ชั่วโมงนี้ไม่มีใครไม่รู้จัดคู่ฝาแฝด "พีรญา-พีรชยา" พลับพลา ที่สามารถคว้าแชมป์โลกกระโดดเชือกในรุ่นจูเนียส์ ของการแข่งขันจัมพ์โร้ป (กระโดดเชือก) ชิงแชมป์โลก 2023 (IJRU WORLD JUMP ROPE CHAMPIONSHIPS 2023) รุ่น Junior World Jump Rope อายุระหว่าง 12-15 ปี ที่เมืองโคโลราโด สปริงส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 16-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีนักกีฬากว่า 1,200 คน จาก 25 ประเทศทั่วโลก
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก "สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย" ซึ่งเป็นสมาคมกีฬาน้องใหม่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2561 โดย จั้มพ์โร้ป (Jump Rope) เป็นการพัฒนาการมาจากการเล่นกระโดดเชือก โดยใช้เทคนิค ทักษะใหม่ๆ เป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย มีการจัดแข่งขันระดับโลกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
สำหรับ สมาคมกีฬาจั้มพ์โร้ปไทยเป็นสมาชิกของ World Jump Rope Federation อีกทั้งกีฬาจั้มพ์โร้ป เป็นชนิดกีฬาที่อยู่ในความรับผิดชอบของสหพันธ์จั้มพ์โร้ปนานาชาติ International Jump Rope Union (IJRU) ที่ SportAccord รับรองให้เป็นสมาชิกประเภท Obsever ลำดับที่ 10 ในการประชุม SportAccord Convention เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2561 ปัจจุบัน ดร.ณัชพล ตันเจริญ เป็นนายกสมาคม
ในวันนี้ผ่านมา 5 ปีของการก่อตั้งสมาคมกีฬาจั้มพ์โร้ปไทยอย่างเป็นทางการ ก็ได้ "พีรญา-พีรชยา" พลับพลา สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนไทยคู่แรกที่คว้าแชมป์โลกมาครองได้อย่างยอดเยี่ยม โดยคู่แฝดไทยโชว์ท่ายากในประเภทฟรีสไตล์ จนทำแต้มรวมได้ถึง 25.31 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 เยอรมนี ที่ทำได้ 11.59 คะแนน และอันดับ 3 ออสเตรเลีย ทำได้ 10.42 คะแนน นับว่าเป็นชัยชนะที่ขาดลอยจริงๆ กับการลงแข่งชิงแชมป์โลกครั้งแรกของทั้งคู่
พีรญา พลับพลา หรือ "น้องพิชา" แฝดคนพี่ได้แสดงความรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากจากการที่ทำผลงานคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ ซึ่งเป็นความพยายามของพวกเราทั้งคู่ที่ฝึกซ้อมกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วน พีรชยา พลับพา หรือ "น้องชยา" แฝดคนน้อง กล่าวว่า "ตื่นเต้นมากเพราะเป็นการแข่งชิงแชมป์โลกครั้งแรก มีนักกีฬาที่มาแข่งขันเป็นพันๆคน เป็นการเปิดโลกครั้งสำคัญในชีวิตของการได้เจอนักกีฬาต่างประเทศทั่วโลก ก็ในช่วง 8 เดือนก่อนแข่งมีการเตรียมตัวที่เข้มข้นมากเตรียมเพลง เตรียมท่า และก็มีโค้ชมาร่วมวางแผนด้วย"
กว่าที่ทั้งคู่จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์กีฬาไทยนั้น ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย แต่เชื่อหรือไม่ว่าพวกเธอนั้นไม่ได้เล่นกระโดดเชือกมาตั้งแต่แรก ซึ่งกีฬาชนิดแรกของ "พิชา-ชยา" ก็คือยิมนาสติกลีลา ที่สโมสร PK ยิมนาสติก และก็เล่นได้ดีอีกด้วย เคยผ่านเวทีกีฬานักเรียนมาแล้ว จากนั้นช่วงชีวิตก็ขีดให้ทั้งคู่ต้องมาเล่นกีฬากระโดดเชือก ทำให้วัยเด็กทั้งคู่จึงเล่นกีฬา 2 ประเภทควบคู่กันไป
"ตอนที่รู้จักกีฬากระโดดเชือกครั้งแรกก็ตอนที่พวกหนูอายุประมาณ 7 ขวบ ตอนนั้นเรียนที่โรงเรียนราชินีบน ซึ่งพวกหนูก็กระโดดเชือกกันเล่นๆ แล้วทีนี้คุณครูก็พาพวกหนูไปอยู่ชมรมกระโดดเชือก ฝึกกระโดดเชือกอย่างจริงจัง แล้วก็พาไปแข่งในไทยทุกปี ก็พวกหนูไม่มีใครเล่นก่อนหรือเล่นหลัง เพราะเวลาจะทำอะไรก็ทำพร้อมกันทุกครั้ง กีฬากระโดดเชือกก็เหมือนกันเข้าไปเล่นพร้อมกัน " พีรชยา แฝดน้องกล่าว
ส่วน พีรญา แฝดพี่ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า "ในการที่พวกหนูไปไหน หรือ ทำอะไรพร้อมกันทุกครั้ง มันก็จะมีบ้างบางครั้งที่คนนึงอยากเล่น แต่อีกคนไม่อยากเล่น บ้างครั้งก็มีทะเลาะกันบ้าง แต่ก็ด้วยความที่เป็นฝาแฝดยังไงก็แยกจากกันไม่ได้ ซึ่งหนูก็มีวิธีจัดการความเครียดเหมือนกัน เพราะในวัยของหนูต้องเรียนไปด้วย เล่นกีฬาไปด้วย บางครั้งก็เครียด ก็เบื่อ หนูก็จะแก้ไขปัญหาด้วยการหาอะไรอร่อยๆกิน โดยเฉพาะน้ำแตงโมปั่นนี่ชอบมากๆ ดื่มแล้วชื่นใจ" ขณะที่ พีรชยา แฝดน้อง ก็บอกว่า "หนูจะใช้วิธีว๊าค หรือ ตะโกนดังๆ เพื่อระบายมันออกมา"
สำหรับการแข่งขันประเภท Wheel Pair Freestyle นั้น ไม่ใช่ประเภทที่ต้องก้มหน้าก้มตากระโดดให้เร็วที่สุด แต่ประเภทนี้เป็นการกระโดดประกอบเสียงเพลง โชว์ลีลาผสมผสานการเต้นนิดหน่อย ซึ่งทำให้เป็นข้อได้เปรียบของคู่แฝดสาวคู่นี้ ที่มีพื้นฐานของกีฬายิมนาสติก โดยทั้งคู่นั้นก็ยอมรับว่าอาจจะเป็นเพราะเล่นยิมนาสติกจนมีพื้นฐานที่มั่นคง จึงเป็นจุดเด่นของคู่แฝดไทยที่ทำให้คว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ อีกทั้งคะแนนที่ปรากฏยังชี้ชัดว่าคู่ของไทยไร้เทียมทานจริงๆเมื่อทำได้มากถึง 25.31 คะแนน ทิ้งหน้ารองแชมป์แบบไม่เห็นฝุ่นที่ทำได้ 11.59 คะแนน
งานนี้ต้องชื่นชมสายตาเหยี่ยวของโค้ชคนแรกของทั้งคู่ที่โรงเรียนราชินีบน ที่โฉบเอาคู่แฝดคู่นี้ไปฝึกฝนในชมรมจนสร้างประวัติศาสตร์ได้ในตอนนี้ ส่วนเรื่องการฝึกซ้อมนั้นปัจจุบันซ้อมที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดย พีรญา แฝดพี่ ได้กล่าวว่า "8 เดือนก่อนชิงแชมป์โลกซ้อมหนักมากเพราะมีการซ้อมเช้าเวลา 6.00 น.ที่โรงเรียน จากนั้นกลางวันก็ต้องซ้อม และตอนเย็นก็ต้องซ้อม เรียกได้ว่าซ้อมวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น"
ตอนนี้ผลของการฝึกซ้อมหนักและพื้นฐานของยิมนาสติกทำให้แฝดคู่นี้ถูกจับตาไปทั่วโลก ทว่าปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ "พิชา-ชยา" จะเล่นในรุ่นจูเนียร์ เพราะการแข่งขันชิงแชมป์โลกจะจัดขึ้นในทุกๆ 2 ปี ฉะนั้นอีก 2 ปีถัดจากนี้ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ คู่นี้ก็จะอายุ 17 ปี ต้องขยับขึ้นไปเล่นในรุ่นที่ใหญ่กว่า ก็จะต้องพัฒนาท่ายากขึ้นไปอีก โดย พีรญา แฝดพี่ กล่าวว่า "เราก็ต้องหาเพลงใหม่ คิดท่าใหม่ เพื่อให้มันยากกว่าเดิม เพราะแน่นอนว่าคลิปของเราถูกแชร์ไปทั่วโลก คู่แข่งก็มีโอกาสได้ดูว่าพวกเรากระโดดแบบไหน มีท่าอะไรบ้าง ซึ่งในเวลา 2 ปีเชื่อว่าคู่แข่งจะต้องหาทางมาแก้ท่าเราอย่างแน่นอน แต่เราก็จะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น เพราะพวกเรามีความตั้งใจที่อยากจะป้องกันแชมป์"
แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นฝาแฝดที่ทำอะไรด้วยกันมาตลอดเวลา แต่ก็มีสิ่งที่ทั้งคู่ไม่เหมือนกันนั่นคือความฝันในอนาคตว่าอยากจะเป็นอะไร โดย พีรญา แฝดพี่ ยังคงยึดมั่นในการเป็นนักกีฬากระโดดเชือก ถึงขั้นว่าอยากจะเปิดเป็นโรงเรียนสอนกระโดดเชือก อยากเป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย แต่สำหรับ พีรชยา แฝดน้อง ที่มีความคิดต่างออกไปคือไม่ต้องการเดินทางบนสายกีฬา แต่อยากทำอาชีพหมอ แต่หากต้องเดินทางสายกีฬาจริงๆก็ขอเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย
โดยทั้ง 2 ความฝันนี้เป็นอนาคตอันไกล อีกนานกว่าจะถึงจุดนั้น แต่ถ้าใกล้ๆ แล้วต้องทำให้สำเร็จก็คือการผลักดันให้สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย ให้เป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยให้ได้ เพราะจะหมายถึงงบประมาณจากภาครัฐจะเข้ามาช่วยพัฒนาสมาคม มีงบส่งแข่งต่างประเทศจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และจะมีเงินรางวัลอัดฉีด แต่ถ้ายังไม่สามารถเข้าเป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย งบประมาณสนับสนุนก็จะไม่ได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบเยาวชนรุ่นหลัง ที่จะขาดการสนับสนุน
คู่แฝดก็พร้อมเป็นกระบอกเสียงสำคัญพร้อมด้วยตำแหน่งแชมป์โลกมาการันตีความสำเร็จของสมาคม ให้วงการกีฬาไทยได้รับรู้ในการที่จะเข้าไปเป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ตามขั้นตอนของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) อย่างไรก็ตามทั้งคู่จะต้องพักการฝึกซ้อมด้วยกันราวๆ 10 เดือนเนื่องจากแต่ละคนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปอยู่กันคนละประเทศ โดยคนพี่จะไปอยู่ที่เดนมาร์ก และ คนน้องจะไปอยู่ที่ฝรั่งเศส และหลังจากนั้นก็จะต้องมาเร่งเครื่องฝึกซ้อมร่วมกันเพื่อป้องกันแชมป์โลกที่ญี่ปุ่นในอีก 2 ปีจากนี้