การละเมิดกฎการเงิน 115 ครั้ง หากจะให้ไล่เรียงก็คงไม่ครบอย่างแน่นอน แต่เอาเป็นว่ามันร้ายแรงและสั่นสะเทือน แมนฯซิตี้ อย่างมาก ภายหลังจาก พรีเมียร์ลีก ออกมาตั้งข้อหา "เรือใบสีฟ้า" เพียงแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทันทีที่จบเกมบุกพ่าย ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ 0-1 วืดโอกาสเก็บแต้มกระชั้นจ่าฝูง อาร์เซนอล ที่แพ้ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจากนี้ทุกฝ่ายกำลังจับตาดูว่าคดีนี้จะลงเอยแบบไหน ทีมเงินหนาภายใต้การสนับสนุนของ อาบูดาบี จะถูกลงโทษหรือไม่หรือว่ารอดอีกครั้งจากการที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาแล้ว
กรณีนี้ร้ายแรงแค่ไหน?
แน่นอนถือเป็นเรื่องใหญ่ของ พรีเมียร์ลีก หากจะเทียบกับกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานคือ ยูเวนตุส ถูกหัก 15 แต้มเนื่องจากตกแต่งบัญชีการเงิน ขณะที่ พรีเมียร์ลีก ระบุว่า แมนฯซิตี้ ละเมิดกฎ 115 ครั้งนับตั้งแต่ อาบู ดาบี้ เข้ามาเทกโอเวอร์เมื่อปี 2008 ส่วนบทลงโทษรวมถึงผลกระทบหากผิดจริงคือไล่ตั้งแต่ ถูกปรับตกชั้น ตัดแต้ม แบนห้ามซื้อขายนักเตะ จำกัดงบประมาณ ถอดจากตำแหน่งแชมป์ก่อนหน้านี้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เคยเป็นประเด็นมาแล้วและ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือคนปัจจุบัน ก็เคยขู่ว่าจะอำลาทีมทันที
เป๊ป ที่คุม แมนฯซิตี้ ตั้งแต่ปี 2016 พาทีมได้แชมป์ พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, แชมป์ เอฟเอ คัพ, แชมป์ ลีก คัพ 4 สมัยและเข้าชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อปี 2021 เคยกล่าวไว้ว่า "เมื่อสโมสรหรือคนในทีมถูกกล่าวหาในบางสิ่งบางอย่าง ผมขอพวกเขาว่าให้บอกเรื่องนั้นกับผมมา ซึ่งพวกเขาก็อธิบายผม และผมก็เชื่อพวกเขา (ผู้บริหาร) แต่ผมบอกพวกเขากลับถ้าไปว่า 'ถ้าคุณโกหกผม วันรุ่งขึ้นผมก็จะไม่อยู่แล้ว และผมจะไม่ญาติมิตรกับพวกคุณอีกเลย ผมเชื่อมั่นพวกคุณ ผมเชื่อคุณ 100 เปอร์เซนต์ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา และผมก็ปกป้องสโมสรด้วยเหตุนี้"
เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ธันวาคมปี 2018 พรีเมียร์ลีก เริ่มสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่า แมนฯซิตี้ ไม่ปฎิบัติตามกฎทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นรายงานจากนิตยสารเยอรมันที่ชื่อว่า แดร์ สปีเกิ้ล (Der Spiegel) ได้ตีพิมพ์เอกสารจาก "ฟุตบอล ลีกส์" (Football Leaks) ซึ่งหลุดจากแฮ็กเกอร์ชาวโปรตุกีสชื่อ รุย ปินโต ที่บอกว่าเจ้าของทีมมีการอัดฉีดเงินเกินจริงในรูปแบบของสปอนเซอร์ ทำให้เหมือนว่าทีมมีรายได้ก้อนโตเข้ามาเพื่อจะนำไปคว้านักเตะระดับบิ๊กเนมได้สบายๆ ซึ่งที่ผ่านมานั้น สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า สอบสวนจบลงในปี 2020 และสั่งแบน 2 ปีจาก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รวมถึงปรับเงิน แต่ว่า แมนฯซิตี้ สามารถสู้ชนะที่ ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา ที่สั่งลดโทษเหลือปรับเงิน 9 ล้านปอนด์เท่านั้น กระนั้นก็ตามการสอบสวนยังดำเนินต่อไปแบบเงียบๆ ซึ่งไม่มีการอัปเดตมากนักจนถึงวันนี้ที่มีข่าวออกมา
แมนฯซิตี้ ถูกตั้งข้อกล่าวหาอะไรบ้าง?
มีการละเมิดกฎ 115 ครั้งใน 9 ปีคือปี 2009-2018 เป็นเป็นทั้งหมด 4 ส่วน อย่างแรกเลยคือ แมนฯซิตี้ ไม่แสดงข้อมูลทางด้านการเงินที่แท้จริงเกี่ยวกับสถานะทางด้านการเงินของสโมสร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของรายได้ที่มาจากสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องและต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ
ประการที่สองคือครอบคลุมฤดูกาล 2009-2010 และฤดูกาล 2012-13 เป็นข้อกำหนดของสโมสรที่จะต้องบอกรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับค่าตอบแทนในสัญญาของผู้จัดการ โดยกุนซือของ แมนฯซิตี้ ตอนนั้นคือ โรแบร์โต้ มันชินี รายงานระบุว่าเขามีเงินเดือนที่ 1.45 ล้านปอนด์ แต่มี 'shadow contract' หรือตรงตัวคือ "สัญญาเงา" รับเงินอีก 1.75 ล้านปอนด์ต่อปีจากสโมสร อัล จาซิรา ใน อาบู ดาบี
หลายคนอาจจะสงสัยว่าเงิน 1.75 ล้านปอนด์ ที่ แมนฯซิตี้ จ่ายให้ มันชินี คืออะไร เพราะหากเป็นโบนัสจากการคว้าแชมป์ก็ต้องระบุให้ชัดเจน ที่สำคัญเรื่องโบนัสตามกฎคือต้องแจ้งก่อนเปิดฤดูกาลเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน เช่น ถ้าพาทีมคว้าแชมป์ได้เท่าไหร่ และไม่สามารถที่จะมาเพิ่มเองตามใจชอบได้ในกรณีปลายฤดูกาล เพราะเหมือนเป็นแรงจูงใจที่ไม่ชอบ
ข้อสามคือละเมิดกฎ พรีเมียร์ลีก ที่กำหนดให้ทุกทีมต้องปฎิบัติตามกฎควบคุมด้านการเงินหรือ Financial Fair Play (FFP) ของ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ระหว่างฤดูกาล 2013-14 ถึง 2017-18 และข้อสุดท้ายคือละเมิดกฎผลกำไรและความยั่งยืนฤดูกาล 2015-16 และฤดูกาล 2017-18 นอกจากนี้ยังรวมข้อหาคือไม่ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการสอบสวนของ พรีเมียร์ลีก อีกด้วย
จะเกิดอะไรขึ้น?
คณะกรรมาธิการอิสระ จะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานคณะกรรมการพิจารณาคดีของ พรีเมียร์ลีก นำโดย เมอร์เรย์ โรเซน เคซี เชื่อว่ากระบวนการต่างๆ จะเกิดขึ้นในไม่ช้า อีกทั้งการพิจารณาคดีจะเป็นความลับและเป็นส่วนตัว ส่วน แมนฯซิตี้ ต้องการเวลาเพื่อประเมินเบื้องต้นสำหรับสิ่งที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด รวมถึงเตรียมการแก้ต่าง ซึ่งเชื่อว่าจะกินเวลานานเป็นปีทีเดียว เพราะอย่างที่รายงานคือทำผิดช่วง 9 ปีคือปี 2009-2018 จากนั้นจนถึงตอนนี้ พรีเมียร์ลีก ใช้เวลารวบรวมหลักฐานและเอกสารนานถึง 4 ปีก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหา
สุดท้ายใครจะชนะ?
แน่นอนว่า แมนฯซิตี้ เคยชนะจากการอุทธรณ์ไปที่ศาลอนุญาโตตุลาการแล้ว ส่วนครั้งนี้ พรีเมียร์ลีก ย่อมมองว่ามีหลักฐานที่จะเอาผิด นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากสโมสรอื่นๆ บนเวที พรีเมียร์ลีก ที่ต้องการให้ปรับตกชั้น ขณะที่การริบแชมป์เป็นไปได้ยาก เพราะกฏของ พรีเมียร์ลีก ไม่มีการมอบแชมป์ให้กับทีมรองแชมป์โดยจะประกาศว่าในปีดังกล่าวไม่มีแชมป์แทน ขณะที่ "เรือใบสีฟ้า" จะจ้างทนายมือดีที่สุดเท่าที่จะหาได้เพื่อหาข้อหักล้างตรงนี้
ปิดท้ายไปดูการแถลงการณ์ของ แมนฯซิตี้ หลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า "เรารู้สึกประหลาดใจกับข้อกล่าวหาการละเมิดกฎของพรีเมียร์ลีก ตามเนื้อหารายละเอียดจำนวนมากที่เตรียมไว้ กระนั้นก็ตามสโมสรยินดีรับการพิจารณาเรื่องนี้ จากคณะกรรมาธิการอิสระ เพื่อพิจารณาอย่างเป็นกลาง ในเนื้อหาของหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ แน่นอนว่าจุดยืนของสโมสรคือให้ความร่วมมือและเราตั้งหน้าตั้งตารอให้เรื่องนี้ยุติลงโดยเร็ว"