คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
สายของวันที่ร้อนจัด พี่หมอนั่งหน้าพัดลมที่ไม่อนุญาตให้ส่ายหน้าอย่างง่วงๆ “สวัสดีครับพี่หมอ” เจ้าเก่งโผล่เข้ามาในห้องรับแขกพลางเอ่ยทักพี่หมอเหงื่อเต้มหน้ารีบไปกดรีโมทเปิดแอร์ที่ 20 องศา แล้วนั่งแผ่หน้าแอร์อย่างหมดเรี่ยวแรง ที่บ้านคุณชูสง่าวางกกเกณฑ์ไว้ว่าถ้าอยู่คนเดียวห้ามเปิดแอร์ แต่ถ้ามี 2 คนขึ้นไปถึงจะเปิดได้ พี่หมอนั่งมองพฤติกรรมของเจ้าเก่งอย่างเงียบๆ ไม่ได้ตำหนิ เพราะมันทำเหมือนๆกับชาวบ้านทั่วไป สักพักพี่หมอจึงเดินไปกดส่ายพัดลม แล้วปรับแอร์มาอยู่ที่ 26 องศา ตอนนี้เจ้าเก่งผล๋อยหลับไปแล้ว ตื่นขึ้นมาคงได้ฟังพี่หมอสั่งสอนเรื่องการเปิดแอร์ให้ประหยัดค่าไฟช่วงหน้าร้อน
การไฟฟ้านครหลวงออกคำแนะนำการใช้งานแอร์ในฤดูร้อน(มาก) ให้ประหยัดที่สุด เพื่อให้ตัวเลขค่าไฟที่ดีช่วงปลายเดือน
เข้าสู่เดือนมีนาคม กรมอุตุนิยมวิทยได้ประกาศออกมาแล้วว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว และวิธีคลายร้อนที่ใกล้ตัวและทำได้ง่ายที่สุดของหลายๆคนคือการเปิดแอร์ แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงของหน้าร้อนเมืองไทย ทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์ต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามมา การไฟฟ้านครหลวงเป็นห่วง จึงให้คำแนะนำถึงวิธีการเปิดการใช้แอร์ในช่วงหน้าร้อนอย่างไรให้ประหยัดมากที่สุด มาฝากกัน
1.เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาขึ้นไป ตอนแรกอาจจะดูเหมือนอากาศยังคงร้อนอยู่ แต่หากต้องการให้รู้สึกเย็นเร็วขึ้น แนะนำให้เปิดพัดลมไปพร้อมๆกับเปิดแอร์ เพราะพัดลมจะช่วยเพิ่มความเร็วลมและเกิดการเพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศ ทำให้เกิดการระบายความร้อนจากร่างกาย เราจึงรู้สึกว่าอากาศมีความเย็นสบายเร็วขึ้น
2.ล้างแอร์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน เพราะหากมีฝุ่นสะสมเกาะอยู่ที่ตัวระบายความร้อน จะทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์ต้องทำงานหนักและใช้พลังงานมากเกินไป ทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้แอร์ที่เราเปิดเย็นสบายแล้ว ยังช่วยยับยั้งการเกิดแบคทีเรียและความชื้น ส่งผลให้เกิดกลิ่นเหม็นอับ และยังก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอีกด้วย
3.ไม่ควรใช้อุปกรณ์ทำให้เกิดความร้อนในห้องแอร์ เช่น ไม่ควรรีดผ้า ใช้ไดร์เป่าผม หรือต้มน้ำร้อน เพราะจะทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น
4.ในช่วงอากาศร้อน ตอนแรกๆควรตั้งความเร็วพัดลมแอร์ที่ระดับสูงสุด เพื่อให้ห้องมีความเย็นเร็วขึ้น เมื่อได้ความเย็นขนาดที่ต้องการแล้ว ให้ลดความเร็วพัดลมแอร์กลับมาอยู่ในระดับปกติ
5.ตั้งเวลาปิดแอร์ให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง วิธีนี้เป็นการลดเวลาเพียงเล็กน้อย แต่จะเป็นการประหยัดค่าไฟได้มากเลยทีเดียว
โดยเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 การไฟฟ้านครหลวงได้ทำการทดสอบการเปิดแอร์ด้วยเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 btu โดยตั้งไว้ที่อุณหภูมิ 26 องศา ขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้องที่ 35 องศา และที่ 41 องศาเซลเซียส ผลการทดสอบพบว่า การเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น 6 องศา ส่งผลให้มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 14 %
ดังนั้นเราสามารถเปิดแอร์ดับความร้อนพร้อมๆกับการประหยัดค่าไฟไปด้วยได้ โดยปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อบิลค่าไฟที่เบาๆลงช่วงปลายเดือน