xs
xsm
sm
md
lg

ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ตากแดดในรถ...ก่อมะเร็งจริงหรือ? / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

เจ้าเก่งควานหาขวดน้ำใต้เบาะรถมาดื่มอั้กๆ ด้วยความกระหายหลังกินขนมกบกรอบรสเผ็ดนรกจนหมดถุงรวดเดียว หน้าแดงก่ำหายใจทางปากเหมือนเจ้าบ๊อกไม่มีผิด คุณชูสง่าเห็นจึงรีบห้ามปรามด้วยความห่วงใย “ไอ้เก่งเดี๋ยวก็เป็นมะเร็งตายหรอก กินน้ำขวดพลาสติกตากแดดในรถ” แต่แทนที่เจ้าเก่งจะเชื่อฟัง กลับควานหาขวดที่2มาดื่มอีกเหมือนยิ่งห้ามยิ่งยุ “เฮียนี่เชยจัง” เจ้าเก่งคิดในใจแล้วโต้ตอบว่า “ผมถามพี่หมอมาแล้วครับ พี่หมอบอกดื่มได้ไม่อันตราย” “จริงเหรอหมอ?” เฮียชูหันไปถามพี่หมอด้วยความสงสัย “จริงครับเฮีย”

เรามักจะพบเห็นขวดน้ำพลาสติกทั้งขวดเล็กและขวดใหญ่ที่แถมมาจากการเติมน้ำมันค้างอยู่ในรถยนต์เสมอ และถ้าระหว่างทางหากเกิดหิวน้ำขึ้นมาก็จะควานหามาดื่ม บางครั้งอุณหภูมิของน้ำจะร้อนจี๋เพราะรถจอดตากแดดมานาน

ดื่มน้ำที่ทิ้งไว้ในรถยนต์ อันตรายต่อสุภาพหรือไม่? จากความเชื่อที่ว่า น้ำดื่มที่อยู่ในรถยนต์ที่ถูกความร้อนอบหรือโดนแดดส่อง จนทำให้ขวดร้อนพลาสติกละลายปนมากับน้ำดื่มนั้น เราต้องมาดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

1อุณหภูมิความร้อนในรถยนต์ ร้อนมากน้อยแค่ไหน

2ขวดน้ำดื่มพลาสติกนั้น เป็นขวดประเภทใด ทนความร้อนได้มากน้อยแค่ไหน?

ขวดน้ำดื่มบ้านเราจริงๆแล้วส่วนใหญ่จะเป็นขวด PET หรือ PETE ซึ่งทำจากพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต จัดเป็นพลาสติกหมายเลข1 จากพลาสติกรีไซเคิลทั้ง 7 ประเภท ลักษณะของขวดจะเป็นพลาสติกใสเหนียวแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบาไม่แตกง่าย สามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้ดีจึงถูกนำมาใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม น้ำมันพืชและซอสปรุงรสต่างๆ

-ขวด PET ทนทานต่อความร้อนได้มากแค่ไหน?

ปัจจุบันในการผลิตขวดPET ต้องได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขให้สามารถทนทานความร้อนได้สูงถึง 60-95 องศาเซลเซียส

-หากขวดพลาสติกได้ความร้อน จะปล่อยสารอันตรายออกมาผสมกับน้ำข้างในขวดหรือไม่?

ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัด ว่าเป็นอันตรายจริงอย่างที่กล่าวอ้างกัน โดยเป็นกรณีที่วางขวดน้ำพลาสติกแบบPET ทิ้งไว้ในรถยนต์เท่านั้น ซึ่งความร้อนในรถยนต์ที่ตากแดดไม่ถึง 60 องศาเซลเซียสแน่นอน ดังนั้นจึงตรวจไม่พบสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตามที่ผู้บริโภคเกิดความตื่นกลัว เพราะสารไดออกซินจะเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ความร้อนสูงเกิน200องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า น้ำขวดพลาสติกที่ยังไม่ถูกเปิดดื่ม ทิ้งตากแดดในรถ ดื่มได้ไม่อันตราย แต่ถ้าเปิดแล้วควรดื่มให้หมด ถ้าเก็บไว้ดื่มในวันต่อๆไป อาจป่วยเพราะเชื้อโรคที่เล็ดลอดเข้าไปในขวด แต่ขวดน้ำพวกนี้ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจมีแบคทีเรียตกค้างในขวด หากนำมาใส่น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ก็จะเกิดการปนเปื้อนได้เหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น