาคมกีฬา เป็นคนดำเนินการจัดการแข่งขันในชนิดกีฬานั้นๆ เพราะเชื่อว่าสมาคมกีฬามีความเชี่ยวชาญมากกว่า โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องงบประมาณ, สถานที่ หรืออุปกรณต่างๆ ที่จะต้องปรับเปลี่ยน ซ่อมแซม ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่แข่งขันได้" รมว.กีฬา กล่าว
ในส่วนของพิธีเปิดอาจจะเลียนแบบโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่พิธีเปิดไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในสนามกีฬาอีกแล้ว อาจจะหาสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ที่เป็นศูนย์กลางสามารถให้ทุกคนมารวมตัวกันได้ ส่วนจำนวนชนิดกีฬา ที่ปัจจุบันมนตรีซีเกมส์ เสนอให้จัดถึง 50 ชนิดกีฬานั้น มองว่าชนิดกีฬาอาจจะเยอะเกินไป