xs
xsm
sm
md
lg

สสส. ผนึกกำลังพันธมิตร ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. สานพลัง สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ด้วยกลยุทธ์ 3 Active ประกอบด้วย Active Society (สังคม), Active Environment (สิ่งแวดล้อม) และ Active People (คน) เพื่อการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ในประเทศไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายร่วมกับภาคีเครือข่ายสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น ศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส., นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส อดีตรองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ คุณนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส. ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความร่วมมือการจัดกิจกรรมกีฬามวลชนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเป้าหมายความร่วมมือการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการใช้ทักษะ ความเชี่ยวชาญด้านกีฬา สร้างค่านิยมกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิต และใช้นักกีฬาเป็นต้นแบบคนรุ่นใหม่ Influencer รวมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สร้างเสริมสุขภาพ และลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส.มีวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพในวิถีชีวิตเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ให้กับประชาชน ซึ่งสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก และประเทศไทย โดยการขาดกิจกรรมทางกาย เป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักที่นำไปสู่การเสียชีวิตจากโรคกลุ่มดังกล่าว และมีความรุนแรงเทียบเคียงกับการสูบบุหรี่ ดังนั้น เราจึงต้องมุ่งเน้นให้มีการการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทั้งการรณรงค์สร้างการรับรู้ และความตระหนักด้านกิจกรรมทางกายในระดับสาธารณะ การพัฒนาและส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางสุขภาวะ และการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical Literacy) ให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค และจะต้องมีความทันสมัยต่อสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่ นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส อดีตรองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า สสส.ได้ร่วมมือกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยเรามุ่งหวังอยากที่จะให้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ใช้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ในการช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายให้มีความเพียงพอสำหรับคนไทย ไม่ใช่เพียงแต่การเล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และเยาวชน เนื่องจากมีสถานการณ์การออกกำลังกายน้อยในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราจะมีการใช้ความเชี่ยวชาญด้านกีฬาปูพื้นฐานให้กับเด็ก เพื่อที่จะมีกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิตให้ได้ ทั้งนี้ถ้าเด็กมีทักษะทางกายก็จะติดตัวไปจนโต ดังนั้นเราอยากให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสร่วมกิจกรรมและมีนักกีฬา หรือโค้ชนักกีฬาเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีไปตลอดทุกช่วงวัยอีกด้วย

ด้าน คุณนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส. กล่าวว่า เนื่องจากกิจกรรมทางกายของคนไทยลดลงอย่างมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ขณะที่พฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวัน สูงที่สุดในรอบ 9 ปี ดังนั้นจึงกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3 Active ประกอบด้วย

Active Society การสร้างความตระหนักและบรรยากาศของสังคม ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง อยากที่จะออกมาเคลื่อนไหวร่างกาย ผ่านการรณรงค์ในกิจกรรมต่าง ๆ และกระตุ้นให้คนทุกคนอยากที่จะออกมามีการเคลี่อนไหว ผ่านการจัดกิจกรรมมวลชนเพื่อสุขภาพที่มีความปลอดภัย ส่งเสริมให้สังคมเป็นสังคมสุขภาวะที่มีการรับรู้ ทราบถึงประโยชน์ และค่านิยมในการให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงไม่เนือยนิ่ง

Active Environment การสนับสนุนปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีวิถีชีวิตสุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนทุกลุ่มตั้งแต่ที่บ้าน ที่ทำงาน ตลอดจนสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยทำให้การดำเนินชีวิตมีการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

Active People การส่งเสริมความรอบรู้ และกระตุ้นแรงจูงใจในตัวบุคคล สร้างความรอบรู้ทางกาย ควบคู่ไปกับความรอบรู้ด้านสุขภาพในการออกแบบ และสร้างโอกาส และประสบการณ์ในการมีกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิตที่เหมาะสมตามช่วงวัย

นอกจาก 3 active ข้างต้นแล้ว จะต้องมีการพัฒนาให้เกิดระบบสนับสนุนการทำงานที่มีประสิทธิภาพการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเกิดประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นหนึ่งในการพยายามสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดการขยายเชิงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเกิดขึ้น ผ่าน "จุดเน้นความร่วมมือกิจมวลชนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย มีความเชี่ยวชาญ และสังคมยอมรับ บุคลากรมีความน่าเชื่อถือเป็น Influencer ผู้นำด้านสุขภาพให้กับทุกเพศทุกวัย และสังคมสามารถสื่อสารประเด็นสร้างเสริมสุขภาวะของสังคมร่วมส่งเสริมทักษะทางกายสำหรับเด็ก ร่วมพัฒนา และนำใช้มาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ในการจัดกิจกรรมมวลชนได้อีกด้วย"








กำลังโหลดความคิดเห็น