บูธ สนพ.ต่างชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ สุดคึกคัก! นักอ่านไทย-เทศ ตบเท้าให้การต้อนรับเนืองแน่น แข่งโหด! กระหน่ำทั้งลด ทั้งแถมหนังสือสอนภาษา หนังสือภาพเด็กลิขสิทธิ์แท้หายาก ขณะที่นิยายวายไทยบูมสุดขีด! กลุ่มนักอ่านจีน แห่จับจองขนกลับประเทศ ดันตลาดหนังสือไทยอนาคตไกล
น.ส.ดวงพร สุทธิสมบูรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า สำนักพิมพ์ชั้นนำระดับโลกให้ความสำคัญต่อตลาดหนังสือในประเทศไทยอย่างมากโดยได้ร่วมออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 จำนวน 9 ประเทศ 11 บริษัท รวม 18 บูธ อาทิ อังกฤษ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ยูเครน ฯลฯ เพื่อนำเสนอหนังสือ,วัฒนธรรม, เทคโนโลยีการพิมพ์ และการเรียนการสอนภาษา เนื่องจากปัจจุบันการออกบูธในลักษณะขายตรงให้กับนักอ่านในงานหนังสือในโลกไม่ค่อยมีแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นการขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ ขณะเดียวกันยังต้องการดูบรรยากาศและแนวโน้มของตลาดหนังสือไทยที่ยังคงอ่านหนังสือเป็นรูปเล่มต่างจากหลายประเทศทั่วโลก และต้องการศึกษาว่านักอ่านไทยนิยมอ่านหนังสือแนวใดมากที่สุดเพื่อที่จะได้กลับไปวางแผนการผลิตให้ตรงต่อความต้องการและนำกลับมาออกบูธในหนังสือครั้งต่อไป รวมทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และกระแสของหนังสือระหว่างบูธสำนักพิมพ์ต่างชาติอื่นๆ ที่มาร่วมงานเดียวกันอีกด้วย
ทั้งนี้ บูธสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ในงานนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากทั้งนักอ่านชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะหนังสือสอนภาษา หนังสือภาพนิทานสำหรับเด็กลิขสิทธิ์แท้จากต่างประเทศ และของเล่นเสริมทักษะ เนื่องจากมีราคาถูก และมีหลากหลายประเภทให้เลือกซึ่งบางเล่มหาได้ยากมากในไทย
ขณะที่ บูธสำนักพิมพ์จากไต้หวันได้รับความสนใจเป็นพิเศษเช่นกัน เพราะได้จัดแสดงหนังสือภาพนิทานเด็ก 2 ภาษาไทย-จีน ซึ่งเป็นความร่วมมือจากนักวาดภาพชื่อดังชาวไทย และนักเขียนชาวไต้หวัน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไต้หวัน เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน โดยหนังสือที่โดดเด่น เช่น หนังสือภาพออกเดินทางไปหาเพื่อนของ ปรีดา ปัญญาจันทร์ และหนังสือภาพวันสนุก ของ ชีวัน วิสาสะ ซึ่งแม้จะยังไม่มีจำหน่ายแต่สามารถหาอ่านที่ได้ www.ttpicbook.visionthai.net
“พ่อแม่ผู้ปกครองไทย ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างทักษะด้านภาษาต่างประเทศให้บุตรหลานทำให้บูธสำนักพิมพ์ต่างประเทศในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะบางเล่มไม่มีขายในไทย และยังมีที่ราคาถูกมากและหาไม่ได้อีกแล้วในงานอื่น” น.ส.ดวงพร กล่าว
นอกจากนั้น พบว่าชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นนักเที่ยวและอาศัยในไทย ให้ความสนใจในการเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเข้ามาเลือกซื้อหนังสือนวนิยายประเภทวาย ผลงานนักเขียนชาวไทย ทั้งหนังสือปกเก่าที่เคยวางจำหน่ายไปแล้วและหนังสือปกใหม่ เนื่องจากได้ติดตามผลงานหนังสือที่เคยนำไปผลิตเป็นซีรีย์
มาก่อน และชื่นชอบเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่น่าสนใจทำให้สนใจหาซื้อหนังสือเพื่ออ่านและสะสมเพิ่มเติมซึ่งเท่ากับเป็นการส่งต่อวัฒนธรรม Soft Power ของไทยที่สำคัญอีกรูปแบบหนึ่ง
Mr. Sanjee De Silva เจ้าของบูธ BANGZOLL Books จากประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ให้ความสนใจต่อตลาดหนังสือไทยเพราะเป็นแนวโน้มการเติบโตที่ดี ในขณะที่นักอ่านชาวไทยยังคงนิยมหนังสือรูปเล่มต่างจากตลาดประเทศอื่นๆ ซึ่งหันไปสนใจการอ่านหนังสือผ่าน E-Books มากกว่า รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่จะเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมการอ่านหนังสือของคนไทยเพื่อที่จะได้นำไปวางแผนผลิตหนังสือต่อไป นอกจากนั้นจะได้เข้าร่วมกิจกรรม Bangkok Rights Fair เพื่อเจรจาซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสืออีกด้วย
“ครั้งแรกที่มาร่วมงานหนังสือในไทยซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากเพราะคนไทยยังคงอ่านหนังสือเป็นรูปเล่ม พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสนใจที่จะซื้อหนังสือภาษาต่างประเทศไปอ่านมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เคยไปร่วมงาน เรียกได้ว่ากระแสตอบรับที่ดีมาก ขณะที่ตลาดหนังสือไทยเป็นตลาดที่ใหญ่มากและมีทิศทางการเติบโตที่ดี โดยในปีหน้าก็จะกลับมาร่วมออกบูธอีก” Mr. Sanjee กล่าว
ทั้งนี้ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่
28 มีนาคม 2567 ถึง 8 เมษายน 2567 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดูละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Thai Book Fair