คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“เมื่อวานเก่งกินผักน้ำพริก เพราะพี่หมอบอกให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทสัตว์ปีก เครื่องใน แต่ทำไมยังปวดข้อไม่หายครับ” เจ้าเก่งผู้มีระดับกรดยูริคในเลือดปริ่มๆไปในทางสูงถามพี่หมออย่างไม่เข้าใจ “เอ็งกินผักอะไรกับน้ำพริกกะปิล่ะ” “ก็ชะอมทอดไข่ ยอดกระถิน หน่อไม้ฝรั่ง และผัดผักบุ้งไฟแดงครับ ของชอบทั้งทีผมซัดเต็มที่เลย” “โอ้โฮ! พวกนี้มีสารพิวรีนสูงทั้งนั้นเลย” “แต่ไม่มียูริคใช่ไหมครับ?” เจ้าเก่งทำท่าโล่งใจ “กรดยูริคมันมาจากสารพิวรีนโว้ยไอ้อ้วน!” “อ้าว!แล้วจะกินอะไรดีบอกเก่งหน่อยครับพี่หมอ”
โรคเก๊าท์ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริคตามข้อต่างๆส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดง บริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน โดยพบได้บ่อยในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์เกิดจากภาวะกรดยูริค (Uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบปวดบวมอย่างรุนแรง ทั้งนี้กรดยูริคเปรียบเสมือนของเสียในร่างกายที่เหลือจากการกำจัดเซลล์ที่หมดอายุลงโดยร่างกายจะมีกรดยูริคอยู่ประมาณ 80% ส่วนอีก 20% จะได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
ปัจจัยที่กระตุ้นให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูง จนตกตะกอนเป็นผลึกได้แก่
1.เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส
2.อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว(ลูคิเมีย) โรคสะเก็ดเงิน
3.อาการเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดยูริคขึ้นมามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันก็ลดความสามารถในการกำจัดกรดยูริคออกจากร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคไต
- อาการของโรคเก๊าท์
ผู้ป่วยป่วยจะมีอาการปวด บวม แดงร้านบริเวณข้ออย่างฉับพลันทันทีทันใด โดยมักเริ่มจากข้อบริเวณโคนนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆได้ เช่น ข้อเท้าข้อเข่า ข้อมือ และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจนกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดการแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคไต ไตวาย และนิ่ว เป็นต้น
- การตรวจวินิจฉัยโรคเก๊าท์
1.เจาะเลือดดูระดับกรดยูริคว่าสูงมากน้อยเพียงใด
2.เจาะน้ำในข้อออกมาตรวจว่ามีผลึกของกรดยูริคหรือไม่ในช่วงที่ข้อไม่ปวดมาก
- การรักษาโรคเก๊าท์
ลดกรดยูริคในเลือดให้ต่ำลงโดยให้รับประทานยาละลายผลึกกรดยูริค แล้วให้ร่างกายขับออก ทำให้อาการอักเสบลดลง โดยผู้ป่วยควบรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาสะสมใหม่ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค รวมถึงการเกิดปุ่มหรือก้อนผลึกกรดยูริคในเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ก้อนโทฟัส (Tophus) ที่ปูดขึ้นมาตามข้อ
การป้องกันและดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคเก๊าท์
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริคสูง เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยควรศึกษาอย่างละเอียดว่าอาหารใดควรรับประทาน หลีกเลี่ยงฟรุกโตสซึ่งพบในน้ำอัดลม ควบคุมน้ำหนักไม่ให้หนักเกิน ดื่มน้ำให้มากเพื่อขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะ หากมีอาการปวดเฉียบพลันให้พักการใช้ข้อที่อักเสบ และใช้วิธีประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการ