xs
xsm
sm
md
lg

เก็บของจนบ้านรก เกิดจากนิสัยขี้งก หรือเป็นอาการของโรคประหลาด / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“เมื่อเช้าเกิดอะไรขึ้นว๊ะเก่ง” คุณชูสง่าตั้งคำถามขณะลงมือรับประทานอาหารเช้า “เห็นเอะอะโวยวายกันใหญ่ มีรถตำรวจมาด้วย” “อ๋อ รถเทศบาลน่ะเฮีย มาจับงูเหลือมตัวเบ่อเริ่มที่บ้านป้าหงวน” เจ้าเก่งหมายถึงป้าสุดสงวนที่บ้านหลังเก่าๆถัดไปในซอย ซึ่งพบว่ามีงูเหลือมเข้ามาสิงสถิตอยู่ เพราะความรกของบ้านซึ่งป้าหงวนแกเป็นคนชอบเก็บสะสมของต่างๆไว้จนรกสกปรกส่งกลิ่นเหม็นอับด้วยเชื้อราเพราะเปียกชื้นน้ำฝน มีทั้งขวดพลาสติก แก้วกาแฟพลาสติก ถุงพลาสติก หนังสือพิมพ์ กล่องส่งของไปรษณีย์ ฯลฯ กองสุมกันเต็มไปหมดจนจะไม่มีที่นั่งที่นอน “อย่างนี้เขาเรียกว่าโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของที่ควรทิ้ง (Hoarding Disorder) ครับ” พี่หมอลงความเห็น “โรคนี้มีด้วยเหรอหมอ?” เฮียงง “เป็นโรคหายากที่หมอก็งงครับ”

หลายบ้านที่อาจมีคนที่ชอบเก็บสะสมของเอาไว้เยอะๆ จนบางครั้งคนในครอบครัวก็อาจจะรู้สึก รำคาญใจ เพราะรู้สึกว่ามันรกสกปรกไม่เรียบร้อย โดยที่ผู้ชอบเก็บสะสมอาจจะไม่ได้เกิดจากความชอบหรือความจำเป็นที่จะใช้ในจริงๆซึ่งอาจจะเป็นอาการของโรค Hoarding Disorder เราอาจจะประหลาดใจว่ามันมีโรคแบบนี้ด้วยหรือ หรือเป็นนิสัยของเขาเองมากกว่า แต่จริงๆแล้วในหลายๆรายมันเป็นอาการของโรคนี้จริงๆอย่างที่เราเคยได้ยินตามข่าวว่า มีบ้านที่เก็บของไว้เยอะๆจนเป็นขยะรก ทำให้มีงูหรือสัตว์เลื้อยคลานเข้าไปอาศัยอยู่ต้องตามเทศบาลมาช่วยจัดการ

- โรค Hoarding Disorder หรือ โรคชอบเก็บของเป็นโรคในกลุ่มของโรคย้ำคิดย้ำทำ ส่วนใหญ่จะพบในคนที่อายุเกิน 55 ปีขึ้นไปและอาจสัมพันธ์กับโรคที่พบใน สว. เช่น โรคสมองเสื่อม เส้นเลือดในสมองมีปัญหาหรืออาจจะพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอย่างอื่น เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า หรือพบในโรคจิตเภทด้วยก็ได้

- อาการเด่นๆของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยชอบเก็บของที่คนส่วนใหญ่เขามักจะทิ้ง เก็บจนรกบ้าน สกปรก เลอะเทอะ แล้วทำให้มีปัญหากับคนที่อยู่อาศัยร่วมกันต่างจากนักสะสมซึ่งจะเก็บอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นหมวดหมู่ โดยทางการแพทย์มีข้อวินิจฉัย 5 อย่างคือ

1. ผู้ป่วยจะชอบเก็บสิ่งของที่ไม่ควรต้องเก็บ

2. ไม่สามารถทิ้งของที่ไม่มีค่าเหล่านั้นไปได้ เช่น ถ้วยพลาสติก หลอดน้ำที่ใช้แล้ว

3. ผู้ป่วยมีความกังวลลึกๆว่า ถ้าเกิดจำเป็นขึ้นมาจะไม่มีของเหล่านั้นมาใช้ ทั้งที่เราเองก็รู้ว่าเดี๋ยวมันก็ได้มาใหม่ เช่น แก้วกาแฟหรือขวดน้ำ รวมถึงถุงพลาสติก ดังนั้นโอกาสที่จะมีใช้น้อยมาก

4. พอของเหล่านั้นพอกขึ้นมาเยอะก็ไม่สามารถเก็บจัดเรียงให้เป็นระเบียบได้ จึงรกเลอะเทอะไปหมด แต่ห่วงว่าคนอื่นจะมาเอาของตัวเองไปทิ้งด้วย

5. เป็นข้อที่สำคัญ คือ การเก็บนี้ส่งผลต่อสุขภาวะหรือสุขอนามัยของผู้ป่วยเองและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือในชุมชน

- การรักษา ปัจจุบันยังไม่มีรายงานมากนัก ว่า ใช้ยาชนิดไหนดีที่สุด ส่วนใหญ่จะใช้ยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำมากกว่า มีการรักษาอีกแบบหนึ่ง คือ การทำจิตบำบัด เพื่อปรับความคิดและปรับพฤติกรรมให้ผู้ป่วยสามารถที่จะยับยั้งชั่งใจ สามารถจำแนกหรือจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆได้ แต่เนื่องจากข้อมูลของผู้ป่วยโรคนี้มีไม่มากจึงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าวิธีไหนดีที่สุด

การชอบเก็บของนี้ถ้าไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่กระทบกับสุขภาวะบางทีก็จะบอกไม่ได้เสมอไปว่าเป็นโรค Hoarding นี้ ฉะนั้นถ้าสมมุติว่า คุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย ท่านชอบเก็บสะสมของรกๆอาจจะค่อยมาเช็กก่อนว่าจริงๆแล้วอาการมันเข้าได้กับโรคนี้จริงหรือเปล่า เหตุผลที่ท่านชอบเก็บของเหล่านี้ไว้มันมาจากอะไร แต่สมมุติว่าจัดการหรือพูดคุยกันไม่รู้เรื่องจริงๆก็อาจจะพามาพบแพทย์ก็ได้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น