xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “กองทุนกีฬา” ผู้สนับสนุนนักกีฬาไทยอย่างเป็นทางการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า รัฐบาลไทยได้มีการให้งบประมาณสนับสนุนกีฬาและนักกีฬาไทย เพื่อพัฒนามาตรฐาน ศักยภาพให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติในเวทีโลกได้ ผ่าน "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" (NSDF) หรือ “กองทุนกีฬา”

"กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" นี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 โดยมีจุดประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดพัฒนามาตรฐานการกีฬาของประเทศอย่างเป็นระบบ และเพื่อส่งเสริมและบำรุงขวัญกำลังใจให้กับทัพนักกีฬาไทย จนในที่สุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 คณะรัฐมนตรี ภายใต้การเสนอเรื่อง “การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น ก็ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนดังกล่าว ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

โดย "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ตามที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานชื่อกองทุน และก็ได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการแก้ไขและจัดทำ พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 โดยให้ "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" มีแหล่งรายได้หลักจากเงินภาษีสุราและยาสูบ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการโอน กองทุนสวัสดิการนักกีฬา และ กองทุนการศึกษาของนักกีฬา รวมทั้ง กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย ไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

ปัจจุบัน "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" มี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีสวัสดิการเพื่อสนับสนุนนักกีฬาหลากหลายด้าน รวม 9 ประเภทได้แก่ 1.การเก็บตัวฝึกซ้อม 2.การจ้างผู้ฝึกสอนกีฬา และผู้เชี่ยวชาญ 3.การส่งแข่งขันกีฬา 4.การจัดการแข่งขันกีฬา 5.การพัฒนาบุคลากรกีฬา 6.การพัฒนาสมาคมกีฬา 7.ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา 8.อุปกรณ์กีฬา และ 9.การส่งเสริมหรือการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกียวกับการพัฒนากีฬา

โดยล่าสุด "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" ได้ร่วมมือกับ "สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์" เปิดตัวโครงการ “Grow Together! ปฐมบทใหม่เพื่อฟุตบอลไทยสู่ความยั่งยืน” ภายใต้การควบคุมมาตรฐานของ "สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ" (FIFA) เพื่อการจัดวางโครงสร้างการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลเยาวชนทั้งระบบ ด้วยการสร้างและจัดเก็บฐานข้อมูล รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ พัฒนาหลักสูตรการอบรมผู้ฝึกสอนอคาเดมีฟุตบอล , ศักยภาพนักกีฬา และการจัดการแข่งขันลีกเยาวชน รวมทั้งทบทวนและวิเคราะห์เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงหลักสูตรภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

(Advertorial)


กำลังโหลดความคิดเห็น