คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
กระแสฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 ที่ออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์ กำลังเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของรอบแบ่งกลุ่ม ช่างน่าเสียดายเหลือเกินที่ ไทย ไม่สามารถผ่านการคัดเลือก เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ครั้งที่ 3 ติดต่อกัน พอเห็นรายชื่อของเราแล้ว ต้องยอมรับว่า เรามาถึงยุคผลัดใบตามวิถีลูกหนัง แถมคู่แข่งย่านอาเซียนปัจจุบันท่าทางไม่ธรรมดา หลัง ฟิลิปปินส์ สร้างเซอร์ไพรส์ เอาชนะ นิวซีแลนด์ เจ้าภาพร่วม 1-0 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 ก.ค.) นึกถึง ซีเกมส์ แล้วชักเสียวๆ อยู่เหมือนกัน ในฐานะแฟนบอลคนหนึ่ง
ไฮไลท์สำคัญอย่างหนึ่งของการฟาดแข้งรอบแบ่งกลุ่ม อยู่ที่แมตช์ระหว่าง แคนาดา พบ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ วันพุธนี้ (26 ก.ค.) ซึ่งกว่าต้นฉบับจะถูกตีพิมพ์ หลายๆ คนอาจทราบประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลหญิงว่า คริสติน ซินแคลร์ กองหน้าจอมเก๋า แคนาดา กลายเป็นผู้เล่นคนแรก ซึ่งยิงอย่างน้อย 1 ประตู ศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 6 ครั้งติดต่อกัน
ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก หนนี้ อาจเป็นครั้งสุดท้ายของเธอ ซินแคลร์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ซิงค์ (Sinc)" ในวัย 40 ปี ผ่านเวทีระดับ เนชันแนล วีเมนส์ ซ็อคเกอร์ ลีก (NWSL) และ ทีมชาติแคนาดา เธอซึมซับบรรยากาศการขับเคี่ยวกับ สหรัฐอเมริกา แชมป์โลก 5 สมัย และเข้าใจว่าการเข้าถึง ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก แล้วตกรอบแรกเป็นอย่างไร เธอสัมผัสทั้งความสำเร็จและล้มเหลวมาตลอดอาชีพ เช่น ราว 2 ซัมเมอร์ก่อน แคนาดา คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 หลังชนะจุดโทษ สวีเดน
แม้ว่าบุคลิกนักเตะคนนี้ดูเงียบขรึม และหลีกเลี่ยงการถูกจับตา แต่ก็ยากที่จะเอ่ยถึงความสม่ำเสมอของเธอบนสนาม โดยไม่ได้อ้างว่าเธอเกลียดความโดดเด่นส่วนตัวมากแค่ไหน หากพิจารณาสถิติยิง 190 ประตูระดับนานาชาติ เหนือกว่า คริสเตียโน โรนัลโด้ ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังโปรตุกีส ทำไว้ 123 ประตู ซินแคลร์ ปฏิบัติตัวตรงกันข้ามกับสถานะซูเปอร์สตาร์ของเธอ สิ่งที่เป็นแรงจูงใจของเธอไม่ใช่ชื่อเสียง หรือเงินทอง นอกเสียจากความสำเร็จของทีม จึงเห็นได้ชัดว่า ฟุตบอลหญิงแคนาดา อาจไม่สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ หากขาด ผู้เล่นจากรัฐ บริติช โคลัมเบีย
ซินแคลร์ ติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกด้วยปี 2000 ขณะอายุเพียง 16 ปี กระทั่งรับตำแหน่งกัปตันทีม ปี 2006 ศึกโกลด์ คัพ ถึงแม้อายุเพิ่งจะ 20 ต้นๆ เป็นผู้นำทีมตรงแดนหน้า ถูกสื่อของสหรัฐอเมริกา ขนานนามว่า "สัญลักษณ์ของฟุตบอลแคนาดา" หลัง แคนาดา สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแดง โอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน โดย ซินแคลร์ เป็นดาวซัลโวสูงสุด 6 ประตู
ช่วงขาลงของ แคนาดา ซินแคลร์ เป็นยิงประตูโทนรอบแบ่งกลุ่ม ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ปี 2015 ก่อนพ่าย อังกฤษ ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย จากนั้น แคนาดา คืนชีพช่วงซัมเมอร์ปี 2016 คว้าเหรียญทองแดง โอลิมปิก 2016 สมัย 2 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล โดย ซินแคลร์ มีส่วนร่วมต่อความสำเร็จ ยิง 3 ประตู
ซินแคลร์ เข้าร่วม ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก สมัยที่ 5 ปี 2019 กลายเป็นผู้เล่นคนที่ 2 ซึ่งยิงอย่างน้อย 1 ประตู จากการเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ 5 สมัย ต่อจาก มาร์ตา จอมทัพระดับตำนาน บราซิล โดยเจาะตาข่าย เนเธอร์แลนด์ส นำโดย วิเวียนน์ มีเดมา ดาวยิงสังกัด อาร์เซนอล แล้วพ่าย สวีเดน ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ด้วยสังขารอันร่วงโรยตามกาลเวลา กระแสเกี่ยวกับ ซินแคลร์ สร้างสถิติยิงประตูสูงสุดตลอดกาลแซง แอ็บบี แวมบัค ซึ่งทำไว้ 184 ประตู ยืดเยื้อมานานหลายปี กระทั่งเธอทาบและทำลายสถิติดังกล่าว ในแมตช์คัดเลือกโอลิมปิก โซนคอนคาเคฟ โดยเหมา 2 ลูก ถล่ม เซนต์ คิตต์ส แอนด์ เนวิส ขาดลอย 11-0 จากการรับใช้ชาติ นัดที่ 290 เมื่อปี 2020 และได้รับการแสดงความยินดีจาก จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม โฟกัสของเธอยังอยู่กับทีม และช่วยทีมคว้าแชมป์ โตเกียว เกมส์ ปี 2021 ถึงแม้ยิงแค่ 1 ประตู จารึกประวัติศาสตร์ของ ฟุตบอลหญิงแคนาดา และเธอยังใช้ความสำเร็จครั้งนี้ เรียกร้องเกี่ยวกับการจัดตั้ง ลีกฟุตบอลหญิงอาชีพ ที่แคนาดา และเป็นผู้นำการเจรจากับ สหพันธ์ฟุตบอลแคนาดา สวนทางกับบุคลิกที่ไม่ต้องการเป็นจุดเด่น เพื่อการพัฒนาฟุตบอลแคนาดา
ซินแคลร์ พลาดโอกาสยิงประตู ในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 6 ครั้งติดต่อกัน หลังยิงจุดโทษติดเซฟนายทวาร ไนจีเรีย เกมเปิดสนามของกลุ่ม A เสมอกัน 0-0 แต่ความยิ่งใหญ่ของเธอนอกเหนือจากการยิงประตู ทั้งการผลักดันให้เกิดการพัฒนา ฟุตบอลหญิงแคนาดา, ความขยันทุ่มเท และเล่นเพื่อทีม ส่งผลให้เธอกลายเป็นหัวใจสำคัญของทีมชาติตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ จะถูกกล่าวถึงที่ประเทศแคนาดาตลอดกาล