xs
xsm
sm
md
lg

อาลัย “เปาป้อม” แห่ง “วัน ลุมพินี” / ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นาวาอากาศตรีวุฒิโชค พิทักษากร
คอลัมน์ “ริงไซด์ ไฟต์คลับ” โดย “ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์”

ช็อคความรู้สึกแฟนมวยไปตามๆ กัน เมื่อ “เปาป้อม” ส.ต.อ. วัชรินทร์ รัชนิพนธ์ กรรมการห้ามมวยหนุ่มวัย 33 กรรมการไทยคนเดียวที่ขึ้นตัดสินมวยรายการใหญ่ที่ดังที่สุดตอนนี้อย่าง “วัน ลุมพินี” แถมตัดสินด้วยความเฉียบขาดทันเกม ทุ่มเทเซฟนักมวยจนได้รับคำชมทั่วสารทิศ แถมหน้าตาหล่อเหลารูปร่างสมาร์ทเป็นขวัญใจแฟนมวยเลยทีเดียว ไม่มาตัดสินมวยรายการ “วัน ลุมพินี” ตามปกติเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว จนแฟนๆ ที่ติดตามชมสังเกตเห็นและแปลกใจไปตามๆ กัน พอเช้าวันเสาร์จึงทราบข่าวว่ากรรมการชั้นดีรายนี้ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองไปแล้วในตอนค่ำวันศุกร์อย่างน่าเศร้า

ตามข่าวนั้นพูดถึงว่า “เปาป้อม” มีอาการโรคซึมเศร้า เคยเปรยๆ ว่า “อยากฆ่าตัวตาย” และได้ไปหาหมออยู่ ซึ่งจุดนี้ทางเราก็ไม่มีข้อมูลของโรคและอาการรวมทั้งการรักษาของ “เปาป้อม” ไม่รู้ว่าเป็นเหตุที่ทำให้ตัดสินใจทำแบบนี้ลงไปหรือเปล่า แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน “โรคซึมเศร้า” นั้นเป็นโรคที่ได้รับการพูดถึงบ่อยมาก เอาจริงๆ แทบจะเป็น “จำเลยสังคม” ไปแล้ว ใครทำอะไรแปลกๆ ไม่ดีๆ ก็บอกว่าเป็นโรคซึมเศร้าไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้ว คนเป็นโรคซึมเศร้านั้นจะอยู่กับตัวเอง ทำอะไรก็ทำตัวเองมากกว่า ไม่ไปไล่แทงไล่ยิงใครแน่ๆ ที่จะไปไล่แทงไล่ยิงใคร น่าจะเป็นการลุแก่โทสะมากกว่า และการเห็นใครนั่งเงียบนั่งซึม ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป อาจเป็นอาการเครียด หรือจิตตกเป็นช่วงๆ ไปเท่านั้น สัปดาห์นี้เราจึงได้ไปขอความรู้จาก นาวาอากาศตรีวุฒิโชค พิทักษากร จิตแพทย์ที่ปรึกษา สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ เพื่อทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจและช่วยหาทางดูแลรักษาลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียลง

โรคซึมเศร้านั้นพิสูจน์กันแล้วว่าเป็นโรคที่เกิดจากสารเคมีในสมองต่ำกว่าปกติ หลักๆ คือสารซีโรโตนิน Serotonin แต่ก็มีสารรองๆ อื่นๆ ด้วยเช่นกัน การที่สารตัวนี้จะต่ำผิดปกติ มาจากการที่สมองทำงานผิดปกติ ทำให้ผลิตสารที่ว่านี้น้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์ หรือมีโรคอื่นๆ ทางสมอง นอกจากนั้นการที่เราบางคนมีอาการย้ำคิดย้ำทำ หรือหมกมุ่นกับเรื่องใดๆ มากเกินไป รวมทั้งเป็นคนที่เป็น Perfectionists คือชอบความสมบูรณ์แบบ ก็ทำให้หมกมุ่นที่จะทำเรื่องใดๆ ให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ ทำให้ร่างกายใช้สารซีโรโตนินหมดไปอย่างรวดเร็ว สมองที่ผลิตสารนี้ได้ต่ำกว่าปกติอยู่แล้วสร้างมาเติมไม่ทัน ยิ่งถ้ามีเรื่องหนักๆ มากระทบใจ เกิดความเครียดมากๆ หรือเศร้ามากๆ เหล่านี้ก็จะทำให้ร่างกายใช้สารซีโรโตนินนี้มากขึ้นไปอีก ทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ อาการทั่วๆ ไปที่จะสังเกตได้ คือจะเป็นคนเก็บตัว จมอยู่กับตัวเอง ขาดความสนใจกับสิ่งต่างๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เคยชอบหรือเคยสนใจก็ตาม ควบคุมร่างกายได้ไม่ดี การงานที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดในมุมเข้าตัวตลอด อะไรๆ ก็เราผิด ทำนองนี้ ถ้าเป็นเยอะก็จะถึงขั้นที่จะคิดฆ่าตัวตาย

โรคนี้รักษาให้หายได้ การดูแลรักษาที่ดีที่สุดแน่นอนว่าต้องพาไปพบแพทย์ รักษาด้วยยา ปัจจุบันมียาที่จะรักษาด้วยการยับยั้งการใช้ซีโรโตนินที่มากเกินไป เปรียบเสมือนการอุดรูรั่วของสารนี้ในสมอง ซึ่งทำให้ระดับสารนี้ในร่างกายไม่ต่ำจนเกินไป การรักษาด้วยยานี้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเพราะสารซีโรโตนินก็จะเป็นสารที่ร่างกายตัวเองผลิตขึ้นมาเอง นอกจากนั้นสิ่งที่คนรอบตัวจะทำได้คือสังเกตอาการ ถ้ามีอาการเงียบๆ ซึมๆ ต้องหาทางชวนคุยให้ได้ระบายออกมา ข้อสำคัญคือถ้าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามาคุยมาเล่าอะไรให้ฟัง ให้ฟังด้วยความเข้าใจ แต่อย่าไปแสดงความสงสาร อย่าไปแนะนำว่าให้ทำโน่นทำนี่ เพราะจะเป็นการทำให้เขาจมอยู่กับความคิดว่าตัวเองไม่ดี ตัวเองทำไม่ได้ มากขึ้นไปอีก เรื่องพวกนี้เราแค่เข้าใจเขาพอ แต่อย่าเห็นใจ ที่เขียนมาทั้งหมดในสัปดาห์นี้ ถ้าจะทำให้เราเข้าใจและอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างดี รวมทั้งได้รับการดูแลรักษาจนหายได้ ก็ขอให้กุศลเหล่านี้ได้เกิดแก่ “เปาป้อม” ส.ต.อ. วัชรินทร์ รัชนิพนธ์ ได้หลับให้สบายด้วย ขอไว้อาลัยและขอแสดงความเสียใจด้วยอีกครั้งครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น