xs
xsm
sm
md
lg

นักบาสฯ รับจ้างด้อยค่า “ซีเกมส์” / MVP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

มหกรรมกีฬา ซีเกมส์ 2023 เปิดฉากอย่างเป็นทางการเพียงไม่นาน เกิดกระแสดราม่าตามธรรมเนียมเกี่ยวกับการแข่งขัน บาสเกตบอล 3x3 โดยเฉพาะประเภทชาย จู่ๆ กัมพูชา คว้าเหรียญทองแบบหักปากกาเซียน หลังเอาชนะ ฟิลิปปินส์ โคตรทีมแห่งย่านอาเซียน 21-15 ด้วยนักกีฬาซึ่งดูหน่วยก้านราวกับหลุดมาจากลีกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) และโปรไฟล์เคยเล่นบาสเกตบอลระดับอาชีพลีกยุโรป

ขออนุญาตออกตัวไว้ก่อนว่า ปกติไม่ค่อยอยากแตะต้องวงการกีฬาไทย หรือละแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเท่าไหร่ ด้วยความที่กระผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือ จึงเกรงว่าจะเกิดข้อผิดพลาด และอาจเสี่ยงต่อคดีความ เนื่องจากสักครั้งของชีวิตไม่อยากได้ชื่อว่าเป็น "จำเลย" แต่พอถึงจุดๆ หนึ่งก็รู้สึกว่ามันกลัวจนต้องกล้าแล้ว 555

ความปราชัยของ ฟิลิปปินส์ รอบชิงชนะเลิศ บาสเกตบอล 3x3 หากมองประเด็นเกมบนสนาม ซึ่งวันนั้นผมมีโอกาสรับชม โดยไม่ได้ตั้งใจโฟกัสสิ่งใดเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ใช่ ทีมชาติไทย ผมยังนึกอยู่ในใจเป็นภาษาบ้านๆ ว่า ฟิลิปปินส์ จะยิง 3 แต้ม (คิดเป็น 2 แต้ม ตามกติกา 3x3) อะไรนักหนา เพราะวันนั้นไม่มีความแม่นยำเลย ทำไมไม่พยายามเซ็ตเพลย์ ตั้งสกรีนแล้วเจาะด้านในดูบ้าง พอสกอร์ตามหลังแล้วหวังผลวงนอกไม่ได้ บวกกับสกอร์ตามอยู่แล้ว ช่องว่างยิ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้น

พอเห็นโฉมหน้า นักกีฬาบาสเกตบอล 3x3 ของ กัมพูชา หน้าตาดูแปลกๆ ยิ่งชื่อเสียงเรียงนาม 3 ตัวจริงอย่าง ดาร์รินเรย์ ดอร์ซีย์, แบรนดอน เจอโรม พีเตอร์สัน และ ซายีด พริดเจ็ตต์ นี่มันไม่น่าจะใช่ชื่อประชากรของ กัมพูชา แต่ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ผลการแข่งขันก็มิอาจเปลี่ยนแปลง และผู้ผิดหวังก็ต้องยอมรับสถานเดียว

สืบค้นข้อมูลยัดห่วง 3x3 กัมพูชา พบว่า ซายีด พริดเจ็ตต์ เขาเป็นคนอเมริกันตั้งแต่กำเนิด ลืมตาดูโลก ที่โอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนสูง 6 ฟุต 5 นิ้ว (196 เซนติเมตร) เคยเล่นให้ มหาวิทยาลัยมอนทานา ปี 2016-2020 ไม่ผ่านการดราฟต์ของ NBA จึงมาเริ่มเล่นอาชีพแถบยุโรป ปัจจุบันสังกัด เอเอสเค คาร์ดิตซา แห่งลีกกรีซ และระดับ เอ็นบีเอ จี ลีก ที่เบอร์มิงแฮม สควาดรอน แฟรนไชส์ลูกของ นิว ออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ ปี 2021

ขณะที่ แบรนดอน เจอโรม พีเตอร์สัน ส่วนสูง 6 ฟุต 9 นิ้ว (203 เซนติเมตร) เกิดที่เบอร์มิงแฮม รัฐอลาบามา เคยเล่นระดับมหาวิทยาลัย ที่อาร์คันซอส์ สเตท เล่นอาชีพฤดูกาลล่าสุด 2021-22 กับ คอมูนิคาซิโอนส์ ของลีกอาร์เจนตินา และ ดาร์รินเรย์ ดอร์ซีย์ ส่วนสูง 6 ฟุต 2 นิ้ว (188 เซนติเมตร) เกิดที่ฟีนิกซ์ รัฐอริโซนา อายุ 35 ปี เล่นอยู่แถบยุโรป ที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเราจะเห็นว่าทั้ง 3 คน น่าจะไม่มีบรรพบุรุษเป็นชาวกัมพูชาเลย จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า อยากชนะหรือคว้าเหรียญทองโดยไม่สนวิธีการเลยหรือเปล่า??

มองมุมหนึ่งประเด็นการโอนสัญชาติอยู่คู่กับวงการกีฬามายาวนาน ส่วนมากจะเป็นไปตามหลักสากล คือ เกิดที่ประเทศนั้น, ครอบครัวอพยพอยู่ต่างประเทศ หรือมีเชื้อสายจากบรรพบุรุษ เช่น ปู่,ย่า, ตา, ยาย หรือคุณทวด หรืออาจย้อนไปไกลกว่านั้น เพียงแต่การเปลี่ยนจาก อเมริกัน เป็น กัมพูชา แบบกะทันหัน โดยที่คนๆ นั้นอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่เด็ก แล้วย้ายมาทำมาหากินแถบยุโรป จึงเกิดคำถามขึ้นว่า "แบบนี้ก็ได้หรือ"

ครั้งหนึ่ง ฟิลิปปินส์ เคยจับ อังเดรย์ แบลทช์ ฟอร์เวิร์ดระดับ NBA มาติดธงเพื่อแข่งขัน ฟีบา เวิลด์ คัพ ที่ประเทศสเปน และ เอเชียน เกมส์ ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2014 ปรากฎว่า แบลทช์ ถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันบาสเกตบอลชาย "อินชอน เกมส์" โดย สภาโอลิมปิกเอเชีย (OCA) ด้วยเหตุผลว่า ขาดคุณสมบัติพักอาศัย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ อย่างน้อย 3 ปี แต่สามารถลงแข่ง ฟีบา เวิลด์ คัพ ได้ เนื่องจากได้รับสัญชาติตามกฎหมาย

กรณีเป็นการแข่งขันระดับสูง 3 ผู้เล่น กัมพูชา-อเมริกัน ซึ่งเปรียบเสมือน นักบาสฯ รับจ้าง คงจะถูกตัดชื่อออกเช่นกัน เนื่องจากการกระทำเช่นนี้ สื่อถึงความเอารัดเอาเปรียบคู่แข่ง และเจตนาหวังผลเพื่อชัยชนะเพียงสถานเดียว โดยไม่คำนึงถึงกฎ-กติกา-มารยาทใดๆ ทั้งสิ้น หรือถ้ามาตรฐานสากลไม่เอื้ออำนวย ก็ปรับกติกาเป็น “กติกู” อีหรอบนี้มันจะผิดได้อย่างไร ในเมื่อคุณเป็นผู้ลงมือทำและกำหนดเอง

กรุณาอย่าหาว่าด้อยค่า เราเห็นดราม่า ซีเกมส์ มาหลายสมัย โดยเฉพาะการตัดกีฬาที่ เจ้าภาพ สู้ไม่ได้ออก แล้วเติมกีฬาพื้นบ้าน หรือการตัดสินกีฬาที่พิจารณาด้วยสายตาแบบเอียงข้าง ความสง่างามและศักดิ์ศรีของ เจ้าเหรียญทอง ยังเทียบไม่ได้กับแชมป์กีฬาสีตามโรงเรียน หรือสำนักงาน เพราะการตัดสินทั้งกีฬาสากล หรือกีฬาฮาเฮ เช่น วิ่งวิบาก, วิ่งกระสอบ มันยังดูโปร่งใสและยุติธรรมกว่าเยอะ
กำลังโหลดความคิดเห็น