xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วย “มวยข้ามเพศ” อีกที / ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “ริงไซด์ ไฟต์คลับ” โดย “ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์”

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ในวงการกรีฑา เมื่อสหพันธ์กรีฑานานาชาติตัดสินใจยกเลิกคะแนนสะสมของนักกรีฑาสาวจีนสองราย ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงสรีระว่าน่าจะเป็นนักกรีฑาชายมากกว่า แต่ทางสหพันธ์กรีฑานานาชาติก็ไม่ได้สรุปออกมาให้ชัดเจนว่าที่ตัดคะแนนสะสมนั้นเป็นเพราะอะไร มีข้อสรุปได้หรือไม่อย่างไรว่านักกรีฑาทั้งคู่นั้นเป็นชายหรีอหญิง และก็ทำให้เกิดกระแสเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การแข่งกีฬาของบรรดานักกีฬาข้ามเพศกันอีกครั้ง ว่าทำอย่างไรจึงจะให้นักกีฬาที่มีเพศสภาพแบบนี้ได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาอย่างเหมาะสม

หลักๆ ประเด็นที่แฟนกีฬามักจะมองกัน ก็คือการที่นักกีฬาที่เกิดมาเป็นเพศชาย แต่ได้ทำการแปลงเพศเป็นเพศหญิง แล้วมาร่วมแข่งกับนักกีฬาหญิง เอาจริงในวงการกีฬาระดับโลก ก็มีเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อลดความได้เปรียบทางสรีระของนักกีฬากลุ่มนี้อยู่พอสมควร หลักๆ ก็คือต้องมีการผ่าตัดแปลงเพศแล้วเรียบร้อย ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งที่นานพอสมควร แล้วก็ต้องมีฮอร์โมนเพศชายในร่างกายไม่เกินระดับที่กำหนด แต่ที่เห็นๆ มา ส่วนใหญ่นักกีฬาที่เกิดมาเป็นเพศชาย ผ่านวัยรุ่นมาในสภาพเพศชาย ก็มักจะได้เปรียบเรื่องสรีระอยู่ดี ยิ่งถ้ากีฬาที่ต้องมีการปะทะกัน ก็มักจะมีคำครหาเรื่อยๆ ว่านักกีฬาข้ามเพศจากเพศชายมาเป็นเพศหญิงนั้นจะได้เปรียบคู่แข่งที่เกิดมาเป็นหญิงอยู่พอสมควร ส่วนนักกีฬาที่เป็นหญิงแล้วมีการแปลงเพศเป็นชายนั้นไม่ค่อยมี หรือถึงมีในความรู้สึกแฟนๆ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะมีภาพจำว่านักกีฬาหญิงที่แปลงเพศเป็นชาย มาแข่งกับนักกีฬาชายนั้นน่าจะเสียเปรียบอยู่พอสมควร

แต่ในวงการต่อสู้ ที่เป็นกีฬาที่อาศัยสรีระ และแรงปะทะสุดๆ นั้น มีนักมวยอยู่รายหนึ่ง คือ ปาทริซิโอ มานูเอล นักชกวัย 38 ปี เพิ่งชึ้นชกอาชีพไปเป็นไฟต์ที่ 3 ในชีวิตเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และชนะรวดเป็นไฟต์ที่ 3 นักชกอเมริกันรายนี้เกิดมาในชื่อ แพตตริเซีย มานูเอล เติบโตขึ้นมาเป็นสาวเต็มตัว เคยขึ้นชกคัดเลือกเพื่อเข้าชกในรายการโอลิมปิกปี 2012 กับทีมมวยหญิงของสหรัฐอเมริกามาแล้ว แต่บาดเจ็บและต้องถอนตัวไปก่อน จากนั้นสาวแพตตริเซียก็ไปผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศชาย กินฮอร์โมนอยู่หลายปี กว่าจะกลับมาฟิตซ้อมร่างกายอีกครั้ง และขึ้นชกมวยอาชีพกับนักมวยชายจริงๆ ในปี 2018 และเอาชนะคู่ชกที่เป็นชายแท้ๆ ไปได้ด้วยการชนะคะแนน จากนั้นปาทริซิโอก็มีอาการบาดเจ็บ พักไปหลายปี ประกอบกับสถานการณ์ของโรค “โควิด-19” ด้วย จนกลับมาชกอีกครั้งในเดือนมีนาคมปีนี้ เอาชนะคู่ชกไปได้เป็นไฟต์ที่ 2 ด้วยการชนะทางเทคนิค เมื่อเกิดอุบัติเหตุศีรษะชนกันจนคู่ต่อสู้แตกและชกต่อไม่ได้ และมาเดือนมิถุนายนนักชกหนุ่มข้ามเพศรายนี้ก็เอาชนะคู่ต่อสู้ไปได้อีกไฟต์

ถือเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม สำหรับนักกีฬาข้ามเพศ ที่ตั้งใจฝึกซ้อม ฝ่าฟัน ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และสามารถสร้างประวัติการณ์เป็นนักสู้ข้ามเพศจากหญิงมาเป็นชาย ที่สามารถเอาชนะในไฟต์การต่อสู้ระดับอาชีพได้ถึง 3 ไฟต์รวดแล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าคู่ชกที่จัดมานั้นเป็นมวยใหม่ บางรายเพิ่งประเดิมสังเวียนก็มี แต่คู่ชกทุกรายก็มีการฝึกซ้อมเตรียมตัวระดับอาชีพมาแล้วเหมือนกัน การที่มีนักสู้ข้ามเพศมาขึ้นสู้ในกีฬาที่ความแข็งแกร่งของสรีระร่างกายมีผลแน่ๆ ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่านักกีฬาข้ามเพศ จากหญิงเป้นชาย ก็สามารถแข่งกีฬาระดับสูงได้เหมือนกัน แต่สำหรับนักกีฬาข้ามเพศจากชายเป็นหญิงนั้นก็ยอมรับว่าต้องมีการถกเถียงหาจุดร่วมที่จะให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น