xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! มันมากับความร้อน...ไอ้หน้าเก่า.."โรคลมแดด" / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

ช่วงนี้พระอาทิตย์ท่านขยันเป็นพิเศษ ทรงเคลื่อนราชรถออกมาตั้งแต่ไก่โห่ แดดออกแจ๋ตั้งแต่เช้าตรู่ แต่พระพายท่านกับอู้งาน ทำให้บรรยากาศร้อนอบอ้าวจนเราอยากเป็นลมเสียเอง

“โอ้ย! มหาโหดอะไรอย่างนี้” คุณชูสง่าระเบิดอารมณ์ออกมาแล้ว ทำท่าจะเป็นลมทั้ง ๆ ที่นั่งเจาะพัดลมอยู่แต่เหงื่อออกชุ่มตัว ความจริงช่วงนี้กวนเรามีการปรับตัวในการออกรอบ เช่น ต้องใช้รถตลอดเพราะเดินไม่ไหว ขนน้ำดื่มไปเต็มรถ พร้อมกระติกน้ำน้ำแข็งและผ้าเย็น ที่พิเศษคือ เฮียชูเพิ่ม แคดดี้ถือร่มเพิ่มอีก 1 คน ทั้งนี้ เพราะกลัวแกเป็นลมแดดและโรคประจำตัวกำเริบโดยเฉพาะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ หลายจังหวัดมีอุณหภูมิทะลุสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ติด 1 ใน 15 ของเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก อากาศที่ร้อนจัดทำให้เสี่ยงต่อโรคลมแดด ซึ่งอันตรายถึงชีวิต โดยในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคฮีทสโตรก ถึง 18 ราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะอากาศร้อนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

โรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพ้อ ชัก ช็อค ไม่รู้สึกตัว และถ้าปล่อยทิ้งไว้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ และอาจอันตรายถึงชีวิต

บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะเป็นโรคลมร้อน ได้แก่ ทหารที่ไม่ได้เตรียมร่างกายเพื่อเข้ารับการฝึก นักกีฬาที่ออกกำลัง และผู้ที่ทำงานในอากาศร้อนจัด

- อาการของโรคลมแดด

1.มีไข้สูง 40.5 องศาเซลเซียส

2. ปวดศีรษะ หน้ามืด เมื่อยล้า อ่อนเพลีย และอาจหมดสติได้

3. มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ชัก เพ้อ เดินโซเซ ตอบสนองช้า พูดจาสับสน

4. ไม่มีเหงื่อออก จากผลของต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ ผิวแดงขึ้น

5. อาจพบปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ จากภาวะ กล้ามเนื้อสลาย และอาจเกิดภาวะไตวายตามมา

- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หลักการที่สำคัญที่สุดคือการทำให้อุณหภูมิลดลงให้เร็วที่สุด ก่อนนำส่งโรงพยาบาลโดยการย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม ให้นอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อผ้า แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเกลือให้มากที่สุดเพื่อทดแทนภาวะการขาดน้ำ จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

- การป้องกันภาวะลมแดด

1. ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย และบาง เพื่อให้อากาศอากาศถ่ายเท

2. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอย่างน้อย 8 แก้ว/วัน

3. หากเล่นกีฬานานเกินกว่า 1 ชั่วโมงควรดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน

4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแดด ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด

5. เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนจัด หากมีอาการผิดปกติหรืออาการที่บ่งบอกตามข้างต้น ขอให้รีบพบแพทย์ทันที

6. สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ป้องกันแดด
กำลังโหลดความคิดเห็น