“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคงยังไม่มีใครทราบว่าวงการกีฬาไทยเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งตัดงบประมาณไป 40 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความจำเป็นที่ประเทศต้องนำเงินไปใช้ในด้านของสาธารณสุข และด้านอื่นๆ ขณะที่ในด้านของกีฬาพอเราถูกตัดไป 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปีซ้อน ทำให้เป็นความยากลำบาก และบางครั้งไปพาดพิงถึงประเด็นเรื่องของการใช้สนามกีฬา
“ตัวอย่างที่ทีมชาติไทยเราแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 เราก็พยายามอธิบายว่า ทำไมเราถึงต้องให้เอกชนมาเช่นสนามราชมังคลากีฬาสถาน แต่เบื้องต้นเลยสนามกีฬามีไว้ใช้เตะฟุตบอล เราจะกางปฎิทินแข่งขันทั้งปีร่วมกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก่อนว่า สมาคมจะจองช่วงไหน เวลาไหน เราก็จะให้ลำดับความสำคัญก่อน แต่ถ้าช่วงไหนที่สมาคมไม่ได้แสดงความจำนงค์ ไม่ได้จองเอาไว้ เราจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้คนเช่า เพื่อหารายได้เข้ามา เนื่องจากว่าเงินแผ่นดินในการที่จะนำมาดูแลบริหารจัดการสนามมีไม่พอ”
ดร.ก้องศักด กล่าวอีกว่า เราจะต้องหาเงินมาเอง เพราะฉะนั้นเป็นภารกิจของ กกท.ในการบริหารจัดการกีฬาสถานต่างๆ โดยเราได้เห็นจุดอ่อนตรงนี้ว่าเราจะไปพึ่งงบประมาณแผ่นดินอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ก็คือ เราจะต้องกำจัดจุดอ่อนก็คือ เรื่องของการพึ่งพางบประมาณแผ่นดินอย่างเดียว ปีนี้เราจะมีแผนธุรกิจ หรือ Business Plan ในสนามกีฬาต่างๆ ทั้งส่วนกลางที่ กกท.หัวหมาก, มวกเหล็ก จ.สระบุรี, สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่, สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 จ.นครราชสีมา เราจะมีแผนในการสร้างความยั่งยืน ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาวงการกีฬาไทยให้ได้
“สำหรับงบบริหารจัดการสนามกีฬาถ้าจะให้ใช้จริงๆ คิดว่าเป็นจำนวนเงินพันล้านอยู่แล้ว เพราะว่าในการที่จะพัฒนาเนี่ย ถ้ามีพันล้านก็อาจจะไม่พอด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างสนามกีฬาที่อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เขาอัพเกรดสนามกีฬาแห่งชาติของเขา ซึ่งใช้เงินหลายพันล้าน หรือว่าสิงคโปร์ทุบแล้วสร้างขึ้นใหม่เลยนี่ก็จะเป็นหลักหมื่นล้าน ส่วนของเรามีแต่เงินพอที่จะไปซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ จะเห็นได้ว่าแต่ก่อนเรามีสนามกีฬาที่ทันสมัยมาก เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ตอนนี้พอเราไม่มีงบประมาณเข้าไปปรับปรุงแปลงโฉม กลายเป็นว่าเราหล่นลงมาอยู่ระดับกลาง ค่อนไปข้างล่างแล้วด้วยซ้ำ พอเราไปต่างประเทศในอาเซียน เราก็ไปชื่นชมเขา แต่เมื่อก่อนเขามาประเทศไทยเขาชื่นชมเรานะ แต่ตอนนี้กลายเป็นเราล้าหลัง นี่จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งในแผนงานเราจะใช้เงินภาคเอกชนเป็นหลักหมื่นล้าน”